MFEC เปิดภาพรวมวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ พบความท้าทายเพิ่มสูง โดยเฉพาะการมาถึงของ Generative AI ที่แฮกเกอร์ใช้เพิ่มโอกาสในการหลอกลวงประชาชน – โจมตีภาคองค์กรได้ง่ายขึ้น พร้อมเปิดอินไซต์องค์กรไทย พบปัญหาเศรษฐกิจส่งผลต่อการลงทุนด้านความปลอดภัย โดยปัจจุบันมีเพียงสามเซกเตอร์ใหญ่ของไทยที่ยังพร้อมลงทุนเพิ่ม ได้แก่ “สถาบันการเงิน-พลังงาน-เทเลคอม” ขณะที่ธุรกิจอื่นแม้จะให้ความสำคัญกับประเด็นไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แต่อาจมีความพร้อมด้านงบประมาณลดลง
ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ขององค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยที่กล่าวข้างต้นเป็นการเปิดเผยจาก คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งภายใต้ความเสี่ยงเหล่านั้น MFEC ยังพบว่า การรับมือกับภัยไซเบอร์ซีเคียวริตี้ขององค์กรไทยมีปัญหาอีกหลาย ๆ ด้านซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความซ้ำซ้อนภายในองค์กร เช่น การซื้อเครื่องมือบางอย่างมาแล้วไม่ได้ใช้ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานของระบบ หรือการมีขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้ระบบเกิดความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้โดยง่าย โดยคุณศิริวัฒน์เผยว่า หน่วยงานภาครัฐอาจเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มักตกเป็นเป้าของแฮกเกอร์ในการลอบขโมยข้อมูลคนป่วยอยู่บ่อยครั้ง
ด้านคุณดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมด้วยว่า เงินลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของลูกค้าลดลง แต่ความเสี่ยงในการถูกโจมตีมีมากกว่าเดิม
กลยุทธ์ O3 ตอบโจทย์ตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไทย
ทั้งนี้ สิ่งที่คุณดำรงศักดิ์ ในฐานะผู้บริหาร MFEC และผู้คร่ำหวอดในวงการไซเบอร์ซีเคียวริตี้มองว่าจำเป็นต่อสิ่งที่ภาคธุรกิจ – หน่วยงานภาครัฐต้องการจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยสังเกตการณ์ภาพรวม (Observability), เครื่องมือที่สามารถสั่งการระบบต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกันได้ (Orchestrator) และเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (Optimization) หรือที่บริษัทตั้งชื่อไว้ว่า กลยุทธ์ O3 และจะใช้เป็นกลยุทธ์ในการบุกตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในปีนี้
สำหรับการทำงานของ O ทั้งสามตัวนั้น คุณดำรงศักดิ์ให้รายละเอียดว่า
Observability – ทำหน้าที่เหมือนผู้ช่วยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและติดตามหาหลักฐานของผู้โจมตีเพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์
Orchestrator – ทำหน้าที่เหมือนวาทยากร คอยควบคุมการทำงานของ Software ที่มีความหลากหลายให้ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติ ช่วยให้องค์กรสามารถกำกับและมองภาพรวมที่สามารถเปิด-ปิดการป้องกันภัยคุกคามได้อย่างสะดวกขึ้น
Optimization – เป็นการเข้าไปตรวจสอบหาซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้ใช้งาน หรือช่องโหว่ของระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่บานปลาย
“กลยุทธ์โซลูชัน O3 เริ่มจากพื้นฐานประสบการณ์ของ MFEC และพันธมิตรคู่ค้าที่แข็งแกร่งกว่า 40 ราย ผนวกกับข้อมูลปัญหาและโซลูชันจากลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เป็นต้น นำมาบูรณาการและวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง” คุณดำรงศักดิ์ กล่าว พร้อมเผยถึงเป้าที่บริษัทวางไว้ในปี 2566 ว่า ภาพรวมธุรกิจ MFEC จะมีรายได้เติบโตเกิน 15% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้ 5,453 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มไซเบอร์ซีเคียวริตี้ประมาณ 25% หรือคิดเป็นคาดการณ์รายได้ที่ 1,500 ล้านบาท