Nokia วิเคราะห์ตลาดโทรคมนาคมไทย พบอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง 6 ด้าน ขณะที่ในภาพรวมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รอบตัว พบไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ – เกาหลีใต้ในการใช้งานเครือข่าย 5G เนื่องจากอีกสองประเทศที่กล่าวไปนั้นได้ก้าวข้ามไปถึงการพัฒนาระบบอัตโนมัติจากเครือข่าย 5G ได้สำเร็จแล้ว
การวิเคราะห์ภาพรวมตลาดไทยในวงการโทรคมนาคมดังกล่าวมีขึ้นในงาน Amplify Thailand โดยคุณอาร์เจย์ ชาร์มา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทยและกัมพูชา เผยถึงความเปลี่ยนแปลงทั้ง 6 ข้อที่กำลังเกิดขึ้น ดังนี้
- ตลาดโทรคมนาคมไทยนั้นอิ่มตัวแล้ว การสร้างรายได้ใหม่ จึงต้องมาจากการขยายผู้ใช้บริการไปสู่เทคโนโลยี 5G และการสร้าง Use Cases ใหม่ ๆ
- ตลาดไทยจะมีความน่าสนใจในกรณีที่ธุรกิจ องค์กรขนาดใหญ่ทำการทรานสฟอร์มตัวเองไปสู่ดิจิทัล
- การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้น ทั้ง True – dtac และ AIS – 3BB มีขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
- ตลาด Fixed Broadband กำลังเติบโต
- ธุรกิจ Data Center และ Cloud เริ่มมีการลงทุนอย่างมากในประเทศไทย
- จะมีการนำระบบ Analytics – Automation เข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเครือข่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ ในมุมของการใช้งาน ข้อมูลจาก Nokia ระบุว่า ประเทศไทยยังคงใช้เครือข่าย 5G ในระดับ Gen 4 ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ 5G ไปกับบริการด้านความบันเทิง เช่น การเล่นเกม การรับชมคอนเทนต์ 4K ฯลฯ เป็นหลัก
เปรียบเทียบไทย-สิงคโปร์-เกาหลีใต้ ใช้ 5G อย่างไร
ขณะที่คุณเทเรนซ์ แมคเคบ (Terence McCabe) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท โนเกีย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และประเทศญี่ปุ่น ได้มีการยกกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ในการใช้งานเครือข่าย 5G ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขของ Connected Cars และอุปกรณ์ Wearable ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในส่วนของ Connected Cars นั้นพบว่ามีแล้วถึง 7 ล้านคันจากรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด 20 ล้านคัน (ตัวเลขในไตรมาส 1 ปี 2023)
นอกจากนั้น ข้อมูลที่วิ่งบนเครือข่ายของเกาหลีใต้ยังเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบในช่วงปี 2017 – 2022 ด้วย
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ Nokia ระบุว่า การใช้งานเครือข่าย 5G ได้ยกระดับไปสู่ Gen 5 เรียบร้อยแล้ว (การใช้งานระดับ Gen 5 ในมุมของ Nokia คือการพัฒนาไปสู่ระบบออโตเมชั่น การใช้งานเครือข่าย Wi-Fi 6 การใช้งาน VR Cloud ฯลฯ เป็นต้น)
เมื่อโลกโทรคมนาคม เอ่ยถึง “ความเร็ว”
แน่นอนว่า ในมุมผู้ใช้งาน เรื่องของความเร็วในการรับส่งข้อมูลอาจเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งในมุมของ Nokia มองว่า จากวันนี้ถึงปี 2025 ความเร็วของเครือข่ายโทรคมนาคมจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับ 25G ก่อนจะถูกยกระดับครั้งใหญ่อีกครั้งไปสู่ความเร็วระดับ 50G – 100G ในช่วงปี 2030 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอาจต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานไปสู่เทคโนโลยีใหม่ และต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง
ผู้บริหาร Nokia ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในโลกยุคต่อไป ธุรกิจอาจต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงสูง รวมถึงปัญหาด้านสภาพแวดล้อม ซึ่งในมุมของ Nokia ได้มีการเตรียมการรองรับในส่วนนี้ เช่น
- การพัฒนาชิปเซ็ตของตนเอง เพื่อลดปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ และปัญหาด้านซัพพลายเชน
- การพัฒนาระบบหล่อเย็นให้กับอุปกรณ์เครือข่าย รวมถึงสร้าง Used Cases ในการใช้งานน้ำที่ได้จากการหล่อเย็น ซึ่งเป็นการตอบรับกระแส ESG ได้อีกทางหนึ่ง เพราะสามารถลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศในห้องเก็บเซิร์ฟเวอร์ลงได้
- การพัฒนาแพลตฟอร์มกลาง ในชื่อ One Platform ที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงอนุญาตให้อุปกรณ์เครือข่ายของคู่แข่งสามารถเชื่อมต่อเข้ามาในแพลตฟอร์มของ Nokia ได้ด้วย
ทั้งนี้ การวิเคราะห์และกรณีศึกษาจาก Nokia อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการอยู่อย่างยืดหยุ่นในยุคที่โลกกำลังสั่นไหวอย่างหนักที่องค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้ก็เป็นได้