HomeCSRปีที่ 18 ‘บ้านปู’ เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ กับภารกิจ Waste Warriors 

ปีที่ 18 ‘บ้านปู’ เปิดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ กับภารกิจ Waste Warriors 

แชร์ :

จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 18  สำหรับกิจกรรมค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เพาเวอร์กรีน” ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งนี้ชูแนวคิด “Waste Warriors ภารกิจพิทักษ์โลก: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer” 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กิจกรรมปีนี้มีเยาวชนหัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สนใจสมัครเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีน จำนวน 335 คน จาก 181 โรงเรียน 63 จังหวัด โดยผู้สมัครจัดทำคลิปวิดีโอรณรงค์ให้เกิด “ชุมชนไร้ขยะ” ส่งเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้คัดเลือกเยาวชนจำนวน 50 คน จาก 48 โรงเรียน 30 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมภารกิจพิทักษ์โลกในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 21 ตุลาคม 2566

เปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์นอกตำรา 

โครงการค่าย “เพาเวอร์กรีน” เน้นออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ “วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม – เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” ประเดิมค่ายฯ ด้วยการเปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ปูพื้นฐานภาคทฤษฎีเพื่อให้เข้าใจปัญหาขยะและแนวทางแก้ไขตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง รวมถึงการนำเทรนด์ 3 Greens: Green Cloud – Green Tech – Green Influencer มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมต่าง ๆ ในค่าย

หัวข้อการเรียนรู้ภาคทฤษฎีที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การทำความเข้าใจวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Waste Management) การฝึกใช้ระบบภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System : GIS) ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้งานเพื่อจัดการปัญหาขยะ

อีกทั้งยังมีทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังเพจ “Go Green Girls” อินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม มาร่วมฝึกสร้างคอนเทนต์ และชวนเรียนรู้เทคนิคและประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ผลิตสื่อ ที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ปูทางสู่การเป็น “กรีนอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก่อนจะได้รวมทีมพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากการเรียนรู้ตลอดทั้งค่ายต่อไป

เปิดประสบการณ์ลงพื้นที่ลงมือทำจริง

– ลงมือเก็บ คัดแยก พร้อมจัดการอย่างถูกวิธี

นอกจากการเรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้ว เยาวชนทั้ง 50 คน ก็ได้ลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการจัดการปัญหาขยะที่หลากหลาย โดยค่ายฯ ร่วมกับมูลนิธิเทอร์ราไซเคิล ไทย (TerraCycle Thai Foundation) พาเยาวชนลงเรือออกสำรวจปัญหาขยะ เก็บขยะในพื้นที่ชุมชนคลองลาดพร้าวใจกลางกรุงเทพฯ มีการเรียนรู้การคัดแยกขยะก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยกิจกรรมนี้มี คุณแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565 และ “ทูตมือวิเศษ” ผู้แทนการรณรงค์แคมเปญ “ไม่เทรวม” ซึ่งเป็นโครงการด้านการจัดการขยะภายใต้ความร่วมมือของสำนักสิ่งแวดล้อมและภาคีมือวิเศษกรุงเทพ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ภายในค่ายฯ และร่วมขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

นอกจากนี้เยาวชนยังได้ร่วมสำรวจ “ขยะทะเล” ทำกิจกรรมเก็บขยะชายหาดพร้อมทั้งเรียนรู้การปนเปื้อนของขยะพลาสติก ณ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีเซเลบริตี้คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่าง เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล และ เอิ๊ต-ภัทรวี ศรีสันติสุข ร่วมทริปในครั้งนี้ด้วย

– ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง

นอกจากนี้เยาวชนยังได้ศึกษาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่สามารถสัมผัสอาหารและเครื่องดื่มได้ (Food Grade) ใน จ.ระยอง ซึ่งการนำขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการคัดแยก ทำความสะอาด และรีไซเคิลเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกนี้สามารถลดขยะพลาสติกในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี

– ลงพื้นชุมชน เรียนรู้วิธีการจัดการขยะอินทรีย์

เพื่อให้การเรียนรู้เรื่องขยะครอบคลุมมากขึ้น เยาวชนยังได้เรียนรู้วิธีการจัดการ “ขยะอินทรีย์” และร่วมทำกิจกรรมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม “เบตเทอร์ฟลาย” (Betterfly) ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมภายใต้โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change) หรือ BC4C รุ่นที่ 10 ซึ่งเป็นการจัดการขยะเศษอาหารเหลือทิ้งในชุมชนโดยใช้หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) เป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการฝังกลบขยะอินทรีย์ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในชุมชน นับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดการขยะอินทรีย์ในชุมชนเกาะสีชังไปแล้วเกือบ 7,000 กิโลกรัม

คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

คุณรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าค่ายเพาเวอร์กรีนดำเนินการมาเป็นปีที่ 18 แล้ว บ้านปูต้องการเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาของค่ายฯ ไปพร้อมกับติดตามเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยมีเยาวชนให้ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมและพร้อมอุทิศตนเป็นหนึ่งในแกนนำที่จะมีส่วนสร้างการตระหนักรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“เราหวังว่าการพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพ (Human Empowerment) ให้แก่เยาวชนทั้ง 50 คนในกิจกรรมนี้ จะทำให้พวกเขาเป็นเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันการปกป้อง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติอย่างยั่งยืนต่อไป”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 18 กล่าวว่าปัญหาขยะในประเทศไทยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกระยะของวงจรชีวิตของขยะทุกประเภท

ปี 2565 มีขยะทุกประเภทกว่า 25 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 60% เป็นขยะเศษอาหาร ที่สามารถร่วมมือกันรีไซเคิลได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการทิ้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมัปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก

ดังนั้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงเลือกโฟกัสกับประเด็นการจัดการปัญหาขยะและการส่งเสริมให้เยาวชนก้าวเข้ามาเป็นกรีนอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อขยายกำลังคนที่สามารถช่วยสื่อสารความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง มีความน่าสนใจและน่าติดตาม

โดยเลือกออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้ปัญหาขยะและแนวทางการแก้ไขตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมนำเอาองค์ความรู้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้ามาประยุกต์ใช้ให้หลากหลาย ครอบคลุม และเกิดประโยชน์กับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ

“เราหวังว่าเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ จะได้สนุกไปกับประสบการณ์จากค่าย และเกิดแรงบันดาลใจในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”


แชร์ :

You may also like