HomeDigitalGrab เผยอินไซต์ฟู้ดเดลิเวอรี-ควิกคอมเมิร์ซ ชู 6 เทรนด์มาแรง สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

Grab เผยอินไซต์ฟู้ดเดลิเวอรี-ควิกคอมเมิร์ซ ชู 6 เทรนด์มาแรง สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

แชร์ :


แกร็บ ประเทศไทย(Grab)
เผยอินไซต์ผู้ใช้บริการเดลิเวอรีผ่านรายงาน “เทรนด์การสั่งอาหารและของใช้ในบ้านปี 2566” (Food & Grocery Trend Report 2023) โดยได้ศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีและการสั่งสินค้าควิกคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการทั่วประเทศ พบ 6 เทรนด์มาแรง โดยเฉพาะเทรนด์ออมนิคอมเมิร์ซ (Omnicommerce) ที่ผู้บริโภคหันมาใช้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีในการเชื่อมต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น สะท้อนผ่านบริการกินที่ร้าน (Dine-in) และรับเองที่ร้าน (Self Pick-Up) ที่เติบโตขึ้นกว่า 23 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2564 เผย “ส้มตำปูปลาร้า” และ “กาแฟ” ครองแชมป์เมนูสุดฮิตแห่งปีด้วยยอดสั่งกว่า 4.4 ล้านออเดอร์และ 4.6 ล้านแก้วผ่าน GrabFood ขณะที่ “ไข่ไก่” และ “น้ำดื่ม” ยังคงเป็นฮอตไอเท็มที่ถูกสั่งมากที่สุดผ่าน GrabMart

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย เผยว่าปี 2566 ถือเป็นปีที่เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเดลิเวอรีอย่างมีนัยสำคัญ โดยเราเริ่มเห็นผู้บริโภคมีการผสมผสานการใช้ชีวิตนอกบ้านเข้ากับพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างปรับตัวและพัฒนาบริการเพื่อให้สามารถตอบรับกับพฤติกรรมและบริบทที่เปลี่ยนไป สำหรับแกร็บ เราได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาเราได้เปิดตัวหลายฟีเจอร์ใหม่ อาทิ กินที่ร้าน (Dine-in) ที่ครอบคลุมตั้งแต่การค้นหาและรีวิวร้านอาหาร ไปจนถึงการนำเสนอดีลส่วนลดสำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้าน ขณะเดียวกันยังได้เน้นโปรโมตฟีเจอร์รับเองที่ร้าน (Self Pick-up) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ โดยพบว่ายอดการสั่งซื้อของทั้งสองบริการเติบโตขึ้นกว่า 23 เท่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของซูเปอร์แอปที่มีการพัฒนาและเป็นมากกว่าผู้ให้บริการจัดส่งอาหารหรือสินค้าเท่านั้น

ทั้งนี้ แกร็บได้จัดทำรายงาน เทรนด์การสั่งอาหารและของใช้ในบ้าน ปี 2566” เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี ทั้งการสั่งอาหารและการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวัน พร้อมสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแกร็บใน 6 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยพบเทรนด์ที่สำคัญในประเทศไทย คือ

  • เทรนด์ออมนิคอมเมิร์ซ (Omnicommerce) มาแรง: ผู้บริโภคมีการใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารเพื่อเชื่อมต่อกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งสะท้อนผ่าน 2 ฟีเจอร์ที่มาแรง นั่นคือ รับเองที่ร้าน (Self Pick-up) และ กินที่ร้าน (Dine-in) โดยมียอดสั่งซื้อจากทั้งสองฟีเจอร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 เติบโตขึ้นกว่า 23 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564  ขณะที่ฟีเจอร์รับเองที่ร้านมียอดใช้บริการในไตรมาส 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 140% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ 5 โอกาสที่ผู้ใช้บริการนิยมไปรับประทานอาหารนอกบ้าน คือ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษ รับประทานอาหารกับครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง ออกเดท และทานมื้อเที่ยงกับเพื่อนร่วมงาน 
  • การสั่งอาหารแบบกลุ่ม  (Group Order) ครองใจหนุ่มสาวออฟฟิศอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในปีที่ผ่านมาคือการสั่งอาหารแบบกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มักใช้ฟีเจอร์นี้สั่งอาหารกลางวันมารับประทานร่วมกันในที่ทำงาน โดยในปีนี้มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 1.8 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  และผู้ใช้บริการมียอดใช้จ่ายต่อออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 2.2 เท่า 
  • แอปพลิเคชันสั่งอาหารกลายเป็นช่องทางสำคัญในการค้นหา (Search): จากผลสำรวจผู้ใช้บริการพบว่า แอปพลิเคชันสั่งอาหารถือเป็นช่องทางที่คนไทยนิยมใช้ในการค้นหาร้านอาหารมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง (71%) สูงกว่าช่องทางโซเชียลมีเดียหรือแม้แต่เว็บไซต์เสิร์ชเอ็นจิน ขณะที่ 95% ของผู้ใช้บริการแกร็บเลือกค้นหาร้านอาหารหรือร้านค้าใหม่ๆ เพื่อทดลองใช้บริการผ่านเมนูเสิร์ชบนแอปพลิเคชัน Grab
  • เรตติ้งและรีวิว (Rating & Review) มีอิทธิพลต่อการลองร้านใหม่: การได้รับคะแนนเรตติ้งที่ดีและมีรีวิวในเชิงบวกมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางเดลิเวอรีให้กับร้านอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเรตติ้งและรีวิวกลายเป็นหนึ่งในสามปัจจัยหลักที่คนไทยใช้ประกอบการตัดสินใจเมื่อต้องการลองสั่งอาหารจากร้านที่ไม่เคยสั่งมาก่อน เพราะช่วยการันตีความนิยมและสร้างความมั่นใจในด้านรสชาติอาหารและบริการของร้านนั้นๆ
  • แพ็กเกจสมาชิก (Subscription Package) ยังคงได้รับความนิยมและเติบโตต่อเนื่อง: ปัจจุบันผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันหันมาสมัครแพ็กเกจสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรับส่วนลดและสิทธิประโยชน์ที่มากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่ม Heavy User หรือผู้ที่มียอดใช้จ่ายสูง โดยผู้ใช้แพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited มียอดใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 2.6 เท่า และมีความถี่ในการใช้บริการต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 2.1 เท่า
  • ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจรักษ์โลก (Environmentally conscious): คนไทยกว่า 36% ยินดีที่จะจ่ายราคาที่สูงขึ้นเพื่อสนับสนุนแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่กว่า 97% มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนแบรนด์ที่มีนโยบายการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ใช้บริการแกร็บที่เข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพิ่มมากขึ้น 1.7 เท่า ผ่านการบริจาคเงิน 1 บาทในทุกการสั่งอาหารหรือสินค้าเพื่อนำไปใช้ปลูกต้นไม้

นอกจากนี้แกร็บยังได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสั่งอาหารและการสั่งซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันของผู้ใช้บริการในประเทศไทยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โดยพบว่า

พฤติกรรมการสั่งอาหารผ่าน GrabFood:

5 เมนูที่ผู้ใช้บริการนิยมสั่งมากที่สุดตลอดทั้งปี คือ ส้มตำปูปลาร้า กาแฟดำ ชาเขียวเย็น ลาบหมู ชาไทย

– ส้มตำปูปลาร้า กลายเป็นเมนูสุดฮิตแห่งปี โดยมีออเดอร์รวมทั้งปีสูงถึงกว่า 4.4 ล้านจาน  

– กาแฟ ยังคงเป็นเครื่องดื่มขายดีตลอดกาล  ซึ่งในปีนี้มียอดสั่งรวมทั้งสิ้นมากกว่า 4.6 ล้านแก้ว

– อาหารวีแกน คือเมนูที่มาแรงที่สุด โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เมนูท้องถิ่นยอดนิยมในแต่ละภาค ประกอบด้วย

– ภาคเหนือ: ขนมจีนน้ำเงี้ยว ข้าวซอยไก่ ไส้อั่ว

– ภาคกลาง: กาแฟเย็น คอหมูย่าง ข้าวมันไก่

– ภาคอีสาน: ส้มตำปูปลาร้า ลาบหมู คอหมูย่าง

– ภาคใต้: ชาชัก ข้าวหมกไก่ ไก่ทอด

5 เมนูขายดีในช่วงปีใหม่ คือ พิซซ่า หมาล่า ไก่ทอด แซนด์วิช และเบอร์เกอร์

พฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันผ่าน GrabMart: 

  • 5 สินค้ายอดนิยมที่ผู้ใช้บริการสั่งตลอดทั้งปี คือ ไข่ไก่ น้ำดื่ม ผักสด นม และน้ำแข็ง
    – ตลอดปีที่ผ่านมา มียอดสั่งไข่ไก่ไปแล้วกว่า 10 ล้านฟอง และ น้ำดื่มกว่า 9 ล้านขวด
    – ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว คือสินค้าที่มาแรงที่สุด โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • 5 สินค้าขายดีในช่วงปีใหม่ คือ กระเช้ารังนก ดอกไม้ เซ็ตผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและเครื่องสำอาง ไอศกรีม และ ขนมขบเคี้ยว

แชร์ :

You may also like