HomeBrand Move !!เส้นทาง 6 ปี ‘เฟิร์น นัทธมน’ สร้างธุรกิจ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ขึ้นทำเนียบอายุน้อยพันล้าน

เส้นทาง 6 ปี ‘เฟิร์น นัทธมน’ สร้างธุรกิจ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ขึ้นทำเนียบอายุน้อยพันล้าน

แชร์ :

“สุกี้ตี๋น้อย” แบรนด์ที่เริ่มต้นในปี 2561 โดย คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ในวัย 25 ปี ครบรอบ 6 ปี มี 55 สาขา ในปี 2566 “ตี๋น้อย” เคลื่อนไหวครั้งสำคัญกับการแตกแบรนด์ขยายธุรกิจใหม่ ร้านข้าวแกงตี๋น้อย ปันสุข, ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส (Teenoi Express) ร้านสุกี้พรีเมียม และ ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่ ร้านเครื่องดื่ม-ขนมหวาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจร้านอาหาร แต่ช่วงเวลา 6 ปี “สุกี้ตี๋น้อย” สร้างแบรนด์และธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และกำไร กับตัวเลขปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท กำไรสุทธิ 591 ล้านบาท และปี 2566 ทำได้มากขึ้นไปอีก ทำให้ชื่อของ “คุณเฟิร์น นัทธมน” เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นสู่ทำเนียบ “อายุน้อยพันล้าน” อย่างรวดเร็ว

พร้อมดึงดูดกลุ่มทุนใหญ่ บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ JMART เข้ามาร่วมถือหุ้น บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) เจ้าของธุรกิจร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” สัดส่วน 30% มูลค่าลงทุน 1,200 ล้านบาท นั่นทำให้กิจการ BNN มีมูลค่า 4,000 ล้านบาท (ณ ปี 2565)

ตามดูแรงบันดาลใจและบทเรียนการสร้างธุรกิจ “ตี๋น้อย” รวมทั้งเส้นทางต่อจากนี้ของ “คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช” ผู้ก่อตั้งสุกี้ตี๋น้อย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ในงานสัมมนา UNLOCK THE FUTURE by Brand Buffet ปลดล็อคอนาคตสู่การตลาดยุคใหม่ กับหัวข้อ Future of Food & Restaurant สัมภาษณ์โดย คุณบุ๋ม บุณยานุช บุญบำรุงทรัพย์ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Branding and Marketing บริษัท มานะ ปิติ ดีใจ จำกัด

คุณบุ๋ม บุณยานุช บุญบำรุงทรัพย์ – คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช

เริ่มต้นเจ้าของกิจการ “สุกี้ตี๋น้อย” ในวัย 25 ปี

“สุกี้ตี๋น้อย” ที่ก่อตั้งโดย คุณเฟิร์น นัทธมน เมื่อปี 2561 เกิดจากหลังจบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากต่างประเทศ ในวัย 22 ปี ได้เริ่มต้นชีวิตทำงานออฟฟิศเป็นพนักงานระดับ Entry Level ทั่วไป ดูแลแบรนด์ลักชัวรี่ นำเข้าจากต่างประเทศ แม้เป็นงานที่สนุก แต่ก็รู้สึกว่าอยู่ใน Comfort Zone หลังจากทำงานอยู่ 3 ปี ตื่นเช้ามาเริ่มไม่อยากไปทำงานอีกแล้ว มองว่า “พนักงานออฟฟิศมันไม่ใช่เส้นทางของเรา” จึงตัดสินใจ “ลาออก” ในวัย 25 ปี

ตอนนั้นมี Passion “ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง” สนใจธุรกิจร้านอาหาร เพราะครอบครัวมีแบ็คกราวด์ทำร้านอาหารอยู่แล้ว คือสวนอาหาร “เรือนปั้นหยา” (ปิดกิจการแล้ว) จึงศึกษา pain point, ช่องโหว่ ที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งมาจากการเป็นร้านอาหารที่มีทั้งครัวไทย ครัวจีน ครัวฝรั่ง จึงต้องมีพ่อครัวจำนวนมาก อาหารควบคุมรสชาติให้เหมือนกันได้ลำบาก ต้นทุนวัตถุดิบสูงจากเมนูหลากหลาย ขยายสาขายาก

หลังจากปรึกษากับครอบครัวแล้วจึงตัดสินใจทำ “ร้านอาหาร” ที่ควบคุมดูแลได้ง่ายทั้งวัตถุดิบและบุคลากร และมีเป้าหมายต้องการขยายสาขาจำนวนมาก จึงเลือกทำ “ร้านสุกี้” ที่มองว่าไม่น่าจะยากเกินไปสำหรับตัวเองที่ไม่มีประสบการณ์ร้านอาหารและประสบการณ์บริหารคนมาก่อน

ภาพจาก FB : sukiteenoithailand

นั่นคือจุดเริ่มต้นของร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” ในปี 2561 โดยเลือกเปิดเป็นร้านบุฟเฟ่ต์สุกี้ ที่เห็นช่องว่างในตลาดยังไม่มีร้านไหนเสิร์ฟในราคา 199 บาท (ปัจจุบันราคา 219 บาท) เป็นราคาที่จับต้องได้ โดยชื่อแบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” ได้แรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ที่มาจากครอบครัวจีน เป็นลูกคนเล็ก และเป็นชื่อที่จำง่ายเข้ากับกลุ่มแมสได้ดี

“สุกี้ตี๋น้อย” สร้างจุดขายร้านขนาดใหญ่บรรยากาศร้านเทียบได้กับร้านอาหารในศูนย์การค้าหรือภัตตาคาร อีกจุดแตกต่างคือเปิดบริการตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 5.00 น. เพื่อให้คนที่ไม่ได้ทำงานตามเวลาออฟฟิศทั่วไป มาใช้บริการได้

ด้วยจุดขายเหล่านี้ทำให้ “สุกี้ตี๋น้อย” เป็น talk of the town มีอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวจำนวนมาก เป็นที่รู้จักของลูกค้าและมาใช้บริการประจำ จึงขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว มีเจ้าของพื้นที่ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ มาเสนอพื้นที่ให้เข้าไปเปิดสาขาจำนวนมาก ระยะเวลา 6 ปีของ “สุกี้ตี๋น้อย” เปิดร้านได้จำนวน 55 สาขา ปี 2566 ได้เริ่มไปเปิดในต่างจังหวัดมากขึ้น

ความสำเร็จของสุกี้ตี๋น้อย สะท้อนจากรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นทุกปี

– ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 3,976 ล้านบาท กำไร 591 ล้านบาท

บทเรียนสุกี้ตี๋น้อย 6 ปี ลงมือ “ทำงานเองทุกหน้าที่”

ตลอดระยะเวลา 6 ปี “สุกี้ตี๋น้อย” ประสบความสำเร็จด้านรายได้และกำไร นอกจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกปี คุณเฟิร์น ได้เรียนรู้บทเรียนธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่จุดที่เริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง ทั้งงานหลังบ้าน งานหน้าร้าน การจัดซื้อวัตถุดิบ บริหารสต็อก การบริหารพนักงาน การทำบัญชี แม้ทุกอย่างจะดูเป็นเรื่องพื้นฐานของการทำร้านอาหาร แต่ถือเป็นเรื่องใหม่ของคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนและต้องเรียนรู้ไปทีละอย่าง

เฟิร์น เริ่มต้นร้านสุกี้ตี๋น้อยเองทุกอย่าง เหมือนเป็นคนทำงานคนหนึ่ง ช่วงแรกๆ ทำงานเองทุกหน้าที่ เหมือนไม่ได้เป็นเจ้าของร้าน เรียนรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อมีสาขามากขึ้นจึงสอนงานคนอื่น เพื่อให้มาทำหน้าที่แทนไปทีละจุด

จากวันเริ่มต้นสุกี้ตี๋น้อย เมื่อ 6 ปีก่อน ไม่มีพนักงานงานออฟฟิศ มีแต่พนักงานประจำสาขา สาขาแรกมี 10 คน มาถึงวันนี้มีสุกี้ตี๋น้อย 55 สาขา มีพนักงานออฟฟิศกว่า 100 คน พนักงานทั้งหมด 4,000 คน

ปีแรก (ปี 2561) เปิด 2 สาขา สาขาแรกย่านบางเขน เป็นตึกเช่าของครอบครัว สาขาที่ 2 เลียบด่วนเอกมัยรามอินทรา ใช้คลับเก่ามารีโนเวทใหม่ จึงเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้าง เพดานสูง มีโต๊ะอาหารจำนวนมาก ที่จอดรถกว้างขวาง ตกแต่งบรรยากาศหรูไม่ต่างจากร้านอาหารในห้าง แต่ราคาบุฟเฟ่ต์ 199 บาท จึงกลายเป็น talk of the town ทำให้คนรู้จักมากขึ้น การขยายสาขาจำนวนมากเกิดขึ้นหลังโควิด เปิดปีละกว่า 10 สาขา

ช่วงที่เปิดสาขาจาก 20 สาขาไป 30 สาขา เป็นช่วงที่ทำงานยากที่สุด ยากกว่าช่วงเริ่มต้น เพราะช่วงแรกสาขาไม่มากสามารถดูแลเองได้ทุกสาขา เรียกว่ารู้จักพนักงานทุกคน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละสาขาได้ทันที

แต่หลังจากขยายสาขาได้จำนวน 20 สาขาขึ้นไป ถึงปัจจุบัน 55 สาขา (ณ เดือนธันวาคม 2566) ก็มาถึงจุดที่เหนื่อยมาก ปัญหาเยอะมาก และต้องทำให้ทุกคนต้องเห็นวิชั่นระยะยาวของ “ตี๋น้อย” ร่วมกัน เพื่อให้ทุกทีมทำงานร่วมกันไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้

ช่วง 2 ปีนี้ ถือเป็นช่วงของการสร้างคน สร้างทีม ให้ความสำคัญกับการโฟกัสพนักงานภายใน ต่างจากช่วงแรกโฟกัสลูกค้าเป็นหลัก เพื่อตอบสนองความต้องการให้ได้ทุกด้าน

บุฟเฟ่ต์ 219 บาทกับบริการเกินความคาดหมาย

ธุรกิจของ BNN เริ่มต้นด้วยร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ไม่ได้ขายแค่โปรดักท์ แต่ขายการบริการด้วย จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจ F&B แต่คือ Hospitality สิ่งที่เป็นความท้าทายคือการเทรนนิ่งพนักงานบริการที่มีกว่า 4,000 คน เพื่อให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน มีใจในการทำงานบริการให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน

ด้วยแนวคิดธุรกิจ Hospitality การเทรนนิ่งงานบริการในทุกตำแหน่ง ผู้ที่ไปใช้บริการสุกี้ตี๋น้อยคงคุ้นตากันดีกับภาพของพนักงานบริการตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟไปถึงพนักงานเก็บโต๊ะ ที่มีความนอบน้อมกับลูกค้าแสดงออกด้วยการไหว้ทุกครั้ง

คุณเฟิร์น เล่าว่าที่มาของการเทรนนิ่งพนักงานให้เหมือนธุรกิจ Hospitality มาจากประสบการณ์ที่ได้ไปใช้บริการร้านอาหารหรูและโรงแรม 5 ดาวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และประทับใจการบริการ อย่างโรงแรม 5 ดาว พนักงานทำสวน รดน้ำต้นไม้ เมื่อเห็นลูกค้าเดินผ่าน ก็ไหว้หรือกล่าวสวัสดีทักทายลูกค้าทุกครั้ง ไม่ใช่เฉพาะพนักงานที่ดูแลด้านบริการเท่านั้น

เมื่อมาทำร้านอาหาร จึงมองว่าทำไมจะทำให้ร้านสุกี้ตี๋น้อยเป็นแบบนั้นไม่ได้ จึงเป็นโจทย์ให้ทีมเทรนนิ่งว่าต้องการให้การบริการในร้านสุกี้ตี๋น้อย “เกินความคาดหมาย” เป็นแบบร้านอาหารหรูหรือโรงแรม 5 ดาว โดยไม่จำเป็นต้องมองว่าเป็นร้านสุกี้บุฟเฟ่ต์ 219 บาท จะให้สิ่งนี้ไม่ได้

แม้เราขายบุฟเฟ่ต์สุกี้ 219 บาท ก็ไม่ได้แปลว่าให้บริการตามราคา แต่ต้องการให้เป็นมาตรฐานบริการ 5 ดาว จึงเทรนนิ่งพนักงานร้านสุกี้ตี๋น้อย ไม่ว่าตำแหน่งใดให้ไหว้ลูกค้าทุกคน ต้องมีความสุภาพ นอบน้อม กล่าวสวัสดี ยิ้มแย้มกับลูกค้า เป็นสิ่งที่พยายามจะทำได้เหมือนกันทุกสาขา

 

เทรนด์ร้านอาหารปี 2024 ปีแห่ง “หม่าล่า”

สำหรับธุรกิจร้านอาหารในปี 2023 ในมุมมองของคุณเฟิร์น เห็นได้ชัดว่าเทรนด์ที่มาแรงคือ “หม่าล่า” ที่ไม่ใช่แค่ชาบู สุกี้ แต่ได้รับความนิยมกระทั่งของหวาน มองว่าปี 2024 ก็ยังคงเป็นเทรนด์อาหารจีน “หม่าล่า” ต่อไป ร้านอาหารต่างๆ ต้องปรับเมนูตามเทรนด์ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าในทุกรูปแบบ

“สุกี้ตี๋น้อย” เองก็ต้องปรับตัวตามความต้องการลูกค้าเช่นกัน ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีแต่น้ำซุปใสกับน้ำซุปดำมาตลอด ก็ต้องทำน้ำซุปหมาล่า มาเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน หลังจากนี้ก็จะมีน้ำซุปใหม่ๆ เข้ามาเป็น Seasonal ตามกระแสนิยมแต่ละช่วง

“เวลาออกสินค้าใหม่ จะต้องถามลูกค้าทุกครั้งว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างน้ำซุปหม่าล่า พบว่าลูกค้า 60% ไม่เคยกินมาก่อน เพราะลูกค้าตี๋น้อยเป็นกลุ่มแมส จึงอยากลองสินค้าใหม่ หากเป็นลูกค้าที่คุ้นเคยกับอาหารจีนอยู่แล้วก็จะรู้จักหม่าล่า การออกสินค้าใหม่จึงต้องสำรวจฟีคแบ็คลูกค้าทุกครั้งและปรับรสชาติให้เหมาะกับลูกค้า แต่ยังคงจุดขายเรื่องความเข้มข้นในทุกน้ำซุป”

ปี 2023 เป็นปีที่ “ตี๋น้อย” มีความเคลื่อนไหวตลอดปีทั้งการขยายสาขาสุกี้ตี๋น้อยไปต่างจังหวัด เปิดแบรนด์ใหม่ ร้าน “ข้าวแกง ตี๋น้อยปันสุข” ราคาเริ่มต้น 39 บาท เป็นโปรเจกต์ที่ทำขึ้นมาเพื่อบริหารวัตถุดิบในร้านสุกี้ตี๋น้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ให้เกิด food waste , “ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่” ร้านเครื่องดื่มและขนมหวาน, “ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส” ราคาเดียว 439 บาท เพื่อมาเป็นอีกตัวเลือกให้ลูกค้าในกลุ่มพรีเมียม วัตถุดิบที่มีความหลากหลาย เนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ แบบที่ไม่มีในร้านสุกี้ตี๋น้อย นอกจากนี้มีน้ำซุปและน้ำจิ้มมากขึ้น

ส่วนร้านสุกี้ตี๋น้อยเองก็ขยายสาขาเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักแล้ว จึงได้รับความสนใจจากเจ้าของพื้นที่ในการเป็นแม่เหล็กดึงคนเข้ามาในพื้นที่ จึงทำให้ขยายสาขาได้เร็วขึ้น แต่ละสาขาจะให้พื้นที่ 600 ตารางเมตรต่อสาขา จึงมีข้อจำกัดในการเข้าศูนย์การค้า เพราะใช้พื้นที่เยอะ และเปิดบริการถึงตี 5 ส่วนใหญ่สาขาจึงอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ แต่ละสาขาลงทุนประมาณ 18 ล้านบาท หากเป็นรูปแบบสแตนด์อโลนลงทุน 25 ล้านบาท

6ปี สุกี้ตี๋น้อยสู่ทำเนียบ “อายุน้อยพันล้าน”

การสร้างธุรกิจในวัย 25 ปี โดยไม่มีประสบการณ์มาก่อน ใช้เวลา 6 ปี ทำให้ร้านสุกี้ตี๋น้อยเป็นที่รู้จัก ทำยอดขายในปี 2565 ได้ 4,000 ล้านบาท ปี 2566 เปิดแบรนด์ใหม่อีก 3 แบรนด์ คือ ร้านข้าวแกงตี๋น้อยปันสุข, ตี๋น้อย ป๊อปอัพ คาเฟ่ และตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส ในมุมของการทำธุรกิจต้องเรียกว่า คุณเฟิร์น เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก้าวสู่ทำเนียบ “อายุน้อยพันล้าน”

มาถึงวันนี้ในวัย 31 ปี คุณเฟิร์น บอกว่าหากให้มองตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าความสำเร็จเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ยังไม่รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ เพราะงานเยอะมาก ปัญหาก็เยอะ เป็นการทำงานที่ต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในระยะยาว และทำให้ธุรกิจขยายได้อย่างมั่นคงยั่งยืน

วันนี้สุกี้ตี๋น้อย 6 ปีแล้ว มี 55 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และเริ่มไปต่างจังหวัดมากขึ้น เป็นภาพที่ไม่ได้คิดไว้ในวันที่เริ่มต้นทำธุรกิจ แม้คนจะบอกว่าสุกี้ตี๋น้อยประสบความสำเร็จ แบรนด์เป็นที่รู้จัก แต่เฟิร์น ยังไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ แต่ภาพของสุกี้ตี๋น้อยในวันนี้เป็นสิ่งที่ เฟิร์น ภูมิใจมาก ที่มาถึงทุกวันนี้ได้ และอยากทำให้ลูกค้าชอบให้มากขึ้น เป็นแบรนด์ที่ทำได้เกินความคาดหวังของผู้บริโภค จึงเป็นแรงกดดันในการทำงานที่อยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ตอนเริ่มต้นสุกี้ตี๋น้อย ใช้ชื่อบริษัทว่า BNN Restaurant Group ที่ไม่ได้ใช้ชื่อบริษัทสุกี้ตี๋น้อย เพราะตั้งใจให้เป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ที่มีความหลากหลาก และต้องการขยายธุรกิจ (Scale) ให้ใหญ่ขึ้น มีสำนักงานส่วนกลาง ปี 2565 ที่ผ่านมามีรายได้เกือบ 4,000 ล้านบาท โดยมี “เจมาร์ท” เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย 30% เป้าหมายต่อไปของ BNN คือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567

ทุกวันนี้ทำงานก็ยังรู้สึกท้าทาย สนุก และตื่นเต้นตลอดเวลากับการขยายสาขาใหม่ แบรนด์ใหม่ และคิดว่าตัวเองจะเก่งกว่านี้ได้ไหม ความสามารถของตัวเองจะไปได้ถึงจุดไหน (ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขรายได้) จะทำให้แบรนด์หลัก สุกี้ตี๋น้อย จะไปได้ไกลกว่านี้แค่ไหน เพราะยังเห็นโอกาสเปิดสาขาทั่วประเทศไทย มีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่ได้ไป และหวังว่าจะไปขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ความสำเร็จของคุณเฟิร์น ในการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 25 ปี ถือเป็นอีกนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เป็นแรงบันดาลใจของคนในยุคนี้ คุณเฟิร์น ฝากแนวคิดการทำงานให้กับคนที่ต้องการสร้างกิจการเป็นคนตัวเองว่า “สิ่งแรกต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอ ว่าสิ่งที่เราชอบจริงๆ คืออะไร”

“หลายคนอยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากเป็นเจ้านายตัวเอง แต่บางครั้งอาจไม่ใช่อย่างที่คิด ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราพร้อมที่จะเหนื่อย ไม่มีวันหยุด ไม่ได้แฮงเอาท์กับเพื่อน บอกเลยว่า Work Life Balance ไม่มี เป็นความจริงของการเป็นเจ้านายตัวเอง จึงต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต อะไรที่ทำให้ตัวเองมีความสุข เมื่อตอบตัวเองได้แล้วก็เดินทางไปตามเส้นทางนั้น”

จุดเริ่มต้นสร้างธุรกิจสุกี้ตี๋น้อย ที่ทุกคนบอกว่าประสบความสำเร็จ “เฟิร์น มาเส้นทางนี้ เพราะรู้ตัวเองว่าไม่ต้องการทำงานซ้ำเดิมทุกวัน (routine) เป็นคนที่มี ambitious เป็นแรงผลักดันให้อยากทำธุรกิจ วันนี้มีความสุข สนุกกับงานทุกวัน แม้จะเหนื่อย ไม่มีเวลามากนัก แต่สนุกกว่าการทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ที่งานสบาย ว่างเยอะกว่า แต่ก็เลือกงานในแบบทุกวันนี้ เพราะรู้สึกมีความหมายกับชีวิต”

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like