“นิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประเทศ เพราะแต่ละปีทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากพูดถึงผู้เล่นในตลาดนี้ หลายคนต้องนึกถึง “บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ “WHA Group” อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์มากว่า 20 ปี จากเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1 ล้านบาท ก่อนจะเติบโตและขยายพอร์ตธุรกิจไม่หยุดจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ขับเคลื่อนธุรกิจชั้นนำของไทยใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท
เบื้องหลังการขับเคลื่อนอาณาจักรแสนล้านนี้ มีหญิงเก่งอย่าง “คุณจรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHA Group เป็นคนสำคัญในการปลุกปั้น เราจึงพามาถอดมุมมอง วิธีคิดการทำธุรกิจ และเรื่องราวระหว่างทางของสาวเก่งคนนี้ รวมถึงโอกาสและความท้าทายในปี 2567 ในงานสัมมนาประจำปี 2566 Brand Buffet กับหัวข้อ UNLOCK THE FUTURE : Future of Industrial Estate
จากเซลล์ยา สู่เจ้าของธุรกิจ
แม้จะมีประสบการณ์ในธุรกิจโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรมมานานกว่า 20 ปี ทั้งยังสร้างอาณาจักรยิ่งใหญ่ แต่ใครจะคิดละว่า WHA Group เกิดจากซีอีโอหญิงที่จบวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คุณจรีพร ให้เหตุผลที่เลือกเรียนด้านนี้ เพราะมองว่า การมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์จะช่วยให้มีมุมมองการคิดวิเคราะห์ และไม่เชื่อ หรือสงสัยเสมอ เพื่อพิสูจน์หาคำตอบ พอเรียนจบ เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นรีเทลยา ถัดจากนั้นไม่นาน ก็ตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง ธุรกิจแรกคือ พลาสติก เพราะเห็นช่องว่างตลาดที่คนไทยยังใช้พลาสติกน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากนั้นธุรกิจพลาสติกก็พัฒนาและเติบโตขึ้นเรื่อยมา
“ตั้งแต่ 10 ขวบ ตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าต้องสร้างธุรกิจของตัวเอง เพราะไม่ชอบทำงานประจำหรือนั่งทำตามคำสั่ง พอเรียนจบ ก็ทำงานเป็นรีเทลยา เพราะพี่คนหนึ่งบอกว่า บุคลิกน่าจะเหมาะ และบอกว่าเป็นงานขายยา ด้วยความชอบในงานขาย ก็ตัดสินใจทำ แม้ไม่มีความรู้เรื่องยาเลย อีก 3-4 ปีต่อมาก็เปิดบริษัท Trading Company ด้านพลาสติก กระทั่งวันหนึ่งมีพาเลทพลาสติกตัวหนึ่งต้องส่งเข้าแวร์เฮ้าส์ แต่พอส่งไป กลับเกิดปัญหาเพราะแวร์เฮ้าส์ไม่ตอบโจทย์ จึงมานั่งศึกษา บวกกับเห็นว่าต้นทุนโลจิสติกส์ไทยตอนนั้นสูงมาก อยู่ที่ 18% ขณะที่อเมริกาอยู่ที่ 9% อีกทั้งผู้ประกอบการในตลาดส่วนใหญ่เป็นโลคอล จึงสนใจธุรกิจโลจิสติกส์ ในปี 2003 จึงก่อตั้ง WHA Group ขึ้น”
คุณจรีพร บอกถึงแรงบันดาลใจแรกเริ่ม ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การทำธุรกิจและต่อยอดมาสู่ WHA Group ซึ่งตอนเริ่มทำธุรกิจแรก เธอมีอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น และไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจพลาสติกเลย แต่ก็ไม่หวั่น เพราะคิดว่าอายุยังน้อย หากล้มก็สามารถเริ่มต้นทำใหม่ได้ โดยในช่วงแรกๆ เริ่มจากการสร้าง Demand ก่อน เพราะคนยังใช้พลาสติกน้อย รวมถึงสร้างแบรนด์ของตัวเอง จนทำให้กลุ่มลูกค้าเริ่มรู้จัก และค่อยๆ ขยายธุรกิจจนเติบโตเรื่อยมา
ชอบความท้าทาย และไม่หยุดนิ่ง ต่อยอดสู่ WHA Group
ด้วยความเป็นคนชอบความท้าทาย บวกกับไม่ชอบอยู่นิ่งแบบเดิม ต้องคิดสิ่งใหม่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อธุรกิจแรกสำเร็จ คุณจรีพรจึงคิดใหญ่ ด้วยการก่อตั้ง WHA Group ในตอนนั้นเธอตัดสินใจทุ่มหมดตัว พร้อมทั้งออกแบบคลังสินค้าในคอนเซ็ปท์ใหม่เป็น Buit-to-Suit โดยเป็นคลังสินค้าที่ออกแบบตามความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ แต่ด้วยคอนเซ็ปท์ที่ค่อนข้างใหม่ จึงใช้เวลา Convince ลูกค้าอยู่นาน 2 ปี ถึงได้ลูกค้าคอนแทคแรก โดยเป็น Consumer Product สัญญาคอนแทคคือ 15 ปี ส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติหันมาสนใจมากขึ้น
จากนั้น WHA Group ก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มขยายธุรกิจสู่นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน จนปัจจุบันก้าวมาเป็นผู้นำการให้บริการแบบครบวงจร ครอบคลุมใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการโลจิสติกส์, ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจดิจิทัล รวมถึงขยายธุรกิจออกนอกประเทศ โดยเริ่มเข้าไปในประเทศเวียดนาม
“จริงๆ เราสนใจเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2005 เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก แต่ตอนนั้นเวียดนามมีปัญหาเงินเฟ้อสูง จึงยังไม่เข้าไปลงทุน กระทั่ง 4-5 ปีต่อมา เวียดนามเริ่มพัฒนาประเทศ จนมีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงขึ้น และสามารถดึงนักลงทุนเข้าไปในประเทศได้มากขึ้น ในปี 2016 เราจึงตัดสินใจเข้าไปลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดเหงะอานเป็นจังหวัดแรก เพราะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ทั้งยังมีประชากรวัยแรงงานกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราสนใจ โดยปัจจุบันเหงะอานติด 1 ใน 6 ของจังหวัดที่ดึงดูด FDI จากตอนแรกๆ ที่เราเข้าไปลงทุน FDI เหงะอานเป็นอันดับท้ายๆ จากทั้งหมด 63 จังหวัด”
คุณจรีพร บอกสาเหตุที่เลือกลงทุนในเวียดนาม และปัจจุบันได้ขยายการลงทุนเพิ่มอีก 2 จังหวัดคือ ถั่งหัว ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเวียดนาม รวมถึงมีทำเลตั้งอยู่ใกล้ฮานอย และจังหวัดกว๋างนาม เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของเวียดนาม
“สติ” เคล็ดลับก้าวข้ามทุกปัญหา
แม้จะชอบความท้าทาย แต่คุณจรีพรมองชีวิตของเธอแต่ละช่วงเหมือนการเดินทาง และเจอความยากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่ยากที่สุดคือ ช่วงที่ตัดสินใจซื้อนิคมอุตสาหกรรม เพราะทำให้มีหนี้กว่า 7,000 ล้านบาท จากที่ไม่เคยมีหนี้ เพราะต้องเพิ่มทุน และกู้เงินจากแบงก์ ซึ่งตอนนั้นเครียดมาก และระหว่างทางก็เจอสารพัดปัญหาเข้ามา จนคิดว่าจบโปรเจคนี้ ไม่ทำอีกแล้ว จากนั้นก็กลับมาตั้งสติ แล้วลุกขึ้นสู้ มีการวางแผนหนึ่ง แผนสอง แผนสาม กระทั่งทุกอย่างสำเร็จตามแผนที่วางไว้ และสามารถคืนเงินจนครบใน 2 ปี
นับตั้งแต่นั้นมา เวลาเจอเรื่องอะไรในชีวิต คุณจรีพร บอกว่า ไม่เครียดอะไรอีกแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องมี “สติ” พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับพาร์ทเนอร์ สถาบันการเงิน และทีมงานให้เกิดมั่นใจว่าสามารถจะนำบริษัทก้าวข้ามปัญหาและเติบโตกว่าเดิมได้
สำหรับทิศทางนับจากนี้ คุณจรีพร บอกว่า WHA Group จะไม่ได้ทำแค่อินฟราสตรัคเจอร์อีกต่อไป แต่ต้องการก้าวไปเป็น Tech Company โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาออกแบบโซลูชั่นและบริการให้กับลูกค้า ซึ่งการจะก้าวถึงเป้าหมายได้นั้น หัวใจสำคัญคือ ต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นกลุ่มไหน และแต่ละกลุ่มต้องการอะไร รวมถึงอัพเดทเมกะเทรนด์ตลอดเวลา เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว จึงต้องจับเทรนด์มาผนวกเข้ากับความต้องการลูกค้าเพื่อออกแบบบริการให้สอดรับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ยกตัวอย่าง Green Logistic เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม เพราะช่วยลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงต้องนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่ง หรือนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้รถจาก 1,000 คันเหลือ 700 คัน หากทำได้ นั่นหมายความว่าจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายของลูกค้าลดลงทันที
“พี่เป็นคนอัพเดทเทรนด์ตลอดเวลา เพราะชอบและเริ่มศึกษาจริงจังมาตั้งแต่ปี 2017 เพราะช่วงนั้นเริ่มรู้สึกว่าตัวเราไม่รู้อะไรเลย เพราะโลกและข้อมูลเปลี่ยนเร็วมาก ก็มานั่งคิดว่าถ้าเทคโนโลยีเปลี่ยน 4 กลุ่มธุรกิจที่มีอยู่ซึ่งเป็นอินฟราสตรัคเจอร์สำคัญของการพัฒนาประเทศจะถูกดิสรัปไหม คำตอบคือ ไม่ เพราะเมื่อเทคโนโลยีมา จะเกิดธุรกิจอีคอมเมิร์ช ซึ่งต้องการระบบโลจิสติกส์ในการขนส่ง แต่ภาพธุรกิจจะเปลี่ยนไป ทำให้ต้องปรับวิธีการทำธุรกิจ โดยนำเทคโนโลยีมา Adopt กับธุรกิจเดิมให้ได้ จึงทำให้เริ่มคิดเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น”
คุณจรีพร บอกว่า ดิจิทัล ดิสรัปชั่นในแบบ WHA Group จะแบ่งเป็น 2 เรื่องคือ ดิจิทัล อินโนเวชั่น และ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพราะช่วงแรกคนและระบบหลังบ้านยังไม่พร้อม จึงเริ่มจากคนที่พร้อมก่อนออกไปจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีข้างนอก พร้อมกับค่อยๆ เปลี่ยน Mindset คน และวัฒนธรรมองค์กรใหม่ กระทั่งในปี 2022 บริษัทสามารถครีเอทเทคโนโลยีด้วยคนในองค์กร และมีการเสริมทีมดิจิทัลเข้ามาเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทพร้อมจะก้าวสู่การเป็น Tech Company ภายใน 3 ปี
นอกจากนี้ ในปีหน้าจะมีการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะ AI อยู่ในทุกส่วน และช่วยในกระบวนการทำงานอย่างมาก ตั้งแต่ Internal Process ในการวิเคราะห์และคาดการณ์ต่างๆ แม้กระทั่งสามารถนำดาต้าลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ดีมานด์ ยอดขาย และการผลิตได้ ทั้งยังนำ AI มาใช้ในธุรกิจพลังงานเพื่อให้รู้ว่าโซลาร์ไม่จ่ายไฟจุดไหน และเก็บข้อมูลการใช้พลังงาน ทำให้สามารถออกแบบการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้ในการบริหารจัดการน้ำ
“เราไม่คิดว่าเทคโนโลยีเป็นต้นทุน แต่มองว่าเป็นการลงทุน เพราะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลง ลดระยะเวลาทำงาน ขณะเดียวกันยังเกิดการสร้างรายได้และธุรกิจใหม่ในอนาคตได้ด้วย ที่หลายคนมองว่าเป็นต้นทุน เพราะอาจจะไม่ได้ศึกษาลงลึก โดยจ้างที่ปรึกษามาทำ ส่งผลให้ต้องลงทุนมหาศาล แต่เราใช้เงินน้อยมากในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพราะเราใช้บุคลากรภายในทั้งหมด และกระตุ้นให้คนคิดและทำแต่ละเรื่องไปด้วยกัน”
ปี 2567 ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง และโอกาส
คุณจรีพร มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ยังมี “ความเสี่ยง” และ “โอกาส” แต่ภาพรวมเชื่อว่าจะดีกว่าปีนี้ โดยจีดีพีไทยปีนี้เติบโตอยู่ที่ 2.8% เนื่องจากรายได้หลายส่วนไม่ได้เข้ามาอย่างที่คิด เช่น นักท่องเที่ยว ส่วนปีหน้านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา ส่งออกจะฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้จีดีพีน่าจะเติบโตราว 3.8 – 4.2% โดยความเสี่ยงแรกคือ สงคราม เป็นประเด็นต่อเนื่องจากปีนี้ หลายคนอาจมองว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งหากไม่ขยายวงกว้าง อาจไม่ส่งผลกระทบ แต่กลับกันหากขยายวงกว้าง อาจจะกระทบมาถึงไทยได้
ต่อมาคือ สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ยังเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งความเสี่ยงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม เพราะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานทุนมายังภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น ไทยต้องวางแผนดึงอุตสาหกรรมเข้ามาเพิ่มเติม นอกจากความแข็งแกร่งในด้านยานยนต์ และอีวี ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไฮเอนด์ และแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board) เพราะไทยมีจุดแข็งเรื่องอินฟาสตรัคเจอร์ที่ดีกว่าหรือความมั่นคงเรื่องพลังงาน
“การเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ไม่ได้กังวลว่าจะกระทบกับคนที่ทำรถยนต์แบบ ICE มากมาย เพราะค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน ซึ่งในปี 2030 รัฐบาลประกาศนโยบายแล้วว่า การผลิตรถ EV ในประเทศต้องมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ตลาดจะเติบโตมากขึ้น โดยการเปลี่ยนถ่ายรอบนี้จะมี New Supply chain เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย และถ้าเราสามารถทำได้ก็จะเป็นฮับของ EV สมบูรณ์แบบ”
คุณจรีพร ย้ำถึงโอกาสของ EV ในไทย พร้อมกับบอกว่า ที่ผ่านมารถ EV ที่จำหน่ายในไทยเป็นการนำเข้ารถมาทั้งหมด ตามมาตรการ EV 3.0 โดยให้ส่วนลดผู้ซื้อสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน และยังไม่มีรถกระบะอีวี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ปรับตัว แต่ปัจจุบันต่อยอดมาสู่มาตรการ EV 3.5 โดยเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ครอบคลุมทั้งรถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตอนนี้หลายแบรนด์จึงผลิตแบตเตอรี่เอง อีกทั้งรถยนต์ EV หลายรุ่นเริ่มทำการผลิตและประกอบในไทย และหลายแบรนด์เริ่มผลิตกระบะอีวีออกมาทำตลาดกันอย่างคึกคัก
นอกจากเรื่องสงครามการค้าแล้ว ดอกเบี้ย เป็นอีกปัจจัยสำคัญ หากปีหน้ามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก อาจจะกระทบเรื่องต้นทุนทางการเงินได้ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากธุรกิจรายย่อยที่ออกหุ้นกู้ ซึ่งเป็นหุ้นกู้ไม่มี Rating และในปีหน้าจะมีหุ้นกู้กลุ่มนี้ครบกำหนด ท่ามกลางดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจจะทำให้เกิดการผิดนัดชำระขึ้นมาได้ และส่งผลกระทบลามไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา แต่หากสามารถออกจำหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่มาทดแทนรุ่นเดิม (Roll Over) ได้ ก็ไม่มีปัญหา
ผู้นำยุคใหม่ไม่ง่าย ต้องรู้ “เทคโนโลยี” และพร้อม “รับมือ” ทุกการเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเร็วกว่าเดิม ทำให้ คุณจรีพร มองว่า เป็นงานหนักของผู้นำในยุคนี้ ฉะนั้น คนที่อยู่ในฐานะผู้นำจึงต้องปรับตัว โดยต้องเป็นผู้นำที่ มองการณ์ไกลและพร้อมรับมือการปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Visionary & Resilience) รวมถึง ต้องรู้เทคโนโลยี โดยต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอะไรกับธุรกิจ และองค์กรสามารถนำเทคโนโลยีนั้นมา Adopt ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร และรับฟังความคิดเห็นคนในองค์กร เพื่อให้การทำงานปราศจากปัญหาและก้าวเดินไปพร้อมกัน
“จริงๆ คนรุ่นใหม่มีความรู้และทักษะดิจิทัลเป็นอย่างดี เพราะเขาเติบโตมากับเรื่องเหล่านี้ จึงไม่ค่อยห่วงเด็กรุ่นใหม่ แต่บางทีจะมองแต่โลกของตัวเอง เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้น ทักษะที่ต้องการจากคนรุ่นใหม่คือ การเข้าใจคนอื่นและมองโลกออกจากโลกของตัวเองมากขึ้น เพราะการทำธุรกิจ เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ต้องมีพาร์ทเนอร์และทีม” คุณจรีพร บอกถึง Soft Skill ที่มองหาจากเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาในองค์กร