Marketbuzzz เผยผลสำรวจคนไทยกังวลเรื่องการบริโภคน้ำตาลสูงถึง 75% แต่กลับมีความเข้าใจเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลที่บริโภคต่ำกว่า 25% โดยผลสำรวจดังกล่าวเป็นการเก็บจากกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,000 รายในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระดับความตระหนักรู้และพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย และพบว่าคนไทยกังวลเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลมากถึง 75% และตัวเลขนี้พุ่งสูงถึง 91% ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีความกังวลมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในอาหารที่รับประทาน
การสำรวจยังพบด้วยว่า คนไทย 49% รู้สึกผิดกับการบริโภคไขมันมากเกินไป และ 31% รู้สึกผิดเกี่ยวกับการบริโภคคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
คนรุ่นใหม่กังวลบริโภค “น้ำตาล”
การพบว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มเดียวกันที่รู้สึกผิดมากขึ้นเมื่อบริโภคน้ำตาล ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างไปสู่การดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและการได้รับข้อมูลด้านโภชนาการมากขึ้น
สำหรับสองสาเหตุหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่กังวลการบริโภคน้ำตาล คือ ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการบริโภคน้ำตาล และความเสี่ยงของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น โดยคนไทย 83% เห็นด้วยว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากมาย และ 76% เห็นด้วยว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน
ด้วยเป้าหมายที่จะลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาล ประเทศไทยได้มีการจัดเก็บภาษีน้ำตาลใหม่ในปี พ.ศ. 2560 สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มล. จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมากกว่าครึ่ง (51%) สนับสนุนกฎหมายภาษีนี้ โดย 53% คิดว่านโยบายประเภทนี้มีประสิทธิภาพ แต่จะมีเพียงกลุ่มคนที่มีความรู้เกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เท่านั้นที่สนับสนุนนโยบายภาษีน้ำตาล และคิดว่านโยบายนี้มีประสิทธิภาพและได้ผลจริง
คนไทยตระหนักถึงปริมาณน้ำตาลที่พวกเขาบริโภคในชีวิตประจำวันจริง ๆ หรือไม่?
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการสำรวจว่า คนไทยกังวลเรื่องน้ำตาล แต่ก็ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ปริมาณน้ำตาลที่ตัวเองบริโภคจริง ๆ จากการสำรวจ Marketbuzzz ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ 8 ชนิดที่คนไทยนิยมบริโภค ให้เปรียบเทียบกันเพื่อดูว่าพวกเขาสามารถระบุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงที่สุดได้หรือไม่
ผลิตภัณฑ์ 8 ชนิด ได้แก่
- โค้กกระป๋อง (325 มล.),
- ช็อกโกแลต Snickers (47 กรัม),
- โยเกิร์ตดัชชี่ รสสตรอว์เบอร์รี่ (135 กรัม),
- ดังกิ้นโดนัท (50 กรัม),
- เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull (250 มล.),
- ชาเขียวต้นตำรับอิชิตัน (420 มล.),
- นมเปรี้ยวยาคูลท์ (80 มล.) และ
- นมสดพาสเจอไรซ์เมจิ รสสตรอว์เบอร์รี่ (200 มล.)
แต่ผลสำรวจพบว่า คนไทยไม่ถึง 25% สามารถระบุผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูงที่สุดได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ คนไทยมากกว่า 4 ใน 5 ยังไม่ทราบว่าในน้ำตาล 1 ช้อนชา มีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำตาลกี่กรัม และ/หรือกี่แคลอรี่ (น้ำตาล 1 ช้อนชา = 4 กรัม ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี่) การทดสอบนี้สะท้อนว่า แม้คนไทยจะตระหนักถึงความเสี่ยงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจถึงปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคในแต่ละวัน
คุณแกรนท์ บาร์โทลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) กล่าวว่า “ผลการสำรวจนี้ไม่ได้หมายถึงจุดสิ้นสุดของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาล หรือถึงจุดสิ้นสุดของการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวันของพวกเราในอนาคตอันใกล้ แต่เราควรมองในมุมที่แตกต่างออกไป ผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องพิจารณาส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่แสดงปริมาณส่วนผสมที่สามารถวัดได้ รวมถึงการแสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ชัดเจนมากขึ้น และการอ้างสิทธิ์ความเป็นแบรนด์ที่มีน้ำตาลต่ำ (โลว์ชูการ์)/ไม่มีน้ำตาล บนบรรจุภัณฑ์ด้วย”
“โดยรวมแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความพยายามในการปรับสูตรลดน้ำตาลและเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แต่จำเป็นต้องได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ผลิตแบรนด์อาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมและวิชาชีพทางการแพทย์ พร้อมกับการบังคับใช้มาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ ฉลากโภชนาการ และสื่อต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างทัศนคติให้กับผู้บริโภค แม้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายมากมายและปริมาณน้ำตาลในแต่ละผลิตภัณฑ์แตกต่างกันอย่างมาก ฉะนั้นการสร้างความตระหนักรู้และรู้จักเทียบเคียงปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ จากนั้นผู้บริโภคจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง
แม้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อของผู้บริโภคเกี่ยวกับน้ำตาลกำลังเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ ก็ตาม แต่แบรนด์อาหารที่จะเติบโต คือแบรนด์ที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และปรับตัวได้เร็วกว่า ยิ่งช้ายิ่งเสียเปรียบ แม้ในอนาคต ผู้บริโภคอาจยังคงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลมากอยู่ แต่อย่างน้อยก็จะเป็นการบริโภคที่ได้รับความรู้และข้อมูลที่มากขึ้น”