“กรุ๊ปบีเบียร์” เตรียมจัดงาน THAI CRAFT BEER WEEK 2023 รวมพลคนผลิต ร้านคราฟท์เบียร์ทั่วไทยลุยตลาดเบียร์ 2.7 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน และท่องเที่ยวไทย สร้างสีสันให้ผู้บริโภครู้จักคราฟท์เบียร์ทั้งใหม่และเก่า ตลอด 9 วันเต็มทั้งสัปดาห์ทุกภาคทั่วประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2566 – 28 ตุลาคม 2566 นี้ พร้อมอ้อนรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาและอุปสรรคใน 3 เรื่องสำคัญ ทั้งปลดล็อคเวลาห้ามขาย การสร้างโรงเบียร์ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องขนาด และปรับฐานภาษีให้เท่าสุราแช่
นางสาวประภาวี เหมทัศน์ กรรมการบริหาร บริษัท กรุ๊ปบี จำกัด เปิดเผยว่า “กรุ๊ปบี” เป็นบริษัทจัดจำหน่ายคราฟท์เบียร์ไทยที่คัดเลือกแบรนด์คุณภาพและกระจายสินค้าไปยังทั่วประเทศ ผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ ทั้งการขายผ่านตัวแทน หรือหน้าร้าน และ โมเดิร์นเทรด รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันตลาดคราฟท์เบียร์ไทยมาตั้งแต่ยุคบุกเบิก (ปี 2017) ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ผลิตเบียร์รายย่อยจำนวนมาก แต่ยังไม่มีคนดูแลในเรื่องกระจายสินค้าประเภทนี้โดยตรง ด้วยความที่เราเห็นปัญหาในส่วนนี้ และมีความเชื่อว่าคราฟท์เบียร์ไทยจะต้องเติบโตในภายภาคหน้า จึงได้เริ่มธุรกิจนี้ขึ้นและยึดมั่นภารกิจในการนำเสนอและขยายช่องทางจำหน่ายคราฟท์เบียร์ไทยสู่ตลาดในวงกว้างมาตลอด 6 ปี
ทั้งนี้ เพื่อให้คราฟท์เบียร์ไทยเป็นที่รู้จัก และแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภค ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงมีส่วนช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ไทยให้เติบโตมากขึ้น กรุ๊ปบีจึงได้เตรียมจัดกิจกรรม THAI CRAFT BEER WEEK 2023 ด้วยความตั้งใจอยากให้คราฟท์เบียร์ไทยได้ไปอยู่ทุกพื้นที่ ในรูปแบบต่าง ๆ และกระตุ้นความคึกคักให้ตลาดผู้ค้ารายย่อย ได้แก่ ร้านคราฟท์เบียร์ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในไทย ตลอดจนบริวผับ โดยมีเว็บไซต์ www.ThaiCraftBeerWeek.com เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางที่จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมตลอดสัปดาห์ด้วย
โดยเทศกาล THAI CRAFT BEER WEEK 2023 ประจำปีนี้ จะถูกจัดขึ้นเพื่อต้อนรับช่วง High Season ของไทย ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2566 – 28 ตุลาคม 2566 นี้ โดยมีชาวคราฟท์เบียร์ไทยทุกภาคทั่วประเทศ ตั้งแต่ตลาดขนาดใหญ่จนถึงธุรกิจรายย่อยท้องถิ่นร่วมกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมสุดพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น Gaginang, Changwon Express, CHUBB Cafe & Bar, Taisoon Bar, ไร่สองเรา ในกลุ่มกรุงเทพ และภาคกลาง, น้ำต้นเฮาส์บาร์ Beer Lab Chiang Mai, วัน.ยัน.ค่ำ x ลาบรื่น, จากภาคเหนือ บ้านน้าหรอย, What Da Ale จากภาคใต้ Beertique จากภาคตะวันออก Ubon Tap Taste, บ้านลุงเจ็ท จากภาคอีสาน รวมถึงร้านอื่น ๆ และอีเวนท์พิเศษอีกมากมายตลอดทั้ง 9 วันเต็ม คาดว่าพอเริ่มต้นอีเวนท์ในวันที่ 20 จะมีร้านมาลงกิจกรรมในเว็บไซต์เพิ่มอย่างคับคั่ง
“เราติดตามข่าวสารของต่างประเทศแล้วเห็นว่า มีการจัดงานเบียร์วีคในหลายประเทศ ซึ่งงานลักษณะนี้ ทุกร้านสามารถมีส่วนร่วมกับงานได้ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ซึ่งในประเทศไทยเอง เราเห็นว่าเริ่มมีเบียร์ที่นำเสนอแบรนด์เป็นของจังหวัดต่าง ๆ และกรุ๊ปบีเองทำงานกับคราฟท์เบียร์ไทยมา 6 ปีแล้ว มีลูกค้าเป็นร้านค้ารายย่อยทั่วประเทศ เมื่อปีที่แล้วจัดงานประกวดคราฟท์เบียร์มาแล้ว ซึ่งเป็นการสนับสนุนบริวเวอร์ปีนี้ จึงอยากสร้างเบียร์วีคขึ้นเพื่อสนับสนุนร้านรายย่อยที่ขายคราฟท์เบียร์” นางสาวประภาวี กล่าว
การจัดงานครั้งนี้ มีความคาดหวังอยากเห็นความเป็น Unity ของไทยคราฟท์เบียร์ทั่วประเทศ ซึ่งเบียร์วีคจะช่วยสร้าง Unity และเพิ่มความแข็งแรงของอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ อยากเห็นบริวเวอร์ได้แสดงฝีมือและร้านได้โปรโมทสินค้าของตัวเอง ขณะที่ผู้บริโภคยังได้ตื่นเต้นกับกิจกรรมสนุก ๆ และเบียร์ใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยวางเป้าหมายอยากให้มีการจัดเทศกาลนี้ในทุกปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย และสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Beer Destination ให้คนไทยและชาวต่างชาติได้เดินทางมาท่องเที่ยวและทดลองชิมเบียร์ไทยด้วย
นางสาวประภาวี กล่าวถึงตลาดคราฟท์เบียร์ว่า ปัจจุบันมีแบรนด์คราฟท์เบียร์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างถูกต้องประมาณ 50 แบรนด์ รวมจำนวนมากกว่า 100 ฉลาก และยังมีบริวผับที่กำลังจะเปิดใหม่อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนคราฟท์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจุบันมีเกือบ 1,000 SKU และคาดว่ามีร้านรายย่อยที่เริ่มมีคราฟท์เบียร์จำหน่าย ทั้งผลิตในประเทศไทยและนำเข้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ร้านด้วย
แม้ว่าตลาดคราฟท์เบียร์มีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่ปัจจุบันมูลค่าตลาดยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก จากข้อมูลในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดคราฟท์เบียร์รายย่อย ทั้งของแบรนด์ไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ มีสัดส่วนเพียง 0.5-1% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมประมาณ 270,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดเบียร์สัดส่วนมากถึง 97% ยังเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดคราฟท์เบียร์ไทย และคราฟท์เบียร์ที่บริวในผับรายย่อยต่าง ๆ คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาทเท่านั้น ไม่นับตัวเลขที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนอีกส่วนหนึ่ง
โดยกรุ๊ปบี จัดจำหน่ายและทำตลาดคราฟท์เบียร์จากผู้ผลิตไทย ทั้ง Year round และ seasonal ทั้งกลุ่มตลาดระดับ C จนถึง A เช่น ผีบอก แซนพอร์ต ยอดเบียร์ เหน่อเบียร์ อันเดอร์ด๊อก เทพพนม หรือ Taopiphop Ale Project ก็ด้วย และในปีนี้ได้เริ่มจำหน่ายสุราชุมชนเข้ามาในพอร์ต อาทิ สังเวียน นาสาร Red Jungle ในพอร์ท และกำลังจะมีสุราเทวะเพิ่มมาอีกด้วย ส่วนคราฟท์เบียร์ไทยในพอร์ทของกรุ๊ปบี มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 ปีมีอัตราการเติบโตถึง 400% และยังมีผู้ประกอบการในตลาดคราฟท์เบียร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วย ขณะที่ผู้นำเข้าคราฟท์เบียร์จากต่างประเทศ ยังถือว่ามีบทบาทสำคัญในตลาดอยู่ไม่น้อย ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้อย่างแน่นอน
ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคราฟท์เบียร์ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการเลือกเบียร์ของตัวเอง เช่น เลือกรสชาติที่ชอบ เลือกฉลากหรือยี่ห้อที่ชอบ เลือกตามงบประมาณที่ตัวเองมี และมีจำนวนไม่น้อยที่เลือกคราฟท์เบียร์ ที่ตนเองมั่นใจในรสชาติและยี่ห้อเป็นหลัก เป็นพฤติกรรมไม่ต่างจากดื่มเบียร์ทั่วไปในตลาด จึงทำให้คราฟท์เบียร์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทุกประเภท
“ทุกคนรู้จักคราฟท์เบียร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และผู้บริโภคส่วนมากให้การตอบรับเป็นอย่างดี ถือเป็นการให้โอกาสสินค้าประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าเบียร์ทุกตัวสามารถเป็นกระแสได้ ถ้ามีการแนะนำให้พวกเค้ารู้จัก และทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดเรื่องการห้ามโฆษณา ทำให้การสื่อสารเรื่องของแบรนด์ดิ้งและสินค้า ทำได้ค่อนข้างยาก”คุณประภาวี กล่าว
ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทย ยังมีข้อจำกัดในเรื่องกฎหมาย ทั้งด้านการผลิตและการทำตลาด ซึ่งผู้ผลิตคราฟท์เบียร์มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาต ทำโรงเบียร์ขนาดเล็กที่บรรจุสินค้าออกจำหน่ายภายนอกได้ รวมถึงต้องการให้กระทรวงการคลัง แก้ไขขั้นตอนการขออนุญาตต่าง ๆ ที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ไม่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการทุกรายต้องการทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย นอกจากนี้ อยากให้มีการคิดอัตราภาษีของคราฟท์เบียร์เท่ากับภาษีสุราแช่อื่น ๆ ด้วย เพราะปัจจุบันคราฟท์เบียร์เสียภาษีสูงกว่าสุราแช่ประเภทอื่น ๆ หลายเท่าตัว ทั้งที่กระบวนการผลิตไม่ต่างกัน
นางสาวประภาวี กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 หรือที่เรียก พ.ร.บ. ต้านเหล้า ยังถือว่าเป็นอุปสรรคที่กีดขวางการประกอบอาชีพสุจริตของประชาชน ชาวคราฟท์เบียร์ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รวมตัวจัดแคมเปญล่ารายชื่อ เพื่อยื่นแก้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากต้องการให้มีการควบคุมที่สมเหตุสมผลและวัดประสิทธิภาพได้จริง สำหรับการเปลี่ยนแปลงอยากให้เป็นไปในเชิงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าและมีการพัฒนาระบบต่างๆ ไปพร้อมๆ กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย อยากให้ภาครัฐเชื่อใจผู้ผลิตและประชาชนมากขึ้น ว่ามีความต้องการสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติอย่างแท้จริง
“ขณะเดียวกัน อยากเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ ดำเนินการแบบเร่งด่วนใน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.ปลดล็อคเวลาห้ามขายในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. และวันสำคัญทางศาสนา ต่อเนื่องไปถึงเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ต้านเหล้า 2.เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตขออนุญาตสร้างโรงเบียร์ได้โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องขนาด สามารถบรรจุและส่งขายทั่วไปได้ จะทำให้คนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และ 3.ปรับฐานภาษีสรรพสามิตของเบียร์ลงให้เท่าเทียมกับสุราแช่อื่นๆ เพื่อเป็นการลดจำนวนสินค้านอกระบบ และเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้มากขึ้นด้วย” นางสาวประภาวี กล่าวสรุปในตอนท้าย