ทำความรู้จักบริษัทสินค้าอุปโภค อายุ 34 ปี บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท หรือ NEO ที่ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เพื่อเสนอขายหุ้น IPO เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหุ้นน้องใหม่ในธุรกิจ FMCG สัญชาติไทย
สรุป 10 เรื่องน่าสนใจของ “นีโอ คอร์ปอเรท”
1. “นีโอ คอร์ปอเรท” ก่อตั้งในปี 2532 โดยคุณสุทธิเดช ถกลศรี ที่เป็นซีอีโอในปัจจุบัน เดิมชื่อบริษัท ไบโอ คอนซูเมอร์ จำกัด (เปลี่ยนเป็นชื่อ นีโอ คอร์ปอเรท ในปี 2559) ทำธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค (FMCG)
โครงสร้างผู้ถือหุ้น นีโอฯ ปัจจุบัน (ก่อนขายหุ้น IPO)
– กลุ่มครอบครัวคุณสุทธิเดช ถกลศรี (ผู้ก่อตั้ง) ถือหุ้นรวม 87.22%
– กลุ่มบริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 12.78%
จุดเริ่มต้นของ นีโอ ต้องการทำสินค้าอุปโภคที่ดีมีคุณภาพให้เป็นตัวเลือกกับผู้บริโภค ท่ามกลางการแข่งขันกับแบรนด์อินเตอร์จากต่างประเทศ จึงลงทุนตั้งโรงงานผลิต บริษัทวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อทำให้กลยุทธ์ที่ว่าด้วย Product แตกต่างและมีคุณภาพ รวมทั้งดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายเอง
2. ปี 2532 เปิดตัวสินค้าแบรนด์แรก “เอเวอร์เซ้นส์” (Eversense) โคโลญ ที่วางตำแหน่งชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับวัยรุ่นหญิง สร้างความแตกต่างจากโคโลญในตลาดที่จับทุกกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ตั้งแต่ปีแรกถึงปัจจุบัน
3. ปัจจุบันมีสินค้าอุปโภค 3 กลุ่ม รวม 8 แบรนด์
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน (Household Products) ประกอบด้วย 3 แบรนด์ ได้แก่ 1. ไฟน์ไลน์ (Fineline) 2. สมาร์ท (Smart) 3. โทมิ (Tomi)
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care Products) ประกอบด้วย 4 แบรนด์ ได้แก่ 1. บีไนซ์ (BeNice) 2. ทรอส (TROS) 3. เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) 4. วีไวต์ (Vivite)
– กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby and Kids Products) แบรนด์ดีนี่ (D-nee)
4. กลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Portfolio) ทั้ง 8 แบรนด์ ครองส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) ติดอันดับ 1-3 ในทุกหมวดสินค้า
– Eversense ผลิตภัณฑ์แป้ง ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง
– BeNice ผลิตภัณฑ์ครีมอาบน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
– TROS ผลิตภัณฑ์โคโลญ และผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้ชาย
– Fineline ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่ม, ผลิตภัณฑ์รีดผ้าเรียบ
– Smart ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มสูตรแอนตี้แบคทีเรีย
– Tomi ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ
– Vivite ผลิตภัณฑ์โรลออนสำหรับผู้หญิง
– D-nee ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็ก ผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มเด็ก ผลิตภัณฑ์อาบน้ำและสระผมเด็ก
“ทั้ง 8 แบรนด์สินค้าใช้งบการตลาดไม่มาก และต้องแข่งขันกับโกลบอลแบรนด์ ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ share of voice ของ นีโอ มีน้อยมาก แต่ Market Share ในทุกสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปี” คุณปัทมา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ NEO กล่าว
ปัจจุบันทั้ง 8 แบรนด์ทำตลาดแมส วางแผนขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าไปยังกลุ่มพรีเมียมแมสและพรีเมียม มากขึ้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ รวมทั้งออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง อย่างในปี 2565 มีผลิตภัณฑ์ใหม่ 412 รายการ (SKUs)
5. หลังใช้เวลาศึกษาและเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์มา 5 ปี เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 78 ล้านหุ้น หรือ 26% ของจำนวนหุ้นสามัญ โดยแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์ระดมทุนใน SET คือ 1. ขยายกำลังการผลิตสินค้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน 2. เป็นเงินทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจ 3. จ่ายคืนเงินกู้ยืม 4.เพื่อลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภค โดยวางงบลงทุนในช่วง 5 ปีจากนี้ รวม 1,000 ล้านบาท
6. ปัจจุบันโรงงานผลิตสินค้า อยู่ภายใต้ บริษัท นีโอ แฟคทอรี่ (Neo Factory) ปี 2559 ได้ก่อสร้างโรงงานและคลังสินค้าใหม่ที่ รังสิต คลอง 13 บนเนื้อที่ 188 ไร่ เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เติบโตขึ้นตามยอดจำหน่าย
ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ที่ 229,296 ตันต่อปี เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20.86% ต่อปี
คุณณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ NEO กล่าวว่าได้ลงทุนอาคารและระบบคลังจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปอัตโนมัติ (Automated Storage and Retrieval Systems: ASRS) ที่นับว่าทันสมัยแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อรองรับแผนการเติบโตในอนาคต ปัจจุบันสามารถจัดเก็บสินค้าได้ 35,000 พาเลท และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและระบบคลังสินค้าอัตโนมัติรองรับการจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูปประมาณ 10,700 พาเลท
7. ย้อนดูรายได้และกำไร นีโอ ที่เติบโตทุกปี
– ปี 2563 รายได้ 6,767 ล้านบาท กำไรสุทธิ 602 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 7,445 ล้านบาท กำไรสุทธิ 729 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 8,300 ล้านบาท กำไรสุทธิ 568 ล้านบาท
– ปี 2566 (6 เดือน) รายได้ 4,572 ล้านบาท กำไรสุทธิ 339 ล้านบาท
8. นีโอ เริ่มส่งออกสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม ขยายตลาดต่างประเทศในปี 2550 ปัจจุบันส่งออกไปจำหน่ายใน 16 ประเทศ โดยมีตลาดหลัก ได้แก่ ในกลุ่ม CLMV (เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา) ตะวันออกกลาง ตลาดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 15% ของรายได้
9. ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจกว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้า (R&D) ทำวิจัยปีละ 200 วัน แต่ละปีใช้งบประมาณ 5% ของยอดขาย เพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่หลากหลายและครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ตามไลฟ์สไต์ล์ในทุกช่วงอายุ
ในปี 2567 นีโอ มีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม ทั้งตลาดที่มีสินค้าอยู่แล้วและประเภทผลิตภัณฑ์ (Category) ใหม่ๆ เพื่อรองรับกระแสความต้องการของผู้บริโภคและเพื่อนำเสนอสินค้าที่มีความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
10. การนำ “นีโอ คอร์ปอเรท” (NEO) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจครอบครัวไปสู่บริษัทมหาชนที่มาตรฐานในระดับสากล สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและทำตลาดส่งออกมากขึ้น เพื่อสานวิชั่น “นีโอ” สู่การขึ้นบริษัท FMCG แห่งนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชีย
อ่านเพิ่มเติม