เกิดอะไรกับ Flash Coffee เชนกาแฟแบบ Grab and Go ที่เพิ่งประกาศเป้าหมายว่าจะทำกำไรให้ได้ในปี 2024 เพราะในวันนี้ Flash Coffee ได้ตัดสินใจปิด 11 สาขาในสิงคโปร์แล้วอย่างเป็นทางการ ส่วนพนักงานที่ประจำอยู่ในสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์นั้น ทางบริษัทชี้แจงว่าจะโยกย้ายไปทำงานในประเทศอื่น หรือไม่ก็กลับเข้าทำงานกับทีมในระดับภูมิภาคต่อไป ท่ามกลางกระแสข่าวว่า บริษัทยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนล่าสุด และกำลังเกิดการประท้วงในหมู่พนักงานด้วย
หนึ่งในสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับ Flash Coffee ในฐานะเชนกาแฟที่นิยามตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพก็คือ การปรับตัวของราคาค่าเช่าในสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้คนไม่ได้กลับมาในระดับที่เคยเป็นก่อนการระบาด Covid-19 โดยข้อมูลจาก Urban Redevelopment Authority ระบุว่า ค่าเช่าในพื้นที่สำคัญของสิงคโปร์ เช่น ย่าน Orchard, Cairnhill, River Valley เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีนี้
แต่ปัจจัยด้านค่าเช่าอาจไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่ทำให้ Flash Coffee ปิดสาขาในสิงคโปร์ เพราะเกาะฮ่องกงก็มีร้านของ Flash Coffee เช่นกัน และฮ่องกงก็มีการปรับอัตราค่าเช่าที่ที่พุ่งแรงกว่าสิงคโปร์พอสมควร โดยข้อมูลจาก Spacious.hk ระบุว่า ในย่านโซโห ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของฮ่องกง มีการปรับตัวด้านค่าเช่าเพิ่มขึ้นถึง 5.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีนี้ แต่ Flash Coffee ในฮ่องกงยังไม่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดสาขาแต่อย่างใด
ย้อนอดีตการเติบโตของ Flash Coffee ก่อนเผชิญ “ภาระหนี้”
อีกหนึ่งความเป็นไปได้ก็คือ ภาระหนี้ที่สูงมากของ Flash Coffee โดยข้อมูลจากสื่อสิงคโปร์อย่าง Business Times ระบุว่า Flash Coffee เป็นหนี้มากกว่า 14 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และมีเจ้าหนี้มากกว่า 150 ราย ซึ่ง Business Times ระบุด้วยว่า Flash Coffee ยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนล่าสุดให้กับพนักงานในสิงคโปร์ด้วย
ทั้งนี้ หากย้อนไปในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงรุกตลาดของ Flash Coffee บริษัทอ้างว่า สามารถเปิดตัวเอาท์เล็ตได้ 3 แห่งต่อสัปดาห์ และในช่วงพีค พวกเขามีร้านเอาท์เล็ตให้บริการมากถึง 250 แห่ง รวมถึงมีพนักงานมากถึง 1,400 คนในภูมิภาคเอเชีย ในส่วนของรายได้ ช่วงจุดสูงสุดของ Flash Coffee บริษัทเผยว่า ในปี 2021 พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น 23 เท่า (YoY) และในปี 2022 ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว (YoY) เช่นกัน
แต่ในมุมของนักวิเคราะห์ การเติบโตของ Flash Coffee จนมีสาขาหลายร้อยแห่งนั้น ถูกมองว่าไม่ยั่งยืน เนื่องจากต้องลงทุนด้านสถานที่ – เครื่องไม้เครื่องมือสูงมาก
นอกจากนั้น อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ทำให้ Flash Coffee ต้องปิดสาขาในสิงคโปร์ลงคือการที่ Flash Coffee เผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะการกลับมารุกตลาดของเชนกาแฟชื่อดังจากจีนอย่าง Luckin Coffee รวมถึง Kopi Kenangan และ Fore Coffee จากอินโดนีเซีย ที่ตอนนี้กำลังขยายตลาดอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ
ปัจจุบัน Flash Coffee มีสาขาทั้งสิ้นราว 200 แห่ง และมีบริษัทอย่าง White Star Capital, Delivery Hero, Global Founders Capital, Rocket Internet, Conny & Co, Geschwister Oetker Beteiligungen, OurCrowd ฯลฯ ให้การสนับสนุน (อ้างอิงจาก DATA VANTAGE)
ส่วนเม็ดเงินที่บริษัทสามารถระดมทุนมาได้นั้นอยู่ที่ 68 ล้านเหรียญสหรัฐสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,465 ล้านบาท และการระดมทุนรอบล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง (บริษัทสามารถระดมทุนมาได้ถึง 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินที่ได้มาเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัท
อย่างไรก็ดี เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา Flash Coffee มีการยื่นขอต่อหน่วยงานด้านการกำกับดูแลของสิงคโปร์เพื่อขอความช่วยเหลือด้านการจัดการหนี้ พร้อมบอกว่า หากไม่เช่นนั้น บริษัทจะไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้อีก
ทั้งหมดนี้จึงอาจสะท้อนได้ว่า การแข่งขันของเชนกาแฟกำลังเริ่มต้นอีกครั้งที่เอเชียก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกรายที่พร้อมสำหรับการแข่งขันครั้งนี้