ผู้บริหารไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยเส้นทางการทำงานร่วมกับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หลังมีการลงนามใน MOU ระหว่างรัฐบาลไทย และ Microsoft เกี่ยวกับการนำ AI มาใช้ในงานของภาครัฐในการประชุม APEC 2023 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า จะเริ่มต้นกับ 3 กระทรวงของไทย (ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อกระทรวงอย่างเป็นทางการ) พร้อมกับการประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้ากับนายกรัฐมนตรีทุก ๆ 3 เดือน
การเปิดเผยรูปแบบการทำงานของไมโครซอฟท์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเซ็น MOU มีขึ้นในงาน Microsoft AI Summit โดยคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยว่า อยู่ในขั้นตอนของการวางแผน โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา ซึ่งทาง Microsoft จะนำองค์ความรู้จากที่เคยทำงานกับรัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ – ออสเตรเลีย มาแบ่งปันด้วย นอกจากประเทศไทยแล้ว ทางบริษัทจะลงนามในลักษณะดังกล่าวกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน
เปิดหน้าที่ AI Center of Excellence ทำอะไรบ้าง
หนึ่งในหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นก็คือศูนย์ AI Center of Excellence หรือศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI โดยคุณธนวัฒน์ กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ รวมถึงจัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง โดยภายในศูนย์จะมีทั้ง Data Scientist, Data Engineer, Prompt Engineer ฯลฯจาก Microsoft มารวมตัวกัน และมีหน้าที่ตอบสนองความต้องการของหน่วยงานภาครัฐในด้านต่าง ๆ
ตัวอย่างการทำงานของศูนย์ AI Center of Excellence เช่น หน่วยงาน A ในกระทรวง B อยากตอบคำถามประชาชนให้เร็วขึ้น จากเดิมที่อาจตอบประชาชนได้ภายใน 5 วัน เป็นการตอบคำถามประชาชนให้ได้ทันที ซึ่ง Data Scientist, Data Engineer, Prompt Engineer ฯลฯ ในศูนย์ AI Center of Excellence จะเป็นคนหาโซลูชันที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และส่งกลับไปให้หน่วยงาน A ได้นำไปใช้งาน – บริการประชาชนต่อไป โดยคุณธนวัฒน์ยังยอมรับด้วยว่า โมเดลการทำงานในลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องใหม่มาก
ทั้งนี้ คุณธนวัฒน์ระบุว่า การทำงานในปัจจุบันถือเป็นการทำงานในเฟส 1 โดยในระหว่างนี้จะมีการประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้ากับนายกรัฐมนตรีไทยทุก ๆ 3 เดือน
อย่างไรก็ดี ไม่มีการยืนยันว่าทาง Microsoft และรัฐบาลไทยจะประชุมกันทุก ๆ 3 เดือนเป็นเวลานานเท่าไรจึงจะเริ่มเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำ AI ไปประยุกต์ในหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง
MOU ไม่ระบุว่าให้เก็บข้อมูลไว้ในประเทศไทย
นอกจากนั้น ในส่วนของการใช้ AI ในหน่วยงานภาครัฐว่าจะต้องมีการเก็บข้อมูลเอาไว้ในประเทศไทยหรือไม่นั้น คุณธนวัฒน์เผยว่า ประเด็นดังกล่าวไม่มีการระบุไว้ใน MOU แต่อย่างใด และหากต้องการให้มีการเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ ก็ต้องเป็นการกำหนดนโยบายโดยรัฐบาล
อย่างไรก็ดี แม้ใน MOU จะไม่ได้ระบุให้เก็บข้อมูลเอาไว้ภายในประเทศ แต่ในแง่ของความปลอดภัยของข้อมูล ผู้บริหาร Microsoft ระบุว่า บริษัทมีข้อกำหนดในการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม เช่น การไม่ใช้ Data ของลูกค้าเพื่อไปเทรน AI รวมถึงมีฟีเจอร์ เช่น Confidential computing สำหรับทำการเข้ารหัสข้อมูลแบบ 100% (สำหรับผู้ใช้บริการที่ต้องการความปลอดภัยสูงสุด) ด้วย (ฟีเจอร์ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นบริการสำหรับลูกค้าระดับองค์กร)
Data Center จาก Microsoft ต้องการ Renewable energy
ขณะที่การลงทุนตั้ง Data Center ที่ MOU ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนในประเทศไทยเพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคตนั้น ทางผู้บริหาร Microsoft ระบุว่า บริษัทมี Commitment ว่า ภายในปี 2025 พลังงานที่ใช้ใน Data Center จะเป็นพลังงานที่มาจาก Renewable energy ทั้งหมด ซึ่งหากเกิดการลงทุน Data Center ของ Microsoft ในประเทศไทยจริง ประเทศไทยก็อาจจำเป็นต้องจัดหาแหล่งพลังงานดังกล่าวเพื่อส่งให้กับ Data Center ได้ใช้งาน ซึ่งในด้านหนึ่ง มองว่าเป็นข้อดีที่ประเทศไทยจะได้มีการลงทุนด้าน Renewable energy อย่างจริงจัง
เปิดสถิติการช่วยงานของ Copilot
ในประเด็นการใช้งาน Copilot ในระดับองค์กร ทางบริษัท Microsoft ได้เปิดตัวเลขการศึกษาที่พบว่า
- ผู้ใช้ Copilot 70% ระบุว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 68% รู้สึกว่าผลงานมีคุณภาพมากขึ้น
- โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ Copilot สามารถทำงานประเภทการค้นหาข้อมูล งานเขียน และการสรุปเนื้อหาต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น 29%
- ผู้ใช้ Copilot สามารถติดตามเนื้อหาและประเด็นสำคัญในการประชุมที่ตนเองไม่ได้เข้าร่วมได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าตัว
- ผู้ใช้ราว 64% เผยว่าพวกเขาใช้เวลาน้อยลงในการจัดการกับอีเมล ขณะที่ 85% สามารถเขียนงานดราฟท์แรกออกมาได้เร็วขึ้น และ 75% ค้นหาเอกสารที่ต้องการได้เร็วขึ้น
- ผู้ใช้ Copilot 77% ต้องการใช้งานต่อไปในอนาคต
(Copilot เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 โดยสามารถเรียกใช้ได้จาก Outlook, Word, Excel, PowerPoint, OneNote, Teams, Stream และ OneDrive และในการสำรวจด้านบนไม่มีข้อมูลผู้ใช้งานในประเทศไทย)
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปี 2024 บริการดังกล่าวของทางบริษัทจะเริ่มรองรับภาษาไทยอย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันรองรับแต่ภาษาอังกฤษ)
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทที่นำ Copilot for Microsoft 365 ไปทดลองใช้งานแล้ว ได้แก่ เอไอเอส, SCBX และ ปตท.สผ. ขณะที่ Buzzebees, InnovestX และ PTT Global Chemical (GC) ก็มีการนำบริการ Azure OpenAI Service ไปต่อยอดกับนวัตกรรมของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้บริหาร Microsoft ระบุว่า เป็นการตื่นตัวขององค์กรขนาดใหญ่ของไทยที่ค่อนข้างทิ้งห่างจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างมาก