หลังจากทำงานหนักต่อเนื่องกันมายาวนานทั้งสัปดาห์ ทั้งเดือน เมื่อถึงวันหยุด บางคนอาจจะวางแผนหยุดนอนดูซีรี่ส์อยู่บ้าน แต่บางคนอาจจะออกไปท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือเพื่อนๆ เพื่อชาร์จแบตให้ร่างกาย และจุดท่องเที่ยวยอกฮิตอย่าง “ทะเล” และ “น้ำตก” ก็เป็นสถานที่ยอดฮิตที่คนนิยมไปนั่งชิลๆ สูดอากาศกันให้ชุ่มปอด ทว่าเมื่อไปถึง หลายคนอาจรู้สึกเซ็งและผิดหวัง เพราะแทนที่จะได้พักผ่อนหย่อนใจเต็มที่ อาจต้องเจอการตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์กันริมหาดพื้นที่สาธารณะ พอมึนเมาก็อาจส่งเสียงดัง หรือบางครั้งทำให้คนไม่กล้าเดินผ่าน พาบรรยากาศสุดกร่อย กระชากอารมณ์กลายเป็นช็อตฟิล!
จากพฤติกรรมเหล่านี้ จึงทำให้ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ “สสส.” ปล่อยแคมเปญรณรงค์ตัวล่าสุด “ไม่ดื่ม-ไม่ขายแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งนอกจากจะใช้รูปแบบสื่อรณรงค์ในการปลุกจิตสำนึกของผู้อยู่ในพื้นที่และนักดื่มให้ตระหนักถึงการปรับพฤติกรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันอย่างมีจิตสำนึก แคมเปญนี้ยังมาพร้อมกับแนวคิดการครีเอทสื่อ ณ พื้นที่สาธารณะ อาทิ ป้ายรณรงค์ ป้ายคำเตือนเพื่อสร้างประสบการณ์กับผู้ที่ใช้พื้นพื้นที่สาธารณะที่ถูกต้องให้กับผู้ใช้พื้นที่ และนักท่องเที่ยวทุกคน เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจผลกระทบจากปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะชัดเจนมากขึ้น Brand Buffet ชวนมาคุยกับ “คุณเกียรติคุณ ศิริเวชมงคลชัย” นักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมชำนาญการพิเศษ ของ สสส. ถึงแนวคิด พร้อมเบื้องหลังการทำงานก่อนจะมาเป็นหนังโฆษณาที่ฉีกกรอบจากทีม VMLY&R ประกอบด้วย “คุณอนุวรรต นิติภานนท์” Chief Creative Office และ “คุณชวัล สินธุสิงห์” Creative Director
เพราะพฤติกรรมนักดื่มเปลี่ยน 28% หันดื่มในที่สาธารณะ จุดเริ่มต้นแคมเปญ
คำว่า “พื้นที่สาธารณะ” ในการทำงานนี้เราพูดถึงการสื่อสารถึงพื้นที่สาธารณะที่มีกฎหมายควบคุม พืน้ที่สาธารณะเป็นคำที่เราได้ยินกันมานาน และหลายคนมักจะนึกถึงสวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ยังรวมถึงพื้นที่อุทยานและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งทะเล ชายหาด และน้ำตก อีกทั้งในความคิดหลายคนมักเข้าใจว่าพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาพักผ่อนได้ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากเราจะเห็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวน้ำตกและชายหาดกันเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเกิดพฤติกรรมการขายและนำแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ
คุณเกียรติคุณ เล่าพฤติกรรมที่ผ่านมาว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีกฎหมายออกมา และป้ายแจ้งเตือนตามจุดพื้นที่สาธารณะที่มีกฎหมายควบคุมต่างๆ แต่ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด จึงส่งผลให้เกิดการลักลอบนำแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในพื้นที่สาธารณะ จากผลสำรวจของ สสส. และไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะมีสัดส่วนถึง 28% ทีเดียว โดยในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะมากกว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศดี จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อพักผ่อน อีกทั้งค่าใช้จ่ายไม่สูงเมื่อเทียบกับการไปนั่งดื่มตามร้าน และที่สำคัญหลายคนคิดว่าเป็นพื้นที่ที่นั่งดื่มได้
นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญให้ สสส. ต้องการสื่อสารกับนักดื่มและกลุ่มคนที่ขายแอลกอฮอล์ตระหนักถึงผลกระทบจากการนำแอลกอฮอล์มาดื่มและขายในพื้นที่สาธารณะ เห็นผลกระทบที่พวกเค้าอาจนึกไม่ถึง เพราะเมื่อเกิดความมึนเมา จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ใช่แค่ปัญหาการจัดการขยะ และการส่งเสียงดังรบกวนคนที่มาพักผ่อนในพื้นที่ แต่ยังเสี่ยงต่อการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุหลังจากการดื่ม จนมีการบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงสร้างความหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย และเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ยืนปัสสาวะในน้ำตก ริมหาด เมื่อเด็กเยาวชนเห็น อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้เยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้เร็วขึ้น จึงเป็นที่มาให้ สสส. ตัดสินใจทำแคมเปญรณรงค์ “ไม่ดื่ม-ไม่ขายแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ” เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักดื่ม และผู้ขาย และเพื่อให้พื้นที่สาธารณะที่มีกฎหมายควบคุมเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนจริงๆ
ถ่ายทอดผลกระทบจริงผ่านหนังโฆษณา
หลังได้ไอเดียหลักที่ชัดเจนแล้ว สสส. ก็ตัดสินใจนำเอาผลกระทบที่เกิดขึ้นมาเล่าผ่านหนังโฆษณา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้และเกิดความตระหนักในการใช้พื้นที่เหล่านี้อย่างมีจิตสำนึก ซึ่งหากมองผ่านๆ การนำผลกระทบมาเล่าอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ สสส. เสียทีเดียว แต่หากได้ดูหนังโฆษณาตัวใหม่นี้แล้ว จะได้เห็นรูปแบบการนำเสนอในมุมมองใหม่อย่างน่าสนใจ โดยคุณอนุวรรต บอกว่า ตอนแรกที่ได้รับโจทย์มาเหมือนจะง่าย แต่พอกลับมานั่งระดมความคิดกัน ทำให้พบว่ามีรายละเอียดที่ Sensitive เพราะพอพูดถึงพื้นที่สาธารณะ นักดื่มเกือบทุกคนมักมองว่าตนเองมีสิทธิ์เข้าไปใช้พื้นที่ได้
เมื่อเป็นแบบนี้ แกนหลักของไอเดียจึงต้องการแสดงให้เห็นว่า พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่ทุกคน รวมถึงนักดื่มสามารถเข้ามาใช้ได้ แต่เมื่อเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว ต้องไม่สร้างความลำบากให้คนรอบข้างที่อยู่พื้นที่เช่นกัน แทนการตำหนิหรือโทษใครว่าทำผิด ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุกมุมมองในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันให้เกิดขึ้นในใจนักดื่มได้อย่างละมุมละม่อม
โดยหนังโฆษณาเรื่องแรกชื่อว่า “ผิดอะไร” เนื้อหาของหนังได้แรงบันดาลใจจากพฤติกรรมของนักดื่มจริงที่ไม่รู้ว่าการตั้งวงดื่มแอลกอฮอล์กับเพื่อนในพื้นที่สาธารณะกำลังสร้างความลำบากให้คนอื่น เพราะพวกเขาคิดว่าเป็นการพักผ่อน และนานๆ ทีจะได้สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน ด้วยการเล่าเรื่องได้อย่างกินใจผ่านบรรยากาศที่เราคุ้นเคยอย่างชายหาด ซึ่งเป็น Top Destination ของการพักผ่อนและสังสรรค์ พร้อมนำผลกระทบจริงมาขยี้ได้อย่างเห็นภาพผ่านการยกสถานการณ์ของคนหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาเป็นเหมือนกระบอกเสียงถ่ายทอดอารมณ์ของคนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกระตุ้นให้นักดื่มได้คิด
ตัวอย่างเช่น คู่รัก ซึ่งชายหนุ่มกำลังจะขอสาวเป็นแฟน แต่พอจะเอ่ยปาก ก็ถูกแก๊งค์ดื่มส่งเสียงดังรบกวนตลอด จนไม่สามารถขอสาวเป็นแฟนได้ รวมถึง นักท่องเที่ยว ที่กำลังชมความงามของทะเลหมอก แต่อยู่ๆ ก็ถูกเสียงดังรบกวนจนเสียบรรยากาศ เมื่อนักดื่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็ฉุกคิด บทสรุปเรื่องราวในหนังจึงจบลงอย่างสวยงามโดยนักดื่มสมัครใจเก็บแอลกอฮอล์
ดึงอินไซต์ “ท่องเที่ยว” เพิ่มความอินให้นักดื่มเห็นอิมแพ็ค หวงแหนและรักสถานที่ของตนเองมากขึ้น
ส่วนหนังเรื่องที่ 2 มาในธีมการท่องเที่ยว ซึ่งไอเดียตั้งต้นมาจาก Insight ที่ประเทศไทยกำลังเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยือน โดยหนังเปิดด้วยภาพภาษาที่หลากหลาย ทั้งภาษาอังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กระทั่งนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงสถานที่ท่องเที่ยวในไทย จากที่เห็นความสวยงามใน YouTube กลับมาเจอกลุ่มคนใช้พื้นที่สาธารณะไม่เหมาะสม จึงรู้สึกผิดหวังและมองว่าไม่น่าเที่ยว เมื่อนักดื่มเห็น จึงยอมเก็บ เรื่องราวก็จบลงอย่างแฮปปี้ พื้นที่ก็กลับมาสวยเหมือนเดิม เป็นหน้าเป็นตาและสร้างชื่อเสียงให้เมืองไทย
“จากประสบการณ์ทำงานโฆษณา หลายครั้งที่คนไม่เห็น Impact ที่รุนแรง การจะกระตุ้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะน้อยลง หนัง 2 เรื่องนี้จึงเลือกหยิบความลำบากของคนอื่นที่ต้องการใช้พื้นที่สาธารณะในช่วงเวลานั้น แต่ไม่สามารถทำได้มาขยี้ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของนักดื่มมากขึ้น ทำให้เมื่อเขาเห็นภาพเหล่านี้ตอนสร่างเมา จะปลุกจิตสำนึกในการใช้พื้นที่ร่วมกันมากขึ้น รวมถึงนำเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งเป็นประโยชน์ของประเทศมาสร้าง Impact เพื่อให้คนเกิดจิตสำนึกได้เร็วขึ้น” คุณเบิร์ด เล่าถึงเคล็ดลับการสร้างหนังโฆษณาให้เกิด Impact กับนักดื่ม
ลุยสร้างประสบการณ์ใช้พื้นที่สาธารณะอย่างถูกต้อง
นอกจากแคมเปญหนังโฆษณาที่ปล่อยออกมาแล้ว สสส. ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการใช้พื้นที่สาธารณะที่ถูกต้องกับนักท่องเที่ยวทุกคน เพราะมองว่าการให้เจ้าหน้าที่มาพูดเตือน นักท่องเที่ยวอาจรู้สึกเหมือนถูกบังคับ และทำให้ไม่สนุกในการเที่ยว ผนวกกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด จึงเป็นที่มาในการร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตวป่า และพันธุ์พืช ครีเอทป้ายรณรงค์ รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวในการเข้ามาเที่ยวในพื้นที่อุทยานอย่างถูกต้อง ผ่านสื่อต่างๆ ของสคล. และแอปพลิเคชั่นจองเข้าอุทยานแห่งชาติ “QueQ” โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาไอเดีย และรูปแบบการสื่อสาร
ซึ่ง สสส. มองว่า วิธีนี้จะสร้าง Awareness และประสบการณ์ในการใช้พื้นที่สาธารณะที่ถูกต้องกับนักท่องเที่ยวทุกคน และเมื่อทุกคนปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง จะเป็นอีกทางที่ช่วยลดความรุนแรงต่างๆ และทำให้ทุกคนท่องเที่ยวอย่างสนุกและปลอดภัยมากขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นการหยิบจับผลกระทบที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะมาผสานกับไอเดียสร้างสรรค์ จนกลายมาเป็นแคมเปญรณรงค์ที่สร้างแปลกใหม่ชวนให้ติดตาม ซึ่งเราเชื่อว่าจะโดนใจคนดู และทำให้ผู้ขาย และผู้ดื่มหลายๆ คน ได้ฉุกคิดกลับไปอย่างแน่นอน