HomePR Newsมหกรรมหนังสือฯ ปี 66 สะพัด 400 ล้าน ‘แพทองธาร’ หนุน Soft Power สร้างชื่อระดับโลก  

มหกรรมหนังสือฯ ปี 66 สะพัด 400 ล้าน ‘แพทองธาร’ หนุน Soft Power สร้างชื่อระดับโลก  

แชร์ :

เป็นประจำทุกปีกับการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ หรือ Book Expo  ในช่วงไตรมาสสุดท้าย  ปีนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร่วมกับพันธมิตร Book Expo Thailand 2023 ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2566 รวม 12 วัน ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

งาน Book Expo ปีนี้ คุณแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยกล่าวว่าคงจะไม่ยากที่จะผลักดันมหกรรมหนังสือให้มีชื่อเสียงหรือดังระดับโลกได้ เพราะการอ่านหนังสือเป็นต้นทางและแรงบันดาลใจของความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือ การเขียนเพลง การเขียนเนื้อเรื่องและกำกับภาพยนตร์ มาจากการอ่านหนังสือทั้งสิ้น

อย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Soft Power พบว่าอุตสาหกรรมหนังสือมีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือเพลงรวมกัน  จึงต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสืออย่างเต็มที่

ในอนาคตหากองค์กร THACCA  ที่จะทำหน้าที่ดูแล Soft Power อย่างเป็นระบบครบวงจร จัดตั้งสำเร็จ ก็อยากจะปักหมุดประเทศไทย ว่าจะต้องมีการโชว์หนังสือของไทยให้ดังไปทั่วโลก และความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ได้มาจากหนังสือจะไม่อยู่แค่ในหนังสือ แต่จะขึ้นมากมายในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยมีหนังสือเป็นพื้นฐานหรือเป็นจุดเริ่มต้น

“ขอร่วมรณรงค์ให้ทุกคนได้ให้ของขวัญเป็นหนังสือ มอบให้กันและกัน มอบให้คนที่เรารัก มอบให้คนที่เราหวังดี หรือมอบเพื่อแทนคำขอบคุณต่างๆ จากคนที่เราได้พบเจอในทุกๆ วัน หนังสือราคาไม่ได้สูงมากจนเกินไป และก็สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราเก็บอย่างดี หนังสือก็จะมีค่าไปอีกหลายสิบปี”

มหกรรมหนังสือฯ ปี 66 สะพัด 400 ล้าน

คุณสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่าการจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ปี 2566 ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ครั้งนี้ จัดขึ้นบนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “Book Dreams” หนังสือในฝันที่ทุกคนตามหา

ปีนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี เห็นได้จากผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ต่างๆ สนใจร่วมออกบูธจำนวนกว่า 930 บูธ จากสำนักพิมพ์ชั้นนำ 340 ราย เต็มความจุ 3 ฮอลล์ใหญ่ มีหนังสือให้เลือกซื้อกว่า 1 ล้านเล่ม ทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน, นิยายและวรรณกรรม, การ์ตูน, How to  รวมถึงหนังสือสายมูเตลู เป็นต้น และภายในงานได้เปิดตัวหนังสือใหม่กว่า 3,000 ปก ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

คาดว่าการจัดงานวันที่ 12 – 23 ตุลาคม 2566 รวม 12 วัน จะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 20% และมีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 20% เช่นกัน 

การสนับสนุนจากภาครัฐที่กำหนดให้ “หนังสือ” เป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าอุตสาหกรรมหนังสือจะกลับมาคึกคักได้ จากนโยบายต่างๆ

– การขยายห้องสมุดทั่วประเทศ : เป็นการพัฒนาห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ถ้วนหน้า

– การตั้งกองทุนพัฒนาหนังสือ : สนับสนุนนักเขียน  นักแปล สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย

– การส่งเสริมลิขสิทธิ์หนังสือไทยสู่สายตาทั่วโลก : สนับสนุนทุนการแปลหนังสือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออกหนังสือไทยสู่สายตาคนทั่วโลก ล้วนส่งเสริมให้หนังสือและผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“Soft Power จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าแม้ตลาด e-book จะเติบโตจากคนอ่านรุ่นใหม่  แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า ยอดผู้อ่านหนังสือกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เติบโตเช่นเดียวกัน ปัจจัยหลักมาจากเนื้อหาสาระ ความบันเทิงที่นำเสนอผ่านหนังสือ สามารถตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านคนรุ่นใหม่ได้”

สำหรับงานมหกรรมหนังสือฯ ปีนี้ โซนหนังสือที่น่าสนใจ 5 หมวดหมู่ ประกอบไปด้วย 1. หนังสือทั่วไป 2. นิยายและวรรณกรรม 3. หนังสือเด็กและ การศึกษา 4. การ์ตูนและวัยรุ่น (Book Wonderland) 5. หนังสือเก่า จากสำนักพิมพ์และร้านหนังสือชั้นนำ อาทิ ฟินิกส์, แจ่มใส, มติชน, นานมีบุ๊คส์, โอเพ่นดูเรียน, ร้านนายอินทร์, ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, ร้านบีทูเอส, ร้านเอเชียบุ๊คส์, ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นต้น

ปีนี้หนังสือที่คาดว่าจะได้รับความนิยมอย่างสูง ได้แก่ นิยายและวรรณกรรม, การ์ตูน, How to อัพสกิล เสริมทักษะอาชีพ การบริหารจัดการ และกลยุทธ์ใหม่ๆ รวมถึงหนังสือสายมูเตลู ที่พบว่ามีผู้สนใจจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในหนังสือที่มียอดพิมพ์เติบโตสูงในอันดับต้นๆ

การจัดงานมหกรรมหนังสือฯ ปีนี้ วันจันทร์-วันพฤหัสบดี (วันที่ 12, 16, 17, 18, 19, 23 ตุลาคม 2566) เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 11.00 – 22.00 น. และวันศุกร์-วันอาทิตย์ (วันที่ 13, 14, 15, 20, 21, 22 ตุลาคม 2566)  เปิดให้เข้าชม 10.00 – 23.00 น.


แชร์ :

You may also like