HomeBrand Move !!กลยุทธ์ 7-Eleven เน้นเปิดร้านไซซ์ใหญ่ เพิ่มพื้นที่ขายสินค้า ดันรายได้ต่อสาขาสูงขึ้น ปี 2567 ลุยขยายอีก 700 สาขา 

กลยุทธ์ 7-Eleven เน้นเปิดร้านไซซ์ใหญ่ เพิ่มพื้นที่ขายสินค้า ดันรายได้ต่อสาขาสูงขึ้น ปี 2567 ลุยขยายอีก 700 สาขา 

แชร์ :

ตัวเลขถึงไตรมาส 3 ปี 2566 ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ของ “ซีพี ออลล์” (CPALL) มีสาขาทั่วประเทศ 14,391 สาขา (จบปี 2566 จะอยู่ที่ 14,566 สาขาตามเป้าหมาย) ส่วนใหญ่เป็นร้านสแตนด์อโลน 86% ที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ตามแผนปี 2567 ยังเดินหน้าขยายสาขาใหม่อีก 700 สาขา ด้วยงบลงทุน 12,000-13,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กลยุทธ์การขยายสาขา 7-Eleven ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเห็นชัดว่าเป็นโมเดล “ไซซ์ใหญ่” ด้วยการเช่าพื้นที่ว่าง ก่อสร้างเป็นร้านสแตนด์อโลน มีที่จอดรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ด้านหน้าร้าน  โดยตัวอย่างโมเดลนี้แห่งแรกเริ่มในปี 2556 ที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ ขนาดพื้นที่รวมประมาณ 1 ไร่ ลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท

ปี 2567  ซีพีออลล์ ยังเห็นโอกาสลงทุนเปิด 7-Eleven สาขาใหม่อีก 700 สาขา เน้นร้านสแตนด์อโลนขนาดใหญ่ มีที่จอดรถด้านหน้า ซึ่งเป็นแนวโน้มรูปแบบร้านที่จะเปิดสาขามากขึ้นในอนาคต

“ร้านเซเว่นฯ ใช้กลยุทธ์เปิดร้านไซซ์ใหญ่มาหลายปี แน่นอนว่าเป็นโมเดลที่ดีกว่าขนาดเล็ก และจะขยายไซซ์ใหญ่ต่อเนื่องในอนาคต แต่ละปีจะเปิดร้านใหม่ 700 สาขา แต่หากเทียบเป็น space growth แล้วจะเติบโตสูงกว่าจำนวนสาขามาก” คุณจิราพรรณ ทองตัน หัวหน้าสำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

จะเห็นได้ว่าร้าน 7-Eleven ไซซ์ใหญ่ มีพื้นที่ขยายสินค้าจำนวนมาก ดูได้จากตู้แช่เครื่องดื่มจะมีหลายล็อกยาวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตู้แช่อาหารพร้อมรับประทาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่วางขายสินค้าใหม่ๆ เข้ามาอีก เช่น ผลไม้ ผักสดออร์แกนิก ตู้อบสินค้าเบเกอรี่ พิซซ่า เคาน์เตอร์ปรุงสดเมนูตามสั่ง  รวมทั้งพื้นที่ที่จะพัฒนาเซอร์วิสใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม

ส่วนชั้นวางขายสินค้าอุปโภคและบริโภค ที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้น สามารถวางขายสินค้าแพ็คใหญ่ได้ เช่น น้ำมันพืชขนาด 1 ลิตร ข้าวสาร 5 กิโลกรัม เพราะปัจจุบัน 7-Eleven วางตำแหน่งให้ตอบสนองความต้องการครอบคลุมกิจกรรมในชีวิตประจำวันของลูกค้า (Customer Daily Life) ให้บริการ All Convenience สะดวกครบจบที่เดียว

เมื่อเป็นร้านขนาดใหญ่ มีสินค้าจำนวนมากและสินค้าแพ็คใหญ่ ทำให้โมเดลนี้ทำรายได้ต่อสาขาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะลูกค้ามีโอกาสซื้อสินค้ามากขึ้น การจับจ่ายต่อบิลต่อครั้งจึงสูงขึ้นด้วย ตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2566 มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 82 บาท และจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 959 คน 

ยอดขายในร้าน 7-Eleven มาจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม 75% สินค้าอุปโภคและบริโภค 25% กลุ่มที่เติบโตคือ อาหารและเครื่องดื่มจากการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ มากระตุ้นการจับจ่าย  เช่น  เมนูขนมหวาน ขนมไทย ที่มาจากผู้ผลิตเอสเอ็มอี เป็นอีกสินค้าขายดีและเติบโตโดดเด่น จากมีเมนูใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้ารู้จักและมาซื้อมากขึ้น

นอกจากนี้ 7-Eleven ได้ทำโปรเจกต์ Collab กับร้านอาหารชื่อดัง เพื่อทำเมนูข้าวกล่อง EZYGO ใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง เช่น 2 เมนูใหม่ EZYGO Gold Selection x Coffee Beans By DAO (คอฟฟี่บีน บาย ดาว) คือ  สปาเก็ตตี้กุ้งเอบิโกะพริกกระเทียม และ มักกะโรนีกุ้งผัดไข่ ราคากล่องละ 69 บาท มาเป็นอีกตัวเลือกเมนูข้าวกล่องให้ลูกค้า

อีกบริการสำหรับร้าน 7-Eleven ไซซ์ใหญ่ ที่เตรียมไว้คือการติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า บริเวณหน้าร้าน เพื่อให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แผนการลงทุนของร้าน 7-Eleven ปี 2567 ยังขยายต่อเนื่อง 700 สาขาในไทย เพราะยังเห็นโอกาสการเติบโตจากกำลังซื้อคนไทยที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากการขึ้นค่าแรงและนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของรัฐบาล รวมทั้งการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย อีกกลุ่มกำลังซื้อของร้าน 7-Eleven ซึ่งจะทำให้ยอดขายโดยรวมปีนี้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าตัวเลขจีดีพี

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like