หัวเว่ย (Huawei) ลงนาม MOU กับกระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศพัฒนา AI แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทย พร้อมดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาค คาดเห็นผลใน 4 ปี
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นในงานประชุม Huawei Cloud AI Summit Thailand 2023 โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี AI สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้าน AI แล้ว ยังสนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็มด้านคลาวด์ และการ Reskill – Upskill เพื่อสร้างบุคลากรดิจิทัลที่ประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนด้วย
สำหรับการพัฒนา AI คุณประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องทำอย่างจริงจัง พร้อมระบุว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นฮับด้าน AI ในภูมิภาคอาเซียน และจะมีการชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น นักธุรกิจจากจีนเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะเห็นผลใน 4 ปี
สำหรับการพัฒนา AI แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับประเทศไทยนั้นพบว่าประกอบด้วยโมเดลสำหรับภาษาไทย โมเดลสำหรับการพยากรณ์สภาพอากาศ และโมเดลสำหรับรัฐบาล รวมถึงโซลูชัน AI สำหรับภาคการเงินและภาคค้าปลีก โดยคุณประเสริฐ กล่าวถึงการร่วมมือในส่วนนี้ว่า จะมีการลงทุนด้าน Infrastructure เช่น การตั้ง Data Center ตลอดจนการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์เพิ่มเติม พร้อมกล่าวด้วยว่า การตั้ง Data Center อยู่ในประเทศไทยว่ามีส่วนสำคัญต่อเรื่องความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูลอย่างยิ่ง
ด้านคุณเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการจับมือกับสถาบันการศึกษาของไทยเพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงบริการ Huawei Cloud ด้วย
เปิดตัวโมเดล Pangu พยากรณ์อากาศใน 10 วินาที
สำหรับโมเดล AI ที่พัฒนาขึ้นและนำมาใช้กับประเทศไทยนั้น หนึ่งในตัวอย่างก็คือโมเดลผานกู (Pangu) ที่หัวเว่ยได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย สำหรับช่วยภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยโมเดลนี้เหนือกว่าการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (numerical weather prediction – NWP) ในแง่ของความเร็ว เช่น สามารถพยากรณ์เส้นทางของพายุไต้ฝุ่นในช่วง 10 วันข้างหน้าได้ในเวลาเพียง 10 วินาที ขณะที่ระบบเดิมอาจใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
หรือในส่วน AI สำหรับภาครัฐ Huawei Cloud สามารถเข้าไปช่วยในกระบวนการทำงานของรัฐบาลและภาคการปกครองเต็มรูปแบบ เช่น คำร้องจากประชาชนจะได้รับการมอบหมายโดยอัตโนมัติ และทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้รัฐบาลสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนำเสนอโมเดลด้าน AI ต่าง ๆ แล้ว หัวเว่ยยังได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคม AI และพันธมิตรเปิดตัว Cloud & AI Community Thailand เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ด้วย
“เราตั้งเป้าในการเปลี่ยนผ่านไว้ 4 ปี และเป้าหมายสุดท้ายก็คือการเป็น AI Hub ของอาเซียน ซึ่งการจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นต้องมีหลายสิ่งที่ต้องทำ เช่น การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลสู่รัฐบาลดิจิทัล” คุณประเสริฐกล่าว