Facebook แนะคนไทย “ช่วยกันรีพอร์ต” และ “เอ๊ะ” เยอะ ๆ ก่อนหลงเชื่อโฆษณาออนไลน์ หลังสถิติการหลอกลวงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียพุ่งสูง ชี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบนหลายแพลตฟอร์ม และมีความซับซ้อน รวมถึงมีเงินทุนขนาดใหญ่สนับสนุน
คำแนะนำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรการต่าง ๆ ที่ทางแพลตฟอร์มมีการใช้งานมาก่อนหน้า โดยคุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจจาก Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวว่า “การหลอกลวงบนโลกออนไลน์ (scam) นับเป็นประเด็นที่มีความท้าทายสูง ซึ่งบ่อยครั้งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทำเป็นรูปแบบกระบวนการ”
“ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่ง ในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่าง ๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย เราจึงต้องพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
คนไทย vs ภัยออนไลน์ระดับ 676 ล้านแอคเคาน์
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่คนไทยกำลังเผชิญนั้นคือการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้นในระดับหลายร้อยล้านแอคเคาน์ (เฉพาะบนแพลตฟอร์มของ Facebook) เห็นได้จากข้อมูลทางสถิติของบริษัทแม่อย่าง Meta ในรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนประจำไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566 ระบุว่า Meta ได้ลบบัญชีปลอมไปแล้วกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook โดย 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปด้วยเทคโนโลยี AI ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้ (ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 Meta ก็ได้ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเทคโนโลยี AI เช่นกัน)
Meta จัดการอย่างไรกับภัยลวงออนไลน์
ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้บริหาร Meta เปิดเผยเกี่ยวกับเทคนิค และวิธีการในการตรวจจับภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่าง Facebook พบว่ามีดังนี้
- ใช้เทคโนโลยี machine learning เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายของ Meta
- ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง
- ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่าง ๆ
- จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
- ตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ
ไขข้อข้องใจ มาตรฐานการโฆษณาของ Meta
แม้จะมีมาตรการสกัดภัยออนไลน์จากทางแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่จากประสบการณ์ของผู้ใช้งานอาจพบว่า ภัยดังกล่าวอยู่ใกล้ตัวไม่น้อย เห็นได้จากในหน้าฟีดที่มักพบเพจที่ใช้ภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงชวนเข้ากลุ่มเพื่อร่วมลงทุน ฯลฯ และซื้อโฆษณาจาก Facebook ร่วมด้วย (มีคำว่า ได้รับการสนับสนุน อยู่ใต้ชื่อเพจ) ซึ่งเมื่อเข้าไปในกลุ่มเหล่านั้นแล้ว ส่วนใหญ่จะถูกหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ เช่น พาคลิกลิงค์เพื่อพาออกไปนอกแพลตฟอร์ม ฯลฯ
ในจุดนี้ คุณเฮเซเลีย มาร์กาเรต้า กล่าวถึงมาตรการการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม Facebook ว่า “Meta ไม่อนุญาตให้มีการหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม และเรามุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ รวมถึงการมอบเครื่องมือและโซลูชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากปัญหาบัญชีปลอมและพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ดีต่าง ๆ”
สิ่งที่คุณเฮเซเลียกล่าวเพิ่มเติมคือ หากแพลตฟอร์มพบว่าบัญชีใดบัญชีหนึ่งมีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการหลอกลวง เจ้าของบัญชีดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้ใช้งานบัญชีปลอมหรือนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตนเองที่ไม่เป็นความจริง
“หากเจ้าของบัญชีไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ตามที่กำหนด หรือหากบุคลากรผู้ตรวจสอบของเราพบว่ามีการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ของเรา บัญชีดังกล่าวก็จะถูกลบ นอกจากนี้ Meta ยังจะเดินหน้าดำเนินการและลงโทษกับผู้กระทำความผิดดังกล่าว ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย”
(สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก มาตรฐานการโฆษณา ซึ่ง Meta พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแนวทางว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือของ Meta)
การลบคอมเม้นท์ – บล็อกแอคเคาน์ เอื้ออาชญากรออนไลน์?
หนึ่งในจุดที่คุณเฮเซเลียย้ำว่า อยากให้ผู้ใช้งาน Facebook มีความตระหนักคือ หากเพจหรือกลุ่มใดดูดีเกินไป ขอให้รู้สึกระแวดระวังเอาไว้ก่อนที่จะหลงเชื่อ แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่เพจหรือกลุ่มต่าง ๆ บน Facebook ดูดี และคอมเม้นท์ในเพจ หรือกลุ่มก็ไปในทิศทางเดียวกันนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความสามารถของเครื่องมือของแพลตฟอร์มเอง เช่น การอนุญาตให้ลบคอมเม้นท์ หรือการบล็อกผู้ใช้งานไม่ให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งเพจ หรือผู้สร้างกลุ่มสามารถทำได้ เพื่อสะกัดกั้นคนที่จะมาเตือนด้วยความหวังดี
ในจุดนี้คุณเฮเซเลียกล่าวว่า ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มของ Facebook มีหลากหลาย ซึ่งในจุดเริ่มต้น Facebook ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้กลุ่มอาชญากรออนไลน์ใช้ แต่ยังมีคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราทุกคนในที่นี้ร่วมใช้ด้วย ดังนั้น เครื่องมืออย่างการลบ หรือบล็อกผู้ใช้งานถูกพัฒนาขึ้นในเชิงบวก เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ใช้งานจะไม่ถูกล่วงละเมิดด้วยข้อความที่รุนแรง
อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเพจหรือกลุ่มได้จากการให้คะแนนและบทวิจารณ์ ของเพจหรือกลุ่มนั้น ๆ (สัญลักษณ์รูปดาว ที่เปิดให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ได้รีวิว) พร้อมบอกว่า Meta ยินดีรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้เสมอ เพื่อให้พวกเขามีความตระหนัก – ระมัดระวังมากขึ้น
เปิดแคมเปญ #StayingSafeOnline – โทร 1441
คุณอิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวว่า นอกจากการทำงานร่วมกับกระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคมแล้ว ทาง Meta ได้ส่งแคมเปญ #StayingSafeOnline ภายใต้โครงการ We Think Digital Thailand เพื่อให้ความรู้แก่ชาวไทย เกี่ยวกับวิธีสังเกตพฤติกรรมของผู้ประสงค์ร้าย และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากสแกมอีคอมเมิร์ซ สแกมความปลอดภัย และการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง รวมถึงภัยบนโลกออนไลน์อื่น ๆ
ภายใต้แคมเปญดังกล่าว ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้และวิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่ให้บริการเป็นภาษาไทย และยังร่วมพัฒนาแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกับหลากหลายองค์กร พร้อมระบุว่าแคมเปญดังกล่าวได้เข้าถึงชาวไทยเป็นจำนวนกว่า 30 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน ตั้งแต่การเปิดตัวในปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ แคมเปญ #StayingSafeOnline ยังกำลังจะเปิดตัวการดำเนินงานเฟสใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะให้ความสำคัญกับเคล็ดลับในการระมัดระวังและรู้เท่าทันสแกมเมอร์ที่มีอยู่หลากหลายประเภทด้วย
“ในสัปดาห์นี้ เรากำลังจะเปิดตัวซีรีส์วิดีโอเพื่อให้ความรู้ที่มีชื่อว่า “ถอดรหัสสแกม” (Decode Scam) ผ่านเพจ Meta ประเทศไทย บน Facebook เพื่อสอนให้ผู้คนรู้จักกับภัยลวงบนโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายประเภท พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรายังมีแผนที่จะเปิดตัวเฟสต่อไปของแคมเปญ #StayingSafeOnline ซึ่งเราจะยังคงร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศและร่วมสร้างสรรค์ชุดเนื้อหาเอ็ดดูเทนเมนต์เพื่อการเรียนรู้ใหม่ ๆ ร่วมกับครีเอเตอร์ชาวไทย เกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวในหลากหลายรูปแบบเนื้อหา ตั้งแต่วิดีโอสั้น ภาพประกอบที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงมีมเพื่อให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อให้คำแนะนำและเคล็ดลับแก่ชาวไทยเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตนเองจากเหล่าสแกมเมอร์ ในรูปแบบการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น”
ด้าน พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับช่องทางในการขอความช่วยเหลือ หรือปรึกษาปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงแจ้งเบาะแส สามารถโทรสายด่วน 1441 ได้
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand