วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง ได้นัดฟังคำไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จากกรณีมีผู้คัดค้านของเจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัยในการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยกฎหมายและการที่สินมั่นคงประกันภัยขอนับคะแนนโหวตแผนฟื้นฟูกิจการใหม่
ล่าสุด “กรมบังคับคดี” ได้ออกประกาศคดีสินมั่นคงประกันภัย วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 90/48 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้กลับเป็นของผู้บริหารของลูกหนี้และสภาวะพักการชำระหนี้ (Automatic Stay) สิ้นสุดลง มาตรา 90/74 และ 90/12 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
จากคำสั่งดังกล่าว ทางเว็บไซต์ “สินมั่นคงประกันภัย” ได้ประกาศการหยุดรับประกันวินาศภัยทุกประเภททันที
ย้อนเหตุการณ์ “สินมั่นคงประภันภัย” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่ง “ให้ฟื้นฟูกิจการ” บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟู
สาเหตุที่ “สินมั่นคงประกันภัย” ต้องยื่นฟื้นฟูกิจการ มาจากการรับประกันภัยในไตรมาสแรก ปี 2565 มีผลขาดทุนสูงถึง 29,421 ล้านบาท มาจากจำนวนเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนโควิด “เจอจ่ายจบ” เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปี 2564
จากปัญหาขาดทุนนี้ ทำให้มีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน “สินมั่นคงประกันภัย” จึงได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 และศาลได้มีคำสั่ง “รับคำร้อง” ขอฟื้นฟูกิจการแล้ว จากนั้นนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
โดยสินมั่นคงประกันภัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงการยื่นฟื้นฟูกิจการว่า ยังมีจำนวนยอดเคลมสินไหมโควิด คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยยังไม่ได้รวมหนี้สินส่วนอื่น ๆ