LINE ประเทศไทย ประกาศวิสัยทัศน์ จะเป็น Open Platform เพื่อคนไทย – ธุรกิจไทย ให้สามารถพัฒนาปลั๊กอิน หรือส่วนต่อเชื่อมต่าง ๆ เข้ามายังแพลตฟอร์มได้ บริการจัดการข้อมูลลูกค้า – โฆษณาได้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาโซลูชันสำหรับการทำงานให้กับ Group Chat เพื่อเจาะตลาดองค์กรเพิ่ม เช่น การเพิ่มโฟลเดอร์ – ความสามารถในการเก็บไฟล์ – การจัดการนัดหมาย
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นภายในงาน LINE Conference Thailand 2023 ที่ผู้บริหาร LINE อย่าง ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย และคุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ได้เผยถึงสถิติการใช้งานแพลตฟอร์ม LINE ในปัจจุบันของคนไทย ว่ามีความน่าสนใจดังนี้
- LINE เปิดตัวในประเทศไทยมาแล้ว 12 ปี ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 54 ล้านคน
- บริการที่มีการใช้งานมากที่สุดของ LINE ก็คือ Group Chat โดยเติบโตขึ้น 56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
- การส่งไฟล์ รูปภาพ ข้อความเสียง วิดีโอของผู้ใช้งานในไทย ถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ LINE ให้บริการมาก
เปิดความยิ่งใหญ่ “LINE Group Chat”
เชื่อว่าผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ต่างคุ้นเคยกับ LINE Group Chat เป็นอย่างดี แต่หากมองในภาพระดับประเทศ ต้องยอมรับว่า LINE Group Chat ยิ่งใหญ่ไม่น้อย เห็นได้จากสิ่งที่ LINE ประเทศไทย เปิดเผยออกมาว่า
การใช้งาน Group Chat ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 หมวดใหญ่ ๆ นั่นคือ
- ใช้ด้านการเรียน – สถานศึกษา 27%
- ใช้ในด้านการทำงาน 77%
- ใช้ในครอบครัว 80%
- ใช้สื่อสารระหว่างเพื่อน 82%
ผู้ที่อยู่ใน Group Chat พบว่ามีทุกเจเนอเรชั่น ได้แก่
- ช่วงอายุ 15- 19 ปี 45%
- ช่วงอายุ 20 – 29 ปี 31%
- ช่วงอายุ 30 – 39 ปี 32%
- ช่วงอายุ 40 – 44 ปี 33%
- ช่วงอายุ 45 – 49 ปี 34%
- ช่วงอายุ 50+ ปี 37%
ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับลูกหลาน จะมีปฏิสัมพันธ์กับ Group Chat ในครอบครัวมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยกับลูกหลาน ราว 24% นอกจากนั้น ค่าเฉลี่ยของผู้ใช้งาน LINE พบว่า จะมี 5 Group Chat สำหรับการเรียน 9 Group Chat สำหรับการทำงาน 4 Group Chat สำหรับครอบครัว และ 7 Group Chat สำหรับเพื่อน โดยกลุ่มคนทำงาน หรือ Digital Worker เป็นกลุ่มที่แอคทีฟสูงสุดใน Group Chat นั่นคือ 83% ของคนกลุ่มนี้ มีปฏิสัมพันธ์กับ Group Chat ทุกวัน
พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ตอบโจทย์คนชอบแชท
คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร กล่าวถึงการพัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติมให้กับ LINE Group Chat ในโรดแมปของบริษัทว่า ต้องการเน้นไปที่ฟีเจอร์ด้านการทำงาน เช่น การจัดเก็บไฟล์ การสร้างโฟลเดอร์ การนัดหมายในปฏิทิน ฯลฯ โดยอาจเป็นฟีเจอร์ที่องค์กรซื้อไปให้พนักงานใช้ (B2B2C)
นอกจากนั้น ยังมีการเปิดตัวบริการ Sticker Premium ที่คิดค่าบริการแบบ Subscription ทั้งแบบรายเดือนและรายปีออกมาให้ผู้ใช้งานได้นำไปใช้ใน Group Chat ได้สะดวกขึ้นด้วย โดยคุณนรสิทธิ์กล่าวถึงการคิดค่าบริการ Sticker Premium ที่เริ่มต้นที่ 69 บาทต่อเดือนว่า มาจากราคาของ Sticker ที่เริ่มต้น 65 บาทต่อชุด หากเพิ่มอีก 4 บาทก็ถือเป็นราคาที่หลายคนรับได้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการ Sticker Premium : ยุคแห่ง Subscription “LINE ประเทศไทย” เปิดตัว “Sticker Premium” ใช้ได้ไม่จำกัด เริ่มต้น 69 บาทต่อเดือน – Brand Buffet
เปิดวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแห่งปีครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย
ด้านคุณวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) กล่าวถึง Roadmap ของ LINE ประเทศไทยด้านเทคโนโลยีว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” ที่พร้อมเปิดรับการเชื่อมต่อกับหลากหลายเทคโนโลยีนำสมัย นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย ทั้งในด้านผู้ใช้งาน ธุรกิจ และพันธมิตร โดยอาศัยแนวคิดตั้งต้นจากทีมงาน LINE ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
- Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชั่นอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชั่นที่คิดค้นเพิ่มเติมโดย LINE เอง และระบบที่พาร์ทเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น
- Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง
- Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชั่นต่าง ๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน
- Privacy Focused การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างเคร่งครัด
ปู 3 โร้ดแมป ยกระดับเทคโนโลยี
คุณวีระยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า LINE จะมีการเพิ่ม Customer Data Tools เพื่อให้แบรนด์สามารถเพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย ภายใต้ขอบเขตการยินยอมจากผู้บริโภคตามกฎหมาย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SME) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ
นอกจากนั้น ในส่วนของโฆษณาบน LINE ก็จะมีการปรับปรุงด้วยเช่นกัน โดยจะสามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น
ส่วนสุดท้ายคือการพัฒนา API & Plug-In ด้วยการเปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชั่นสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชั่นใหม่ ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชั่นให้ตรงกับความต้องการ โดยภาพทั้งหมดนี้จะได้เห็นอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2023 – 2027 นั่นเอง