หากเอ่ยถึงการทำ Digital Transformation ในเวลานี้ อาจเป็นคำที่ฟังดูไม่ว้าวไปแล้วสำหรับบางอุตสาหกรรม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำ Digital Transformation ยังเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเป็นไปได้ว่า ในปี 2024 กฎระเบียบที่เคร่งครัด และความตึงเครียดของสถานการณ์โลก จะเข้ามากดดันธุรกิจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และผลของมันอาจทำให้สิ่งที่พวกเขาต้องจ่ายนั้น “เข้มข้นและจริงจัง” มากกว่าการลงทุนทำ Digital Transformation อย่างเป็นรูปธรรมก็เป็นได้
ผู้ที่ออกมาเผยถึงความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ในอนาคตก็คือ คุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องใส่ใจ และปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น Digital-First Company ประกอบด้วย
- ธุรกิจไร้พรมแดน ที่นำมาซึ่งโอกาส ความเสี่ยง และการแข่งขันที่รุนแรงใน Digital Landscape โดยผู้เล่นที่ข้ามพรมแดนมานั้น มีทั้งผู้เล่นจากต่างประเทศ และผู้เล่นจากต่างอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดเดิมหากไม่มีจุดเด่นในตัวเองมากพอ ก็อาจต้องเข้าสู่การแข่งขันด้านราคาเพื่อให้ยังแข่งขันได้
- ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างกันของผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย เช่น กลุ่ม Gen Z ที่เป็น Digital Native และต้องการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวมาอยู่บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น
- การทำงานแบบ Gig Worker ที่รับค่าตอบแทนตามจำนวนงานที่ทำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากความต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้นของพนักงาน และทำให้พนักงานในอนาคตมีความผูกพันกับองค์กรน้อยลง
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ แรงกดดันด้าน Environmental, Social and Corporate Governance (ESG) และความเสี่ยงจากเทคโนโลยี อาทิ จริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และภัยคุกคามไซเบอร์ ที่กำลังกดดันให้องค์กรต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถของตนเองด้วย
เปิด 7 Tech Capabilities สำคัญรับปี 2024
จากความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น การทำ Digital Transformation ขององค์กรต่าง ๆ จึงต้องเกิดขึ้นต่อไป แต่สิ่งที่คุณพชร ให้ทัศนะเพิ่มเติมก็คือ บริบทของการทำ Digital Transformation ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์โลก ซึ่งในมุมของผู้บริหารบลูบิค มองว่า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับความสามารถด้านเทคโนโลยี 7 ข้อดังต่อไปนี้
Democratization of Generative AI (Gen AI)
การทำให้เทคโนโลยี Gen AI เข้าถึงคนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในแง่มุมต่าง ๆ ให้ธุรกิจ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็วมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การลดงานซ้ำซาก และยกระดับการเข้าถึงลูกค้าผ่านการหา Customer Insights ด้วย AI เพื่อสร้างคอนเทนต์สำหรับลูกค้าเฉพาะราย นอกจากนี้ Gen AI ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทำให้เกิดธุรกิจสตาร์ตอัปใหม่ ๆ ที่อาจเข้ามาดิสรัปธุรกิจรูปแบบดั้งเดิม และองค์กรที่ไม่ได้ใช้ Gen AI จะถูกคู่แข่งที่ใช้งานทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ
Multiexperience (MX)
เป็นการสร้างประสบการณ์การใช้บริการและซื้อสินค้าอย่างราบรื่นให้แก่ลูกค้า ครอบคลุมทุกจุดสัมผัสบนช่องทางดิจิทัล (Digital Touchpoints) และการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม เช่น Website, Super App, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearables) เป็นต้น
Event-Driven Nano Architecture (EDNA)
เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยนาโนเซอร์วิส (Nanoservices) ที่แยกออกจากกัน ซึ่ง EDNA มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาบริการในแต่ละส่วนงานระดับนาโน รวมถึงปรับเพิ่มและลดขนาดการใช้ทรัพยากรได้อย่างอิสระกว่า Microservice ของ Event-Driven Architecture (EDA) และไม่กระทบบริการอื่นหากบางเซอร์วิสมีปัญหา อีกทั้งยังลดความซับซ้อนในขั้นตอนการทำงานและต้นทุน ด้วยเหตุนี้ EDNA จึงเป็นขีดความสามารถสำคัญในการสร้าง Digital Ecosystem ที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางธุรกิจได้ทุกแง่มุม โดยคุณพชร ระบุว่า ปัจจุบันมีลูกค้าของบลูบิคทั้งในไทยและต่างประเทศนำแนวคิด EDNA ไปปรับใช้กับบริการของตนเองแล้ว โดยส่วนใหญ่อยู่ในสถาบันการเงิน
Generative Cybersecurity AI
เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้งาน Generative AI เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลรั่วไหล และช่องโหว่การโจมตี เป็นต้น โดยใช้ Autoregressive Generative Large Language Models (LLMs) สื่อสาร หาและเพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้าง Security Use Cases นอกจากนี้ Generative Cybersecurity AI ยังสามารถประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบ ติดตาม ระบุ ความผิดปกติบนระบบและรายงานผลให้ผู้ใช้งาน/ผู้ให้บริการทราบ ผ่านการโต้ตอบด้วยภาษามนุษย์ (Natural Language) เช่นเดียวกันกับใช้งาน Generative AI เพื่อหาคำตอบที่ต้องการ
AI-Enhance Security Operations
เป็นเทคโนโลยี AI ที่เปรียบได้กับกระบวนการหลังบ้าน (Backend Process) ของระบบดำเนินการด้านความปลอดภัย ที่มาเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยและแนวทางการตอบสนองต่อภัยคุกตามในรูปแบบต่าง ๆ โดย AI – Enhance Security Operations ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์ ค้นหา ไล่ล่าไวรัสมัลแวร์ และนำเสนอวิธีการรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้องค์กรสามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น
AI for Sustainability
เป็นการใช้ AI ช่วยปรับปรุงระบบการดำเนินงานและจัดการกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอน ปัจจุบันนอกจากการใช้โมเดล AI ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีการใช้ AI เฝ้าสังเกต คาดการณ์ ลดการปล่อยคาร์บอนและปรับปรุงประสิทธิภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่น การพยากรณ์อากาศ การปรับปรุงระบบรีไซเคิลและจัดการของเสีย การจัดเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
ESG Management and Reporting
เป็นกระบวนการบริหารจัดการและจัดทำรายงานด้าน ESG ที่จะเข้ามาช่วยองค์กรรับมือกับแรงกดดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดการภายในองค์กรจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ของหน่วยงานต่าง ๆ และคู่ค้า โดยอาศัยซอฟต์แวร์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ อาทิ โมเดลและการวิเคราะห์ขั้นสูง (Modeling and Advanced Analytics) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้าน ESG ให้แก่องค์กรอีกด้วย
“ลงทุนใน AI” เทรนด์มาแรงแห่งปี 2024
สำหรับการลงทุนของภาคธุรกิจไทยในปี 2024 นั้น คุณพชรให้ความเห็นว่า ธุรกิจไทยมีแนวโน้มลงทุนใน AI สูงสุด โดยเฉพาะภาคการเงิน ที่ต้องดูแลด้านการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ขาดเงินทุน ทำให้ถูกบริษัทขนาดใหญ่ทิ้งห่างออกไปทุกทีนั้น คุณพชรแนะนำว่า อยากให้ลองใช้งานเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายก่อน เช่น ChatGPT เพื่อทำความเข้าใจในความสามารถของ AI เพียงแต่ผู้ประกอบการ SME ไทยในวันนี้อาจยังไม่ได้หยิบความสามารถเหล่านั้นออกมาใช้เลย
“ปัญหาที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ประสบความสำเร็จคือ 1) คน ขาดความรู้ความเข้าใจ หรือไม่มี Incentive ให้เขา เมื่อขาดความรู้ก็จะเกิดแรงต้าน – ไม่เชื่อมั่นใน Direction ขององค์กร 2) คือการยึดติดกับธุรกิจแบบเดิม ๆ เช่น ลงทุนสร้างสาขาไว้เยอะ พอจะไปดิจิทัล ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสาขาเหล่านั้น และ 3) การวางกลยุทธ์ ที่สะเปะสะปะ ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้จริง”
“ผู้คน เทคโนโลยี และธุรกิจ กำลังเชื่อมโยงกันมากขึ้นทุกวัน และพร้อมส่งผลกระทบซึ่งกันและกั