ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตสูง แต่ “ธุรกิจขนส่งพัสดุ” กลับอยู่ในสงครามราคา มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สร้างเครือข่ายจัดส่งพัสดุเอง เข้ามาช่วงชิงตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิม ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” องค์กร 140 ปี ต้องเจอกับตัวเลขขาดทุน 3,000 ล้านบาทในปี 2565
หากดูผลประกอบการ ปี 2565 ธุรกิจขนส่งรายใหญ่ในตลาด ก็พบว่าอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือ “ขาดทุน” หลักพันล้าน ไม่ว่าจะเป็น Kerry ขาดทุน 2,829 ล้านบาท แฟลช เอ็กซ์เพลส ขาดทุน 2,190 ล้านบาท
สาเหตุหลักมาจากธุรกิจขนส่งต้องมีเครือข่ายทั่วประเทศ จึงมีต้นทุนขนส่งหลักหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ปี 2565 หลังสถานการณ์โควิด ยอดสั่งซื้อผ่านออนไลน์ลดลงทั้งจำนวนชิ้นและยอดซื้อต่อครั้ง เพราะผู้บริโภคออกไปใช้ชีวิตปกติ ซื้อสินค้าจากช่องทางออฟไลน์มากขึ้น ขณะที่ “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในธุรกิจขนส่งยังเข้ามาต่อเนื่อง จึงมีการแย่งตลาดกันเอง โดยใช้ “สงครามราคา” แม้จะลดลงแต่ก็ยังมีอยู่
ย้อนดูผลประกอบการ “ไปรษณีย์ไทย” เบอร์หนึ่งในธุรกิจขนส่ง
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รายงานผลการดำเนินการไปรษณีย์ไทย 5 ปีย้อนหลังไว้ดังนี้
– ปี 2561 รายได้ 29,298 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,809 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไรสุทธิ 589 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 23,712 ล้านบาท กำไรสุทธิ 238 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท
หลังเจอตัวเลขขาดทุน 2 ปีต่อเนื่อง “ไปรษณีย์ไทย” เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร ลดบุคลากรจาก 42,000 คน เหลือ 38,000 คน รวมทั้งหาช่องทางเพิ่มรายได้ในกลุ่มขนส่งที่ยังเติบโต ทั้งขนส่งด่วน ขนส่งชิ้นใหญ่ ร่วมกับพันธมิตรทำบริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบรนด์ FUZE
โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวก จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2566
– ทำรายได้ 10,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลง 15% ทำให้ผลประกอบการกลับมา “กำไร” 158 ล้านบาท
– กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งพัสดุด่วน) มีชิ้นงานเพิ่มขึ้น 29% รายได้ในกลุ่มนี้เติบโต 22%
– ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายจุดบริการครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 30,000 แห่ง
ตั้งเป้า ปี 66 รายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าตัวเลขขาดทุน 3,000 ล้านในปี 2565 มาจากขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างบุคลากรทำให้ต้อง early retire มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 1,000 ล้านบาท
ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกแล้วจากภาพรวมธุรกิจไปรษณีย์ไทยช่วงครึ่งปีแรกเติบโตดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเห็นตัวเลข “กำไร” อีกครั้ง มาจากการปรับโครงสร้างตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย
โดยกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ครองสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 44.11% ตามด้วย กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60% กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35% กลุ่มบริการการเงินและบริการอื่นๆ 2.84% และรายได้อื่นๆ 1.06%
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ไปรษณีย์ไทยได้สนับสนุนการให้บริการพื้นฐาน เข้าถึงทุกพื้นที่ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นบทบาทของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องรับผิดชอบ
สำหรับแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง จะใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อให้ไปรษณีย์ไทยเป็น “มากกว่าการขนส่ง” โดยเฉพาะการก้าวสู่ Data Company จากการเป็น Information Logistics ที่มีข้อมูลแบบไร้ขีดจำกัด เช่น บริการ Prompt Post ที่จะทรานส์ฟอร์มเอกสารทุกรูปแบบสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ Digital Post ID การให้บริการในรูปแบบ Postman as a service ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ ความเข้าใจในทุกพื้นที่มาต่อยอดนำเสนอบริการที่ตรงใจ พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนพี่ไปรฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ
ปัจจุบัน Post Family ระบบสมาชิกของไปรษณีย์ไทย ที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มีฐานสมาชิกกว่า 600,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้ครบ 1,000,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีลอยัลตี้กับแบรนด์ จึงไม่อ่อนไหวกับกลยุทธ์ราคาในตลาด ขณะที่ลูกค้าทั่วไปที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยมีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ในแต่ละวันไปรษณีย์ไทยเข้าถึง 1 ครัวเรือนไทย
ปี 2566 ไปรษณีย์ไทยวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 22,000 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน เชื่อว่าครึ่งปีหลังยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง และเป็นปีที่ผลประกอบการ Turnaround
ครบรอบ 140 ปีกับกลยุทธ์ 1-4-0
ในโอกาส ไปรษณีย์ไทยครบรอบ 140 ปี จึงวางเป้าหมายขับเคลื่อนองค์กร ด้วยกลยุทธ์ 1-4-0 ดังนี้
1 คือ การเป็นที่หนึ่งเรื่องคุณภาพ พร้อมส่งมอบคุณค่าด้วยบริการที่มีคุณภาพเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้บริการส่งพัสดุแตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า ทั้งสินค้าทั่วไป ผลไม้ ของสด
4 คือ เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางอากาศ ทางดิจิทัลครอบคลุมทั่วไทย ทั่วโลก ครบทุกไลฟ์สไตล์
0 คือ Zero Complaint ลดข้อร้องเรียนเป็นศูนย์ หรือแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด ” การให้บริการตลาดแมส ไม่ใช่ว่าไปรษณีย์ไทย ไม่มีข้อร้องเรียน แต่ได้วางแนวทาง จัดตั้งทีมงานดูแลเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาให้จบอย่างรวดเร็ว”
เราเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานใหม่ ให้บริการ 365 วัน ไม่มีวันหยุด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค เสนอบริการมากกว่าที่ลูกค้าคาดหวังและเป็นมากกว่าธุรกิจขนส่ง
ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล กรรมการและประธานคณะอนุกรรมการด้านกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดและการสื่อสาร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าปีนี้ที่ไปรษณีย์ไทยเดินทางมาถึงอายุ 140 ปี และอยู่ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงให้ความสำคัญกับการเป็น “แบรนด์” ที่ทุกคนเชื่อถือเมื่อนึกถึงบริการขนส่ง
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาจมีภาพจำว่าไปรษณีย์ไทยเป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน ไม่ทันสมัย ไปรษณีย์ไทยต้องทลายกำแพงภาพจำตรงนี้ไปให้ได้ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนนิวเจนให้มากขึ้น ทั้งในเชิงการสร้างฐานผู้บริโภคผ่านโครงการและแคมเปญต่าง ๆ พร้อมทั้งมองหาไอเดียใหม่ๆ และอินไซต์จากคนรุ่นใหม่ Gen Z มาปรับใช้และต่อยอดให้กับแบรนด์ให้ดูสดใสมากขึ้น เหมือนองค์กรอายุ 14 อีกครั้ง ทำให้องค์กรมีทั้ง “พี่ไปรฯ” และ “น้องไปรฯ” ร่วมกันทำงาน
“การทำตลาดจะให้ความสำคัญกับการครองใจผู้ใช้บริการ เป็นเพื่อนสนิทที่พร้อมเดินเคียงข้างคนไทยในทุกเส้นทาง ที่ส่งมอบทั้งความสัมพันธ์และความสำเร็จ อีกทั้งยังรู้จริง รู้ใจ ผู้ใช้บริการทุกคน ด้วยแนวคิด ส่งทุกความสัมพันธ์ สู่ทุกความสำเร็จ”
ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเน้นความเป็น Top of Mind ที่คนไทยจะนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นการมีบริการที่ออกแบบมาเฉพาะและน่าจดจำสำหรับคนทุกเจเนอเรชัน ความเชื่อใจกับคุณภาพที่สัมผัสได้จริง การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากการสื่อสารและการขนส่งแล้ว ยังเป็นแบรนด์ที่ช่วยแนะแนวทางและนำพาธุรกิจต่างๆ ไปสู่ตลาดที่เหมาะสม เป็นแบรนด์ที่พร้อมก้าวไปกับโลกอนาคตทุกยุค ทุกสมัย