หนึ่งในธุรกิจที่ OR ประสบความสำเร็จในกัมพูชา คือ ร้าน Cafe Amazon ภายใต้บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ที่เข้ามาเปิดสาขาตั้งแต่ปี 2556 รวมเวลา 10 ปี ปัจจุบันมี 231 สาขา (ลงทุนเอง 20 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% และแฟรนไชส์ 211 สาขา หรือ 91%)
สาขาส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญ 131 สาขา และจังหวัดอื่น 100 สาขา เปิดทั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และสแตนด์อะโลน ในแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด (จาก 25 จังหวัดในกัมพูชา)
ปัจจุบัน Cafe Amazon เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีสาขาอันดับ 1 ในกัมพูชา ทิ้งห่างคู่แข่งแบรนด์ท้องถิ่น Tube Cafe มี 40 สาขา, Brown Cafe 36 สาขา รวมทั้งแบรนด์อินเตอร์อย่าง Starbucks มี 40 สาขา แม้จำนวนแบรนด์ร้านกาแฟในกัมพูชามีน้อยกว่าไทย แต่ก็แข่งขันรุนแรงเช่นกัน เพราะมีประชากร 17 ล้านคน ต้องแข่งกันแย่งลูกค้า
จากจำนวนสาขาเป็นเบอร์หนึ่ง กลยุทธ์ของ Cafe Amazon จึงไม่เน้นขยายสาขาเยอะ เฉลี่ยปีละ 20-30 สาขา โดยปี 2567 วางไว้ที่ 31 สาขา ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station พร้อมปรับรูปแบบร้านและรีโนเวทสาขาเดิมเพื่อรองรับการแข่งขันธุรกิจ F&B รายใหม่ๆ และตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
หลังจาก Cafe Amazon เปิด Concept Store ที่ประเทศไทยมาแล้วหลายแห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการลงทุนให้กับแฟรนไชส์ ในปี 2566 ได้เปิด Concept Store ในต่างประเทศ เริ่มที่ลาว
ช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 จะเปิด Concept Store แห่งแรกที่พนมเปญ พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ลงทุน 20 ล้านบาท (สาขาปกติพื้นที่ 100-150 ตารางเมตร) วางคอนเซ็ปต์เป็นจุดนัดพบคนรุ่นใหม่ ปรับฟังก์ชั่นการใช้พื้นที่หลากหลาย ทั้งให้เด็กติวหนังสือ นั่งทำงาน จัดประชุม จัดงานเลี้ยง กลางคืนทำเป็นพื้นที่แฮงเอาท์
การเปิด Concept Store ในกัมพูชา เป็นการรีเฟรชแบรนด์ Cafe Amazon ที่เปิดมาแล้ว 10 ปี ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่รู้จักแบรนด์มากขึ้น จากปัจจุบันลูกค้าหลักอยู่ในวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ Cafe Amazon ร้าน Concept Store จะเป็นต้นแบบให้บริการแบบ Full Service บริการมื้ออาหารเที่ยง โดยร่วมมือกับ “ดุสิตฟู้ดส์” บริษัทที่ OR เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย จะเข้ามาพัฒนาเมนูอาหารและเบเกอรี่ เพื่อเสิร์ฟใน Cafe Amazon เป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับ Cafe Amazon นอกจากเครื่องดื่ม
พฤติกรรมคนกัมพูชา กินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเช้า เริ่มเข้าร้านกาแฟตอนเที่ยง ปัจจุบันร้านกาแฟท้องถิ่น Brown Cafe ให้บริการมื้ออาหาร ขณะที่ร้าน F&B รายใหม่ๆ ก็ให้บริการมื้ออาหารเช่นกัน เมื่อลูกค้าเข้าไปใช้บริการแล้วจึงนั่งต่อสั่งเครื่องดื่มกาแฟ
Cafe Amazon จึงต้องปรับมาเสิร์ฟเมนูอาหารเที่ยงด้วย เพื่อดึงลูกค้าให้ซื้อกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ต่อจากมื้อเที่ยง โดยจะทยอยปรับบริการเสิร์ฟมื้ออาหาร ในสาขาอื่นๆ หลังจากเปิด Concept Store ในปี 2567
ในอนาคตหากร้าน “โอ้กะจู๋” ซึ่ง OR เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย เข้ามาขยายธุรกิจในกัมพูชา (อยู่ระหว่างสำรวจตลาด) จะนำเมนูอาหารพร้อมรับประทานมาวางขายที่ Cafe Amazon ด้วยเช่นกัน
รูปแบบร้าน Cafe Amazon ในกัมพูชา เหมือนกับประเทศไทย ทั้งบรรยากาศร้าน การตกแต่ง บริการ Drive Thru (บางสาขา) สำหรับเมนูเครื่องดื่มเหมือนกับประเทศไทยเช่นกัน แต่ราคาเริ่ม 1.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาเฉลี่ยแพงกว่าไทย 20% เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบทุกอย่างจากไทย เมนูเครื่องดื่มขายดี คือ ลาเต้ และชาเขียว
ร้าน Cafe Amazon สาขาปกติทำยอดขายเฉลี่ยวันละ 200-220 แก้วต่อสาขา หากเป็นสาขาขนาดใหญ่ในปั๊ม PTT Station ที่เป็นจุดพัก (Rest Area) ทำยอดขายได้ถึง 1,000 แก้วต่อวัน อีกสาขาขายดีอยู่ที่ สีหนุวิลล์ ขายได้ 900 แก้วต่อวัน โดยเฉลี่ยสาขาในปั๊ม PTT Station ทำยอดขายได้สูงกว่าร้านสแตนด์อะโลน
Cafe Amazon ในกัมพูชา มีสาขาริมพระราชวังหลวง ในพนมเปญ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพราะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวมีลูกค้าทั้งคนกัมพูชาและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการตลอดวัน นอกจากนี้ยังมีสาขา Cafe Amazon for Chance ให้บริการเหมือนในประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้พิการได้ทำงาน
ปัจจุบัน OR ขยายธุรกิจร้าน Cafe Amazon ไปแล้ว 11 ประเทศ รวมประเทศไทยมีสาขา 4,065 สาขา (ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566) ไทยมีสาขามากสุด 3,700 สาขา อันดับ 2 คือ กัมพูชา ที่วางยุทธศาสตร์ให้เป็นบ้านหลังที่ 2
อ่านเพิ่มเติม
- เปิดเหตุผลทำไม OR ปักหมุด ‘กัมพูชา’ เป็นบ้านหลังที่สอง เส้นทาง 10 ปี Cafe Amazon ครองเบอร์หนึ่งร้านกาแฟ
- OR จับมือ DUSIT ลงทุน 300 ล้าน เข้าถือหุ้น ‘ดุสิตฟู้ดส์’ 25% รุกธุรกิจอาหารผ่าน ‘พีทีที สเตชั่น-คาเฟ่ อเมซอน’