หลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศไว้ว่า “จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย” เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน นับจากวันนี้เป็นต้นไป
วันที่ 4 กันยายน 2566 ถือเป็นการเริ่มต้นทำงานของรัฐบาลพรรคร่วม 11 พรรค ที่มี “เพื่อไทย” เป็นแกนนำ ที่ไม่ใช่แค่มาด้วยต้นทุนที่สูง แต่เป็นการเทหมดหน้าตักในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
ในงานเสวนา Thairath Forum 2023 คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” ทั้งหลักการทำงานจากประสบการณ์ภารเอกชน นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายจีดีพีเติบโต 5% การจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ สรุปได้ดังนี้
หลักการทำงานเอกชน vs ภาครัฐ
– หลังรับตำแหน่ง 1 สัปดาห์ คุณเศรษฐา ย้ำว่า “ไม่มีสิทธิเหนื่อย ตำแหน่งนายกฯ มีหน้าที่และภารกิจต้องทำงาน”
– ตั้งแต่รับตำแหน่งนายกฯ เข้าทำเนียบรัฐบาลได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ในห้องทำงานเพียง 10 วินาทีเท่านั้น เพราะการทำงานไม่ได้นั่งในห้อง เดินไปตามโต๊ะทีมงาน เพื่อรับฟังปัญหากับทุกภาคส่วน ประสานงานร่วมกัน ต้องการเป็นรัฐบาลที่เข้าถึงได้ โดยวางแผนให้คณะที่ปรึกษานายกฯ ใช้บ้านพิษณุโลก เป็นสถานที่ทำงานร่วมกัน (ยุคที่ทำงานเอกชน คุณเศรษฐา บอกว่าไม่ได้นั่งห้องทำงานเช่นกัน แต่มานั่งทำงานกับทีม)
– หลังจากนี้ จะไปนอนที่ทำเนียบรัฐบาล สัปดาห์ละ 3-4 วัน เพราะปัจจุบันบ้านมีพื้นที่ 197 ตารางวา เมื่อเป็นนายกฯ ต้องมีการรักษาความปลอดภัยที่บ้าน จึงเกรงใจเพื่อนบ้าน และใช้เวลาเดินทางนาน จึงไม่อยากเป็นภาระให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัย และทำงานได้เร็วขึ้น
– หากดูสไตล์การทำงานเอกชนที่ผ่านมา “เป็นคนทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว เอกชนมีหน่วยงานน้อยกว่าจึงกระชับ” แต่การทำงานภาครัฐ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องมองให้กว้าง
– การทำงาน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอมรับว่า “บางเรื่องพูดเร็วเกินไป ตัดสินใจเร็วเกินไป ต้องไตร่ตรองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ถือเป็นบทเรียนต้องเรียนรู้ต่อไป ยังเป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวทำงาน”
– หลักการทำงานภาคเอกชนที่จะนำมาปรับใช้กับภาครัฐ คือ การแก้ปัญหาประชาชน เรื่องใหญ่ๆ อย่างปากท้อง เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ต้องทยอยทำก่อน (ไม่ต้องรอให้ครบทุกมิติ เพราะใช้เวลานาน) บางอย่างทำได้ ก็ทำก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระ เช่น การลดค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล จะทยอยคลอดนโยบายออกมาเรื่อย ๆ
– พบว่าภาครัฐมีความสามารถตอบรับผู้นำได้ดี ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เช่น นโยบาย Free Visa เริ่มวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ต้องเร่งทำงาน เพราะกำลังจะเข้าช่วงไฮซีซัน นักท่องเที่ยวต้องวางแผนเดินทาง ภาคเอกชน สายการบิน ต้องเตรียมเพิ่มเที่ยวบินรองรับด้วย การทำฟรีวีซ่าในตลาดจีน เฉพาะไตรมาส 4 ปีนี้ น่าจะได้เม็ดเงินราว 35,000 ล้านบาท จากการท่องเที่ยวยังไม่รวมอื่นๆ ทั้งการจับจ่าย ของที่ระลึก
ต่อจิ๊กซอว์นโยบายเศรษฐกิจแจกเงินดิจิทัล
– ปัจจุบันภาพรวมเศรษฐกิจอยู่ในภาวะไม่มีหนัก จากค่าใช้จ่ายสูง เงินในกระเป๋าลดลง รัฐบาลจึงเริ่มจากการลดค่าใช้จ่ายประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ค่าไฟ ค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร (แต่ระยะกลางและยาว ต้องมีนโยบายแก้หนี้ สร้างรายได้ เพิ่มผลผลิต ให้ความรู้ เพิ่มทักษะ เพื่อแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรให้หมดไป)
– นโยบายเพิ่มรายได้ประชาชน กระตุ้นผ่านการแจกเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน เป็นเรื่องที่ทำแน่นอน ในไตรมาสแรกปี 2567 โดยเป็นการแจกผ่านบล็อกเชน จ่ายตรงจากรัฐบาลถึงประชาชน “ไม่มีตัวกลาง”
– การแจกเงินดิจิทัล เป็นการเพิ่มรายได้ระยะสั้นให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น กำหนดระยะเวลาใช้ 6 เดือน จะมีเม็ดเงิน 560,000 ล้านบาทเข้ามาจับจ่าย ภาคเอกชนก็ต้องเตรียมพร้อมเพิ่มคน เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อมารองรับกำลังซื้อ อีกมุมของภาคเอกชน ห้าง ร้านค้าต่างๆ ก็อาจจะมีแคมเปญให้ท็อปอัพมูลค่าเพิ่มเข้ามาได้ด้วย เพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
– สำหรับงบประมาณที่จะมาแจกเงินดิจิทัล คาดว่าจะชัดเจนภายใน 10 วันจากนี้ เพราะเป็นรัฐบาลผสมต้องพูดคุยกับทุกพรรคการเมือง
จีดีพีต้องเติบโต 5% เป็นอย่างต่ำ
– นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ต้องการผลักดันจีดีพีให้เติบโตอย่างต่ำ 5% โดยต้องดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งจะใช้เวทีการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UN General Assembly (UNGA) ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายนนี้ ไปพบปะกับนักลงทุนต่างประเทศ บริษัทใหญ่ๆ เพื่อเชิญให้มาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งจะมีการพูดคุยเรื่องจับคู่ธุรกิจ (Business matching) กับนักลงทุนไทย
– การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ใช้จุดเด่น ทำเลที่ตั้งประเทศไทยศูนย์กลางอาเซียน ความพร้อมของสนามบิน-ท่าเรือ กฎหมายต่างๆ มีความสะดวกแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ที่สำคัญการใช้ชีวิตที่สะดวก จากการเป็น เวิลด์คลาส เฮลท์แคร์ มีโรงเรียนนานาชาติระดับโลกรองรับครอบครัวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในไทย
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเริ่ม ปี 67
– นโยบายพรรคเพื่อไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ในปี 2570 แต่หากเป็นระยะสั้นมาตรการเพิ่มรายได้ที่จะได้เห็นก่อน คือ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะประกาศค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ให้มีผลใช้ในเดือนมกราคม 2567 การทำงานจึงต้องเริ่มจากภาครัฐไปเปิดตลาด ดึงการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจก่อน เพื่อให้เอกชนมั่นใจในการหารายได้เพิ่มและจ่ายค่าแรง
– นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท (เมื่อไม่ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์) ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ภายใน 3 เดือนนี้เป็นเรื่องยากที่จะทำได้ทันที แต่ได้เริ่มทำงานงานแล้ว ทั้งปัญหาสะสมเรื่องค่าใช้จ่ายเอกชน การประมูลสายสีส้ม การใช้ตั๋วร่วมใบเดียว
– ประเด็นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ได้พูดคุยกับอธิบดีสรรพากรคนใหม่ ทั้งในเรื่องภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีมรดก ภาษีลดความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย ซึ่งภาษีมรดก เก็บได้ 200 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น โดยหลักการของภาษีคือ มีรายได้มาก็ต้องจ่ายภาษี ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากอะไร ในอัตราที่เหมาะสม ส่วนกรณีมีการลงทุนในต่างประเทศ ถ้านำเงินกลับเข้ามาต้องเสียภาษี เริ่มต้น 1 มกราคมนี้
ไม่ลืมสิ่งที่หาเสียงไว้ ไม่ลืมสิ่งที่พูดไว้ ผมเป็นนายกฯ ที่เพิ่งมารับตำแหน่ง ไม่ได้เป็นมา 4 ปี หรือ 8 ปี แล้ว จึงยังไม่รู้กระบวนการ งบประมาณ แต่จะเรียนรู้ เข้าใจระบบราชการให้เร็วที่สุด เพื่อทำงานร่วมกับราชการทุกภาคส่วน และจัดทำแผนต่างๆ ออกมา
การจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่
– พรรคเพื่อไทยเทหมดหน้าตักเป็นรัฐบาลในครั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่อง “คณิตศาสตร์พื้นฐาน” ที่ต้องการ 376 เสียง ในการเป็นรัฐบาลโหวตนายกฯ เมื่อเพื่อไทยทำตามสัญญาโหวตนายกฯ ให้พรรคก้าวไกล แต่ไม่ผ่าน สว.
– หลังจาก เพื่อไทยรับไม้ต่อจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องจับมือกับพรรคอื่น เพื่อให้ได้เสียง 376 เสียง และปัญหาประชาชนรอไม่ได้อีก 10 เดือน (รอให้ สว. หมดวาระ) เพราะจะไม่มีนโยบายออกมาบริหารประเทศออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพื่อไทยได้ 10 ล้านเสียง จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
“การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยและพรรคร่วม ไม่ได้ขอความเห็นใจ แต่หากเข้าใจเรื่องนี้จริง ก็มาจากคณิตศาสตร์พื้นฐาน”
จุดยืนส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่แล้ว พรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาล 2 พรรค (พลังประชารัฐและร่วมไทยสร้างชาติ) คนที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารไม่อยู่แล้ว เป็นการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ ต้องให้ประเทศเดินต่อ จะพูดว่าผมเป็น นายกส้มหล่น นายกตระบัดสัตย์ ก็พูดกันไป คิดว่าคนที่เข้าใจจริงๆ ก็น่าจะรู้ว่า คณิตศาสตร์พื้นฐานคืออะไร อย่างไรผมก็มีอีก 10 ล้านเสียงที่อยากให้เราเป็นรัฐบาล
สิ่งที่จะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ ผลงาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ได้ให้คำมั่นไว้ว่าจะเดินหน้าต่อ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศมีความสุข
“การสร้างความฝัน ความหวัง และแรงบันดาลใจให้คนในประเทศ เป็นหน้าที่ของผู้นำ เป็นภารกิจหลักที่ต้องทำและแสดงให้เห็นในช่วง 4 ปีของการเป็นรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนมีความหวัง หากไม่มีความหวังและแรงบันดาลใจ สิ่งนี้จะสะท้อนให้เห็นในคะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งต่อไป”
การเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหลังลงจากตำแหน่งนี้ “ไม่ได้อยากเขียนเรื่องราวของตัวเอง แต่อยากให้ประชาชนเป็นคนเขียนเรื่องราวของผมว่า ได้ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นอย่างไร ความแตกต่างของสังคม ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของคนต่างวัย ต่างความคิด เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีพูดจาด้อยค่ากัน โดยใช้วาทกรรมหยาบคาย เพื่อให้พูดคุยกันได้ด้วยสายตาที่ไม่เยาะเย้ย ถากถาง ไม่สร้างความเกลียดชัง และแตกแยก เป็นเรื่องที่อยากให้สังคมดีขึ้น เมื่อหมดวาระทำงาน”