ถือเป็นการกลับเข้าสังเวียนอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียได้อย่างรวดเร็ว สำหรับ TikTok หลังถูกรัฐบาลอินโดนีเซียแบน TikTok Shop ไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ TikTok ทำเพื่อให้กลับเข้าไปได้ก็คือการประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ GoTo สตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของแดนอิเหนา และเข้าถือหุ้น Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในเครือของ GoTo พร้อมงบลงทุน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งผลของความร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้หุ้นของ SEA บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มช้อปปี้ (Shopee) อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซของเอเชียร่วงทันที 5.33%
ความพยายามของ TikTok แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีขึ้นทั่วโลก กับการเปิดตัว TikTok Shop เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งเส้นทางของ TikTok Shop อาจไปได้สวยในหลายประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซียที่รัฐบาลแดนอิเหนาตัดสินใจไม่ให้ TikTok Shop ให้บริการ โดยให้เหตุผลว่าต้องการปกป้องผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กภายในประเทศของตนเอง
อย่างไรก็ดี ความใหญ่โตของเศรษฐกิจดิจิทัลอินโดนีเซียเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายไม่ยอมพลาด โดยข้อมูลจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report – Reaching new heights: Navigating the path to profitable growth) ของ Google, Temasek และ Bain & Company พบว่า มูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคฯ จะสูงถึง 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 หรือโตขึ้น 11% จากปีที่ผ่านมา และประเทศอินโดนีเซียคือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่ที่สุด (ไทยเป็นอันดับสอง)
ทิ้งไม่ได้ “อินโดนีเซีย” คือตลาดใหญ่เบอร์สองของ TikTok
นอกจากนั้น ข้อมูลจาก Statista ยังระบุด้วยว่า TikTok มีผู้ใช้งานในอินโดนีเซียมากถึง 106.5 ล้านราย พร้อมระบุว่า อินโดนีเซียคือตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของบริษัทรองจากสหรัฐอเมริกา นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ TikTok ไม่ยอมแพ้ และทางออกก็คือ การจับมือกับ GoTo สตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียที่เกิดจากการควบกิจการระหว่าง Gojek กับ Tokopedia นั่นเอง
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว TikTok จะซื้อหุ้นของ Tokopedia ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังจำนวน 75.01% หรือคิดเป็นมูลค่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้ TikTok Shop สามารถให้บริการได้บน Tokopedia และจะมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ส่วนหุ้นที่เหลือจะถูกถือโดย GoTo และธุรกิจยังอยู่ภายใต้การบริหารของ GoTo Group
นอกจากนั้น ทาง TikTok ยังประกาศแผนลงทุนในธุรกิจอีก 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วย
คาดดีลแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2024
สำหรับข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ของปี 2024 โดยมี Goldman Sachs ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ GoTo ในการทำธุรกรรมครั้งนี้ และมีรายงานว่า Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซียได้มีการพบปะกับผู้ขายบน TikTok Shop และหารือเกี่ยวกับแผนการเปิด TikTok Shop อีกครั้งหลังจากเข้าร่วม Tokopedia แล้วเช่นกัน
ดีลดังกล่าวได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกจากนักวิเคราะห์ เช่น Jianggan Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ ที่มองว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้การดำเนินงานของ TikTok ราบรื่นขึ้น เนื่องจากมีการก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ทางเทคนิคได้มากมาย เช่น การอนุญาตให้ TikTok ควบคุมการให้บริการของ Tokopedia ได้ เป็นต้น
นอกจากนั้น หากมองในระยะยาว ดีลนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อย เพราะรายงาน e-Conomy SEA 2023 Report คาดการณ์ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอินโดนีเซียจะเติบโตจนมีมูลค่าแตะ 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 (ปัจจุบันอยู่ที่ 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) การเข้าไปรอในตลาดก่อนจึงย่อมได้เปรียบกว่านั่นเอง