HomeBrand Move !!“วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง” กับ 11 อนาคตการใช้ AI ที่คนไทยไม่ควรตกขบวน

“วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง” กับ 11 อนาคตการใช้ AI ที่คนไทยไม่ควรตกขบวน

แชร์ :

คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ImpactMind AI และ Insiderly.ai

ปี 2023 เป็นอีกหนึ่งปีที่ Generative AI (หรือ Gen AI) กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก โดยหนึ่งใน Gen AI ที่กลายเป็นที่รู้จัก และมีการใช้งานอย่างกว้างขวางก็คือ ChatGPT ผลงานการพัฒนาของ OpenAI ที่ถูกจับตาว่าอาจทำรายได้ทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้เลยทีเดียว ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Gen AI ได้รับความนิยมจนนำไปสู่รายได้มหาศาลของผู้พัฒนามาจากความสามารถในการตอบสนองที่ทำได้แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อีกทั้งยังมีความเข้าใจในภาษา และโต้ตอบได้ตรงกับบริบทของการสนทนา จึงไม่แปลกที่จะพบการนำ Gen AI ไปใช้ในสายงานต่าง ๆ มากมาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ความนิยมของ Gen AI ยังทำให้ Bloomberg Intelligence มีการคาดการณ์ว่า ตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มจะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2032 (ในปี 2022 ตลาดดังกล่าวมีมูลค่าเพียง 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) และจะทำให้ตลาดผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้าน AI เติบโตขึ้นจนมีมูลค่าแตะ 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งบริษัทที่ลงทุนด้าน AI อย่าง AWS, Microsoft, Google และ Nvidia ถูกเก็งกันว่า จะเป็นผู้คว้าชัยในท้ายที่สุดของการแข่งขันรอบนี้

เปิด 11 เทรนด์อนาคต การใช้ AI ที่คนไทยต้องรู้

เมื่อหันมามองที่ประเทศไทย ก็พบว่า หลายภาคส่วนมีการขับเคลื่อนเพื่อนำ AI มาใช้ในองค์กร รวมถึงใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคเช่นกัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเข้าใจใน AI คืออีกหนึ่งเทรนด์ที่คนไทยต้องให้ความสำคัญเพื่อจะได้เผชิญหน้ากับปี 2024 โดยที่ไม่ตกขบวนรถไปเสียก่อน

ภายในงานสัมมนา “UNLOCK THE FUTURE by Brand Buffet : CHALLENGE of 2024″ คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ImpactMind AI และ Insiderly.ai จึงได้มีการกล่าวถึง 11 รูปแบบการปรับใช้ AI รอบตัวเราเอาไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งทั้ง 11 รูปแบบของการใช้ AI มีดังต่อไปนี้

1. The Rise of AI Partners & Co-Pilot

การใช้ AI ในฐานะพาร์ทเนอร์ หรือผู้ช่วยส่วนตัวกำลังจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และที่น่าสนใจก็คือ AI เหล่านี้สามารถเป็นได้หลายบทบาท เช่น ที่ปรึกษา มือขวาซีอีโอ นักวิเคราะห์ โค้ชฟิตเนส หรือติวเตอร์ ฯลฯ เหล่านี้คือตำแหน่งงานที่คุณวรวิสุทธิ์ได้ยกตัวอย่างในเวทีสัมมนา

2. Job Impact

แน่นอนว่า เมื่อ AI เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงมาก Gen AI ก็ย่อมทำให้งานบางส่วนหายไป เช่น งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ หรืองานที่ทำให้มนุษย์รู้สึกเบื่อ โดยคุณวรวิสุทธิ์ยกตัวอย่างการแทนที่คอลเซนเตอร์ด้วย Conversational AI ในสหรัฐอเมริกา ที่พบว่ามีการใช้ AI โทรไปหาลูกค้าเพื่อขายสินค้า และคนที่คุยอยู่นั้นจับไม่ได้ว่าพวกเขากำลังคุยกับ AI แถมกระบวนการคุยนั้น สามารถดึงดูดลูกค้าจนสามารถพาลูกค้าไปจองรถเทสล่า (Tesla) ได้ ซึ่งตอนนี้ AI กลุ่มดังกล่าวกำลังปั่นป่วนอเมริกา และมีคนอยากใช้งานเป็นจำนวนมาก

3. การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

ประเทศที่บุคลากรสามารถใช้งาน AI ได้จะสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่าเดิม โดยคุณวรวิสุทธิ์ได้ยกตัวอย่างสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีการใช้งาน AI เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีผลทำให้การพัฒนาด้านการเขียนโปรแกรมของสิงคโปร์แซงหน้าอินเดียได้ด้วย

4. Embedded & Wearable AI

นอกจากโลกของซอฟต์แวร์แล้ว โลกของฮาร์ดแวร์ที่มีการผนวก AI เข้าไปก็สามารถสร้างอิมแพคได้เช่นกัน โดยคุณวรวิสุทธิ์ได้ยกตัวอย่างของอุปกรณ์ขนาดเล็ก ผลงานการพัฒนาของอดีตวิศวกรแอปเปิลที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าจอ หรือไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างเหมือนสมาร์ทโฟน แต่ก็สามารถให้คำตอบ แปลภาษา หรือช่วยงานมนุษย์ได้ไม่ต่างจากสมาร์ทโฟน

5. E-Commerce at Scale with Virtual Influencers

รูปแบบการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซจะเปลี่ยนไปจากการมาถึงของ Gen AI โดยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือการสร้าง Virtual Influencer ทั้งแบบที่โคลนจากอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง (ซึ่งอาจมีค่าตอบแทนให้กับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้น) และแบบที่สร้าง Virtual Influencer ขึ้นมาโดยเฉพาะโดยทีมพัฒนาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ซึ่ง Virtual Influencer เหล่านี้จะทำให้โลกของการค้าขายออนไลน์เกิดขึ้นได้แบบ 24/7 เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพักผ่อน และไม่ต้องมีวันหยุดแบบมนุษย์นั่นเอง

6. Revolutionize Healthcare

Gen AI ยังเข้ามาช่วยในแวดวงการแพทย์ โดยในงานสัมมนา คุณวรวิสุทธิ์ได้ยกตัวอย่างการใช้ Gen AI ที่เข้ามาช่วยกระบวนการรักษาให้ทำได้รวดเร็วขึ้น เช่น การช่วยแพทย์อ่านฟิล์ม อ่านผลตรวจต่าง ๆ

7. Education with Learning Buddy

อีกหนึ่งการใช้งาน Gen AI ก็คือการเป็นผู้ช่วยด้านการเรียน โดยมีการยกตัวอย่างแอปพลิเคชัน เช่น GoodNote ที่มีการนำ AI มาช่วยในการพิมพ์ การสะกดคำ การเติมคำ (Autocomplete words) เป็นต้น


8. AI for climate change

การใช้ AI เพื่อต่อต้านภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างที่มีการกล่าวถึงในเวทีสัมมนาคือการใช้ AI ช่วยตรวจจับการเกิดไฟป่า ผลงานการพัฒนาของ Austin Energy ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในชื่อ Pano AI และมีการทำงานร่วมกับกล้องความละเอียดสูง เพื่อตรวจจับการเกิดควันในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเมื่อระบบพบควัน Pano AI จะมีการโทรเข้า 911 พร้อมแจ้งตำแหน่งที่ชัดเจนให้กับหน่วยดับเพลิงที่ใกล้ที่สุด รวมถึงสามารถประเมินได้ว่า จะต้องหยุดจ่ายไฟฟ้าหรือไม่

9. AI + Metaverse

เป็นการนำ Metaverse เข้ามาจับมือกับเทคโนโลยี AI เช่น การเรียนผ่าตัดผ่านเวอร์ชวล (ด้วยการใส่กล้อง) และมีโปรเฟสเซอร์จากทั่วโลกเข้ามาช่วยสอน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้โอกาสในการเรียนแพทย์ของผู้คนเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางขึ้น

10. AGI (Artificial General Intelligence)

เป็น AI ที่ฉลาดมากขึ้น เรียนรู้เก่งขึ้น และเป็นสิ่งที่อีลอน มัสก์ – Sam Altman รู้สึกกังวล

11. The Rise of AI-Powered Indentity Spoofing

สิ่งที่ Gen AI สามารถทำได้ไม่ได้มีแต่ด้านบวกเพียงอย่างเดียว แต่ด้านลบก็มีเช่นกัน โดยคุณวรวิสุทธิ์กล่าวถึงการใช้ AI ในการปลอมตัวตนเลียนแบบมนุษย์ เช่น การบันทึกเสียงของเราจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ จากนั้นให้ AI เลียนเสียงดังกล่าวและโทรไปหลอกครอบครัว – คนใกล้ชิดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทางการเงิน พร้อมยกตัวอย่าง กรณีธนาคาร Chase ที่คอลเซนเตอร์ของธนาคารถูกหลอกด้วยเสียงปลอมจาก AI และทำให้อาชญากรสามารถทำธุรกรรม (ถอนเงินออกจากบัญชีของลูกค้า) ได้ในที่สุด ซึ่งนอกจากกรณีของธนาคาร Chase แล้ว ในหน้าเพจของคุณวรวิสุทธิ์เองก็ได้เตือนเกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ด้วยเทคนิคเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง

จากทั้ง 11 เทรนด์ที่เกิดขึ้นในงานสัมมนาในหัวข้อ The Future of AI อาจทำให้หลายคนตระหนักในศักยภาพของ AI กันมากขึ้น และในปี 2024 ก็เชื่อได้ว่า การพัฒนา AI จะยังคงดำเนินต่อไป และอาจทำให้เราได้เห็นการนำ Gen AI ไปใช้งานในอีกหลายอุตสาหกรรม โดยสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่น่าจับตามากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2024 อย่างแน่นอน

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like