HomeBrand Move !!‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ ยกเครื่องจัดส่งพัสดุ หนีสงครามราคาอีคอมเมิร์ซ เพิ่มพอร์ตฯลูกค้าทั่วไป เก็บค่าบริการได้สูงกว่า   

‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ ยกเครื่องจัดส่งพัสดุ หนีสงครามราคาอีคอมเมิร์ซ เพิ่มพอร์ตฯลูกค้าทั่วไป เก็บค่าบริการได้สูงกว่า   

แชร์ :

ธุรกิจขนส่งที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิด “สงครามราคา” แย่งชิงลูกค้า ผลที่ตามมาในช่วง 2 ปีนี้ รายใหญ่ต่างเจอกับปัญหา “ขาดทุน” หนัก รวมทั้ง “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” (Kerry Express) ขนส่งสีส้มที่อยู่ในตลาดไทยมา 17 ปี 

ปี 2565 เคอรี่ ขาดทุน 2,829  ล้านบาท  ครึ่งปีแรก 2566 ขาดทุนไปแล้ว 1,834 ล้านบาท  ทำให้ต้องปรับโครงสร้างธุรกิจ ยกเครื่องเครือข่ายขนส่งใหม่ หวังกลับมาทำกำไรอีกครั้งในปี 2567

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจาก S.F.Holding ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรชั้นนำของประเทศจีน ภายใต้ชื่อ SF Express ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ใน Kerry Logistics Network หรือ KLN ฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX

ช่วง 2 ปีนี้ เคอรี่ ได้ร่วมมือกับผู้ถือหุ้นใหญ่ S.F.Holding ที่ให้ความช่วยเหลือผ่านทาง SF Express นำโนว์ฮาวมาปรับโครงสร้างเครือข่ายขนส่ง การลงทุนเครื่องจักร และระบบอัตโนมัติต่างๆ  เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Tech Logistics ส่งพัสดุด่วนด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด Kerry Fast Tech 

เสริมเทคโนโลยีลดต้นทุนขนส่ง

คุณวราวุธ นาถประดิษฐ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตลอดปีนี้ได้นำโนว์ฮาวจาก SF Express มาพัฒนาเครือข่ายขนส่ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพส่งพัสดุได้มากขึ้นและลดต้นทุน ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเริ่มที่ศูนย์คัดแยกและกระจายสินค้า KBLC บางนา บนพื้นที่ 35,000 ตารางเมตร

เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่นำมาใช้ดังนี้

1. Smart Sorting เทคโนโลยีช่วยคัดแยกพัสดุได้แม่นยำ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด จากเดิมพนักงานเป็นผู้คัดแยก เพื่อจัดส่งไปตามภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย นวัตกรรมนี้สามารถคัดแยกพัสดุเพื่อจำแนกออกไปตามแต่ละพื้นที่ หรือโซนของที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

เครื่องคัดแยกใหม่ช่วยคัดแยกพัสดุได้เร็วขึ้นจากเดิมชั่วโมงละ 500-600 ชิ้น เพิ่มเป็น 1,200 ชิ้น นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจาก Human Error จากเดิม 2-3% ของจำนวนพัสดุ เหลือไม่ถึง 1% 

2. Digital Mapping  เทคโนโลยีช่วยประมวลผลได้อย่างละเอียด ถูกต้องและแม่นยำในการจัดส่งพัสดุ โดยระบบสามารถระบุที่อยู่ในประเทศไทยที่ลงลึกรายละเอียดแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ตรอก ซอก ซอย ทั่วประเทศ จัดทำเป็นหมุดแผนที่ปลายทางได้ถูกต้องและแม่นยำ ทำให้พนักงานจัดส่งพัสดุได้รวดเร็วและตรงเวลา

เทคโนโลยี Digital Mapping สามารถระบุที่อยู่ผู้รับได้อย่างละเอียดในทุกพื้นที่ เมื่อมีการส่งซ้ำในที่อยู่เดิม พนักงานส่งซึ่งดูแลพื้นที่นั้นอยู่แล้วสามารถส่งพัสดุได้ทันที โดยลดการโทรศัพท์สอบถามที่อยู่จากผู้รับ นอกจากนี้ยังช่วยให้จัดส่งพัสดุได้มากขึ้น 20% จากเดิมรถส่งสี่ล้อ ส่งพัสดุวันละ 100 ชิ้น  และมอเตอร์ไซค์ 150 ชิ้น  เพราะรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี

การนำเทคโนโลยี Smart Sorting และ Digital Mapping  มาใช้ที่ศูนย์คัดแยกพัสดุและรถจัดส่งพัสดุ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกและจัดส่งได้มากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มพนักงาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลลดราคาปลายปีของกลุ่มค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น 11.11  12.12  จึงช่วยควบคุมต้นทุนการจัดส่งพัสดุได้

ปัจจุบัน เคอรี่ มีศูนย์คัดแยกพัสดุในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ต่างจังหวัด 10 แห่ง  ทุกศูนย์คัดแยกวางแผนนำเทคโนโลยี Smart Sorting และ Digital Mapping เข้ามาติดตั้งใช้งานทั่วประเทศ รวมทั้งจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้โนว์ฮาวจาก SF Express  มาใช้งานเพิ่มเติม เพื่อมุ่งสู่การเป็น Tech Logistics

หนีสงครามราคาเพิ่มพอร์ตฯลูกค้าทั่วไป

ปัจจุบัน เคอรี่  มียอดรับพัสดุ 1.9 ล้านชิ้นต่อวัน  มีศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ  มียานพาหนะจัดส่ง 18,000 คัน  และมีจุดบริการรับพัสดุ 50,000 แห่ง  ปี 2565 มียอดผู้ใช้รายเดือนประมาณ 18-20 ล้านคน โดยมีบริการจัดส่งพัสดุมี 3 รูปแบบ

1. บุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C)  สัดส่วน 48%  มีจุดให้บริการกว่า 50,000 แห่ง  ทั้งร้านรับพัสดุ ตู้เก็บพัสดุ จุดบริการในร้านค้าพันธมิตร จุดบริการสถานีรถไฟฟ้า BTS

2. ธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) สัดส่วน 50% รองรับแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ, โซเชียล คอมเมิร์ซ และโฮมช้อปปิ้ง บริการส่งผ่านแดน (Cross-border) บริการคลังสินค้าออนไลน์ (e-fulfilment) การจัดการส่งคืนพัสดุ และบริการเก็บเงินปลายทาง (ปี 2565 มียอดเก็บเงินปลายทาง 7,400 ล้านบาท)

3. ธุรกิจ-ส่งถึง-ธุรกิจ (B2B)  สัดส่วน 2% เป็นบริการกลุ่มลูกค้าธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม

จากการแข่งขันสงครามราคาในธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะกลุ่ม B2C ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ที่มักเห็นทำโปรโมชั่นเริ่มต้นที่ 18-19 บาท เพื่อแย่งชิงลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน

“เคอรี่” จึงปรับแผนธุรกิจด้วยการโฟกัสลูกค้าทั่วไป (C2C) มากขึ้น วางเป้าหมายปี 2567 เพิ่มพอร์ตโฟลิโอกลุ่มนี้เป็น 60%  ด้วยบริการไปรับพัสดุถึงบ้าน (Door to Door) ลูกค้าสามารถเรียกรถมารับพัสดุจากหน้าบ้านได้ตั้งแต่ 1 ชิ้นขึ้นไป ราคาเริ่มต้น 35 บาท การบริหารจัดการในส่วนนี้ จะใช้เทคโนโลยี Digital Mapping วางเส้นทาง ให้พนักงานที่จัดส่งพัสดุในเส้นทางเดียวกันกับลูกค้าเรียกใช้บริการเข้าไปรับพัสดุ  หากการใช้บริการรับพัสดุถึงบ้านมีมากขึ้น จะช่วยเคอรี่ ลดต้นทุนการขยายร้านรับพัสดุได้อีกทาง

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like