การระบาดของโควิดผ่านพ้นไป “ธุรกิจร้านอาหาร” เริ่มส่งสัญญาณบวกมากขึ้น หลายเซกเมนต์เริ่มกลับมาทำตลาดอีกครั้ง ทว่า Landscape ของการแข่งขันกลับเปลี่ยนแปลงไป อาหารสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นจากกระแสดูแลสุขภาพที่มาแรง จนตลาดรวมอาหารสุขภาพในปี 2022-2023 มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 50%
ความนิยมในอาหารสุขภาพตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ร้านอาหารสุขภาพในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (กลุ่มเชนร้านอาหารสุขภาพ) จากในยุคแรกที่มีไม่ถึง 5 แบรนด์ ปัจจุบันมีมากกว่า 20 แบรนด์ในตลาดรวม ซึ่งแต่ละรายเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเหตุผลที่เติบโตมากถึง 50% เพราะช่วงโควิดคนหันกลับมาดูเรื่องสุขภาพมากขึ้น และการ WFH ทำให้คนมีเวลาเสพข้อมูล ศึกษาการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้ทุกคนตระหนักถึงอาหารสุขภาพมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยให้ตลาดอาหารในกลุ่มนี้มีการเติบโตแซงหน้าหลายเซกเมนต์
Dkivery ยอดตก 100% สวนทางตลาดอาหารสุขภาพ
แม้ภาพรวมอาหารสุขภาพจะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่า 50% แต่ทว่าอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่เข้ามีผลต่อการเติบโต คือเรื่องของ “บริการดีลิเวอรี่” ที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป
ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.6% จากปี 2565 ขณะที่ปริมาณการสั่งอาหาร ลดลงจากปีก่อน 11.3% เนื่องจากปรับเปลี่ยนมานั่งทานนอกบ้าน ซื้ออาหารกลับไปทานหรือทำเองที่บ้านมากขึ้น รวมถึงไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการสั่งอาหาร และกลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (42%) มองว่าน่าจะใช้บริการเท่าเดิม ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช้บริการเลย คิดเป็น 8% และกลุ่มที่ใช้งานมากขึ้น คิดเป็น 6%
คุณปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้บริหารร้านสลัดแฟคทอรี่ ในเครือซีอาร์จี กล่าวว่า “ยอดขายดีลิเวอรี่หดตัวลงจากช่วงโควิดเป็นอย่างมากกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1 ถึง 2 ที่ผ่านมา ที่ลดลงเกือบ 100% จากช่วง 2-3 ปีที่ก่อน ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป หันไปทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ขณะเดียวก็นิยมทำอาหารรับประทานเอง ทำให้ใช้บริการน้อยลง นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราต้องปรับตัวอีกครั้ง”
นั่นทำให้หลายร้านอาหารต่างเร่งปรับเกมใหม่ เพื่อรองรับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในส่วนของ “สลัดแฟคทอรี่” แม้ที่ผ่านมาจะยอมรับว่าการระบาดของโควิดทำให้ดีลิเวอรี่เติบโตแบบก้าวกระโดด บวกกับเทรนด์สุขภาพที่มาแรงก็ทำให้แบรนด์ได้รับอานิงสงส์ตามไปด้วย แต่เมื่อปัจจัยด้านช่องทางการจำหน่ายเปลี่ยนไปลงไป แบรนด์ก็ต้องปรับตัวอีกครั้งใหญ่
“สลัดแฟคทอรี่” ลุยขยายสาขาไซซ์ใหญ่-เพิ่มเมนูพร้อมทาน สร้าง New S Curve การเติบโต
ปัจจัยข้างต้น ทำให้ “สลัดแฟคทอรี่” วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานภายใต้แผน 5 ปี (2565-2569) ในการขยายธุรกิจด้วยการสร้าง New S-Curve เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่แบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโมเดล รวมไปถึงช่องทางใหม่ๆ หรือการร่วมกับพันธมิตรธุรกิจในการขยายตลาดต่างๆ
คุณปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนการงานของสลัดแฟคทอรี่ จากนี้ไปจะขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล เฉลี่ย 8-9 สาขาต่อปี จากปัจจุบันมีอยู่ 34 สาขา โดยทั้งหมดจะเป็นการนำโมเดลไซซ์ใหญ่ที่มีพื้นที่ราว 150 ตร.ม.ขึ้นไป จากช่วงโควิดที่ผ่านมาที่เน้นโมเดลไซซ์เล็กเพื่อตอบสนองการให้บริการแบบดีลิเวอรี่ ที่มีพื้นที่ 40 ตร.ม เนื่องจากภาพรวมตลาด Dine-in กลับมาเติบโตแล้ว 100% ขณะที่ช่องทางดีลิเวอรี่ลดลง 40-50% จากปี 2021 ขณะที่ในปีที่ผ่านมาก็ลดลงเกือบ 100% แล้ว
โดยในครึ่งปีหลังนี้ (2566) จะมีการขยายสาขาเฉพาะในกรุงเทพ ปริมณฑล ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในโลเคชั่นที่เป็น Blue Ocean นอกจากนี้ยังมีแผนพิจารณาการเปิดสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มเติม เช่น นครปฐม นครสวรรค์ พัทยา ชลบุรี หลังต้นปีที่ผ่านมาได้มีการไปเปิดสาขาที่พัทยา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนเป็นที่มาของกลยุทธ์ที่จะเน้นขยายสาขาต่างจังหวัดเยอะมากขึ้น
“แผนงานจากนี้สลัดแฟคทอรี่จะตอบโจทย์ความสะดวกสบาย โดยจะนำกลยุทธ์ไซซ์ซิ่งกลับมาอีกครั้ง หลังจากช่วงโควิดที่มีการทำไซซ์เล็กลง เพื่อรับมือช่วงโควิด มีการขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตหลังโควิด และทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหาหารสุขภาพและทานได้ทุกวัน สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า มากกว่าการทานอาหารเพียงอย่างเดียว ด้วยการสื่อสารเรื่องราว สตอรี่ที่มาของอาหารในการรองรับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น”
ทั้งนี้เพื่อรองรับปัจจุบันกลุ่มคนที่ทานอาหารสุขภาพ 3 กลุ่มหลัก ประกอบไปด้วย
- กลุ่มครอบครัว มองหาการเข้าถึงง่าย ความอร่อย เมนูที่หลากหลาย คุณภาพอาหารที่ดี
- กลุ่มที่เน้นฟังก์ชันนอล เน้นความเป็นสุขภาพและประโยชน์จากอาหารที่รับประทาน เช่น กลุ่มคนลดน้ำหนัก เพิ่มกล้ามเนื้อ
- กลุ่มคนเมือง ที่มีชีวิตเร่งรีบ และเวลาน้อยลง แต่อยากอาหารที่ดีในการรับประทาน
“เพิ่มผลิตภัณฑ์นอกร้าน-ผนึกพันธมิตร” ขยายช่องทางจำหน่ายใหม่
อีกหนึ่งกลยุทธ์การทำตลาดแบบค้าปลีกของ “สลัดแฟคทอรี่” ภายใต้แผนงานใหม่ คือการขายผลิตภัณฑ์นอกร้าน (กลุ่มผลิตภัณฑ์พร้อมทาน) ผ่านโมเดล Fresh and Easy เป็นลักษณะบาร์จำหน่ายสลัดแบบสดๆและนำ้สัดสลัด ในท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขาที่เซ็นทรัลชิดลม และเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ และโมเดลสินค้าพร้อมทาน จำหน่ายที่ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 สาขา
อีกทั้งยังมีการร่วมมือกับพันธมิตรหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นด้วย เช่นล่าสุดได้ร่วมมือกับ บริษัท ธรรมชาติ ซีฟู้ด รีเทล จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่ายอาหารทะเลซีฟู้ด จัด “Taste of New Zealand” ครั้งนี้ ด้วยการนำเข้าปลาคิงคลิป (Kingklip) และ ปลาโฮกิ (Hoki) จากประเทศนิวซีแลนด์ ที่เป็นที่นิยมอย่างสูง ทั้งในกลุ่มเชฟจากร้านอาหารชั้นนำและด้วยประเทศนิวซีแลนด์ มีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ ความสด และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ได้มาจากแหล่งประมงยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล มาผสมผสานกับเมนูสุขภาพที่สร้างสรรค์จากการร่วมมือของหลากหลายพาร์ทเนอร์ ที่มาร่วมกันในแคมเปญนี้ ซึ่งปลา จาก ธรรมชาติซีฟู้ด และกีวี่ จาก เซสปรีกีวี นับเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นตัวแทนของนิวซีแลนด์ได้เป็นอย่างดี ผ่าน 6 เมนูพิเศษที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ
ทั้งหมดเพื่อปั้นให้แบรนด์ “สลัดแฟคทอรี่” สามารถตอบโจทย์การรับประทานของลูกค้ายุคใหม่ โดยวางเป้าหมายรายได้ในสิ้นปีนี้เติบโต 70% มีรายได้รวม 600 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทได้ในช่วง 5 ปีนับจากนี้