HomeDigitalเปิดรายชื่อ 3 หน่วยงานเข้าใช้ Gen AI จาก Google เล็งจัด “Hackathon” ช่วยขรก.ไทยเข้าใจเทค

เปิดรายชื่อ 3 หน่วยงานเข้าใช้ Gen AI จาก Google เล็งจัด “Hackathon” ช่วยขรก.ไทยเข้าใจเทค

แชร์ :

คุณแจ็กกี้ หวาง Country Director Google ประเทศไทย และคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

Google เผยความคืบหน้าการทำ MOU กับรัฐบาลไทย เริ่มแล้วใน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ Big Data Institute (BDI) พร้อมเสนอแนวทางการอบรมข้าราชการไทยโดยทีมวิศวกรส่งตรงจาก Google ผ่านการจัด Hackathon คาดฟีเจอร์แรกที่จะนำไปพัฒนาคือ “แชทบอท” ช่วยให้ข้อมูลประชาชน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ความคืบหน้าจากการลงนามใน MOU ของรัฐบาลไทยกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Google ได้รับการเปิดเผยในงาน  “Digital Samart Thailand” ซึ่งจัดขึ้นโดย Google ประเทศไทย โดยในส่วนของร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา พบว่ามีดังนี้

    • 3 หน่วยงานแรกที่จะได้เข้าถึง Generative AI ของ Google ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน)
    • บุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้จะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำ Generative AI อย่าง Vertex AI มาใช้เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง
    • Vertex AI คือแพลตฟอร์มของ Google Cloud เพื่อการพัฒนา และโครงสร้างพื้นฐาน AI สำหรับหน่วยงานที่ต้องการสร้างโซลูชันด้าน AI
    • สำหรับรูปแบบในการใช้งาน AI จาก Google ในระยะแรกอาจเป็นการใช้แชทบอทในการให้ข้อมูลที่จำเป็นกับประชาชน และจะมีการจัดอบรมพร้อมกับจัดกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) เพื่อให้ข้าราชการไทยได้ช่วยกันระดมความคิดว่าควรจะใช้เทคโนโลยีไปให้บริการประชาชนได้อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวอยู่ภายใต้นโยบาย Go Cloud First ซึ่งเป็นนโยบายที่นำคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติระดับนานาชาติจาก Google มาเป็นแนวทางในการร่างนโยบายฯ เช่น การอนุญาตให้มีการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลพร้อมด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยผ่านคีย์การเข้ารหัส และการกำหนดประเภทของข้อมูลที่อาจจะต้องจ้ดเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมของคลาวด์ที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped) โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เป็นผู้เร่งดำเนินการตามนโยบายนี้ และจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

คุณ Karan Bajwa รองประธาน Google Cloud ของเอเชียแปซิฟิก

ด้านคุณ Karan Bajwa รองประธาน Google Cloud ของเอเชียแปซิฟิกให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ของ Google Cloud  จะเกิดขึ้นผ่านการสร้าง Used cases ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศ พร้อมยกตัวอย่างกรณีของเมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล ที่มีการนำ AI จาก Google เข้าไปช่วยคาดการณ์การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ของรถไฟในหน่วยงานอย่าง Sao Paulo Transit โดยระบบสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ ทำให้ลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะไม่พอใจจากการที่หัวรถจักรเสีย หรือไปทำงานไม่ทันได้ เป็นต้น

“คลาวด์-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้-Gen AI”

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ด้าน คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย”

“เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่เราได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน”

“เรื่องที่สองคือการวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Framework) โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. (National Cyber Security Committee: NCSC) จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้”

“เรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจ AI ยุคใหม่”

เพิ่ม 4 คอร์สออนไลน์ อัปทักษะดิจิทัล

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย

นอกจากอัปสกิลด้านเทคโนโลยีให้กับข้าราชการไทยใน 3 หน่วยงานแล้ว Google  ยังมีการเพิ่มคอร์สออนไลน์ในโครงการ Samart Skills อีก 4 คอร์สด้วย (ทั้งหมดเป็นคอร์สภาษาอังกฤษ) ได้แก่

  • ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)
  • การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics)
  • ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence)
  • การสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python)

คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เพื่อให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้น ทางบริษัทจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) มอบทุนการศึกษาเพิ่มเติม  อีก 12,000 ทุนไปจนถึงสิ้นปี 2567 ทำให้ในภาพรวมของโครงการ บริษัทได้มีการมอบทุนการศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 34,000 ทุน และปัจจุบันมีผู้ได้รับประกาศนียบัตรจากโครงการดังกล่าวแล้ว 5,500 ราย

คุณแจ็กกี้ หวัง Country Manager Google ประเทศไทย

คุณแจ็กกี้ หวัง Country Manager Google ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายถึงพันธกิจของ Google ว่า ในปี 2565 ธุรกิจต่าง ๆ ในไทยได้นำผลิตภัณฑ์และโซลูชันด้าน AI ของ Google ไปใช้ ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลทั้งระดับสูงและระดับกลางเพิ่มขึ้นอีก 600,000 คนภายในปี 2570 ซึ่งการลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลนี้สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 เลยทีเดียว

 


แชร์ :

You may also like