HomeInsightเจาะอินไซต์ ‘แรงงานเมียนมา’ จับจ่าย-เก็บเงิน อย่างไร อีกโอกาสทองธุรกิจไทยทำตลาด ชิงกำลังซื้อ 6.8 ล้านคน

เจาะอินไซต์ ‘แรงงานเมียนมา’ จับจ่าย-เก็บเงิน อย่างไร อีกโอกาสทองธุรกิจไทยทำตลาด ชิงกำลังซื้อ 6.8 ล้านคน

แชร์ :

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

นอกจากกำลังซื้อประชากรไทย 66 ล้านคน อีกกลุ่มที่ไม่ควรมองข้าม คือ “แรงงานต่างชาติ” ในไทยมีกว่า 10.2 ล้านคน (รวมแรงงานผิดกฎหมาย) กลุ่มใหญ่สุดคือแรงงานสัญชาติ “เมียนมา” มีสัดส่วนสูงถึง 67% ราว 6.8 ล้านคน นับเป็นอีกขุมทรัพย์ที่แบรนด์ต่างๆ มีโอกาสเข้าไปทำตลาด สร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้

เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมชาวเมียนมาในไทย MI GROUP โดยหน่วยงาน MI BRIDGE ร่วมมือกับ MI Learn Lab จัดทำวิจัยล่าสุดเจาะลึกข้อมูลแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” สรุปได้ดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แรงงานเมียนมาสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี

– แรงงานเมียนมาในไทยจำนวน 6.8 ล้านคน คิดเป็น 10% ของประชากรไทย เป็นอีกกลุ่มกำลังซื้อมหาศาลให้กับภาคธุรกิจ ที่สามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของแรงงานกลุ่มนี้ได้

– อาชีพหลักๆ ที่เข้ามาทำงานไทย คือ โรงงาน 39% ก่อสร้าง 18% พนักงานขาย 15% เกษตกร 11% รับจ้างทั่วไป 9% โดยต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน และทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์

– รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน (สูงกว่าในเมียนมาเฉลี่ยที่ 1,000-5,000 บาทต่อเดือนหรือสูงกว่า 3 – 15 เท่า) นั่นทำให้แรงงานเมียนมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศไทยต่อปีอยู่ที่ 828,000 ล้านบาท – 1,242,000 ล้านบาท

เจาะอินไซต์พฤติกรรมแรงงานเมียนมา

– เป้าหมายของชาวเมียนมา 92% ตั้งใจเก็บเงินเพื่อกลับไปใช้ชีวิตที่เมียนมา เป้าหมายเพื่อปลูกบ้าน, ซื้อรถ และเริ่มต้นทำกิจการ เช่น ร้านอาหาร ค้าขาย โดยใช้ประสบการณ์การทำงานในไทยไปสร้างธุรกิจเอง

– วางแผนอยู่ในประเทศไทย 3-5 ปี สัดส่วน 24% แต่ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่กี่ปีสูงถึง 49% เพราะต้องการทำงานเก็บเงินไปเรื่อยๆ

– การใช้ชีวิตของแรงงานเมียนมา ใช้เวลาอยู่นอกที่พักเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน จึงมีเวลาว่างวันละ 2-3 ชั่วโมง (ช่วงก่อนเข้านอน) มักใช้เวลาว่างไปกับโซเชียล มีเดีย เพื่อหาความบันเทิง

– การใช้จ่ายของชาวเมียนมา คิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้ แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 37% (ซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภค), ค่าที่อยู่อาศัย 16%, ค่ามือถือใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยเดือนละ 200 บาท

– วันหยุดชาวเมียนมาจะจับจ่ายซื้อของใกล้บ้าน เช่น ตลาดสดใกล้บ้าน, ตลาดประตูน้ำ, จตุจักร, แพลตตินั่ม (ซื้อเสื้อผ้า)

– เล่นอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือ โดย 97% ดูละคร หนัง รายการต่างๆ ทางออนไลน์, 87% อ่านข่าว, 74% ซื้อสินค้าออนไลน์

– ใช้โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก 98% ยูทูบ 54% TikTok 40% LINE 26% เทเลแกรม 21%

– พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อติดต่อครอบครัว, ติดต่อเพื่อน/ที่ทำงาน, เสพความบันเทิง, ซื้อสินค้าออนไลน์ (Lazada 44% Facebook 39% Shopee 19% TikTok 7%)

ออมเงิน 44% ชอบซื้อทอง

– แรงงานเมียนมาในประเทศไทย มีเป้าหมายทำงานเพื่อเก็บเงิน จึงมีสัดส่วนการออมเงินสูงถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ (ขณะที่คนไทยออมเงิน 16% ของรายรับ) การออมเงินของชาวเมียนมา แบ่งเป็นเงินที่ส่งกลับบ้าน 2 ใน 3 หรือ 28% (ส่งเงินกลับบ้านผ่านนายหน้า) เพื่อดูแลครอบครัว, เก็บไว้ซื้อบ้าน,รถ และลงทุนกิจการในเมียนมา

– เก็บเงินออมไว้ที่ตัวเองเอง 1 ใน 3 หรือ 16% ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เก็บเป็นเงินสดและฝากธนาคาร 56% (32% เข้าถึง Mobile Banking)  นิยมซื้อทอง เฉลี่ย 16,000-80,000 บาท

โอกาสทองธุรกิจไทย

จากข้อมูลอินไซต์พฤติกรรมแรงงานเมียนมาดังกล่าว คุณวิชิต คุณคงคาพันธ์ Head of International Business Development MI GROUP สรุปการแบ่งช่วงการใช้ชีวิตแรงงานเมียนมาในไทยออกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก

1. ช่วงตั้งหลัก : เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย สิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการ คือ ซิมการ์ดมือถือ, ที่อยู่อาศัย,เครื่องแต่งกาย,ของใช้ส่วนตัว ช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มนี้คือ ป้ายโฆษณา,เฟซบุ๊ก, สื่อเคลื่อนที่ และนายหน้า

2. ช่วงตั้งตัว : ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการ คือ ใบอนุญาตทำงาน, บัญชีเงินฝาก, เครื่องใช้ไฟฟ้า (หม้อหุงข้าว,พัดลม) ,มือถือ (ราคาเฉลี่ย 4,000-13,000 บาท), เสื้อผ้าแฟชั่น สกินแคร์, สินค้าอุปโภคบริโภค, ทอง (ซื้อเฉลี่ย 16,000-80,000 บาท) ช่องทางสื่อสารกลุ่มนี้ คือ โซเชียมีเดีย, อีมาร์เก็ตเพลส, นายหน้า, ซื้อโฆษณาในซูเปอร์มาร์เก็ต, ป้ายโฆษณา, สื่อเคลื่อนที่

3. ช่วงตั้งใจ : เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา สิ่งที่กลุ่มนี้ต้องการ คือ ติดต่อกับครอบครัว, การส่งเงิน, การโอนเงินข้ามประเทศ, สินค้าประเภทยา อาหารเสริม,เครื่องแต่งกาย, ของอุปโภค, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ทอง ช่องทางสื่อสารกับกลุ่มนี้ คือ โซเชียลมีเดีย, อีมาร์เก็ตเพลส, สื่อในซูเปอร์มาร์เก็ต,ป้ายโฆษณา,สื่อเคลื่อนที่

เห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันไป รวมทั้งใช้สื่อเพื่อเข้าถึงแต่ละกลุ่ม (Media Touchpoint) แตกต่างกัน เห็นได้ว่า “เฟซบุ๊ก” เป็นช่องทางหลักทำทุกอย่าง ทั้งเสพความบันเทิง สื่อสาร และซื้อสินค้า

สินค้าและบริการหลักๆ ที่แรงงานเมียนมาต้องการ มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งซิมการ์ดมือถือ, บริการธนาคาร, Mobile Banking, สินค้าอุปโภคบริโภค, เครื่องใช้ไฟฟ้า

แรงงานเมียนมาถือเป็นกลุ่มกำลังซื้อขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสจะเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องการแรงงานกลุ่มนี้ อีกทั้งนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานเมียนมามีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสทองของธุรกิจไทยพัฒนาสินค้าและบริการรองรับแรงงานเมียนมาที่มีโอกาสเป็นลูกค้ามากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ได้มากขึ้น


แชร์ :

You may also like