HomeBrand Move !!นิคมอุตสาหกรรมไทยยังโตด้วย “รถยนต์” WHA Group ชี้ “จีน” ลงทุนในไทยแตะ 16%

นิคมอุตสาหกรรมไทยยังโตด้วย “รถยนต์” WHA Group ชี้ “จีน” ลงทุนในไทยแตะ 16%

พร้อมเปิด Eastern Seaboard โชว์ความพร้อม 4 กลุ่มธุรกิจหลัก

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA) โชว์ศักยภาพ 4 กลุ่มธุรกิจหลัก “โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิทัลโซลูชัน” รับการลงทุนจากต่างชาติ เผยสัดส่วนนักลงทุนจีนเติบโตรวดเร็ว จาก 5% ในยุคก่อน Covid-19 เป็น 16% ในปัจจุบัน ด้านผู้บริหารเผยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทยอยมาลงทุนในประเทศไทยพบว่ายังคงเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก ส่วนกลุ่ม Electronics เบนเข็มเข้าเวียดนามแทน

เปิดอาณาจักรนิคมอุตสาหกรรม 7.13 หมื่นไร่

ข้อมูลข้างต้นมาจากการเปิดภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group โดยคุณไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบัน WHA มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 13 แห่ง บนพื้นที่กว่า 71,300 ไร่ ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม (อยู่ในประเทศไทย 12 แห่ง และในประเทศเวียดนาม 1 แห่ง) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

นิคมอุตสาหกรรมไทย ยังโตด้วย “รถยนต์”

ทั้งนี้ เมื่อมองไปที่ภาพรวมของกลุ่มลูกค้า WHA ในประเทศไทยจะพบว่า กลุ่มลูกค้าหลักยังคงเป็นธุรกิจยานยนต์ (Automotives) ถึง 32% รองลงมาคือกลุ่มคอนซูเมอร์ 17% และ Electronics 9% และนักลงทุนส่วนใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็น “ญี่ปุ่น” โดยครองส่วนแบ่งถึง 30%

คุณปจงวิช พงษ์ศิวาภัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า พบการเติบโตอย่างรวดเร็วในกลุ่มนักลงทุนจากจีน โดยในช่วงก่อน Covid-19 ทาง WHA มีนักลงทุนจากจีนเพียง 5% ของนักลงทุนทั้งหมด แต่ปัจจุบัน นักลงทุนจากจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 16%  แล้ว ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่เร็วมาก (ลูกค้าของ WHA แบ่งตามสัญชาติ 5 อันดับแรกได้แก่ ญี่ปุ่น 30% ไทย 16%  จีน 16% ยุโรป 10% และสหรัฐอเมริกา 7%)

คุณปจงวิช พงษ์ศิวาภัย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

นอกจากนั้น สิ่งที่คุณปจงวิชเผยเพิ่มเติมก็คือ หากเป็นธุรกิจ Electronics นักลงทุนจะให้ความสนใจเวียดนามมากกว่าไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานในการผลิต แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ยุคใหม่ที่เป็นลักษณะของโรงงงานอัจฉริยะ ใช้คนน้อยลง ส่วนใหญ่จะเลือกมาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีความพร้อมสูงกว่านั่นเอง

WHA โชว์ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ – คลังสินค้า

คุณไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ยังเผยด้วยว่า ธุรกิจของ WHA มีจุดเริ่มต้นมาจากโลจิสติกส์ ก่อนจะขยายไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ โดยปัจจุบัน มีบริการทั้งในด้านคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และโรงงานระดับพรีเมียม และยังเป็นรายแรกที่ทำอาคารโรงงาน และคลังสินค้าในรูปแบบ Built-to-Suit ด้วย (เริ่มต้นในปี 2546)

โรงงานสำเร็จรูปให้เช่าภายในนิคมอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ธุรกิจโลจิสติกส์ของ WHA มีพื้นที่รวมกว่า 2.9 ล้านตารางเมตร โดยกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ 52 แห่ง ทั่วประเทศ  นอกจากนั้นยังได้มีการทำโครงการ Green Logistics (การนำเทคโนโลยีสีเขียวมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์) เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งสินค้า สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการดำเนินงานของยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ  โดยมองว่าสามารถช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศได้ในระยะยาว

โชว์ศูนย์ควบคุมกลาง (UOC) ดูแลนิคมฯ เรียลไทม์

ทั้งนี้ หนึ่งในไฮไลต์ของนวัตกรรมของทาง WHA คือ ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่ตั้งอยู่ภายในอาคารดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ถนนเทพรัตน สมุทรปราการ โดยหน้าที่หลักของ UOC คือการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMcC) ภายในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทย และประเทศเวียดนาม โดยทางศูนย์จะมีการเชื่อมต่อกับเซนเซอร์ – กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของทางกลุ่มแบบเรียลไทม์

ภายใน UOC

สำหรับระบบที่ UOC สามารถแสดงผลได้ มีดังนี้

  • ระบบกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย (CCTV)
  • ระบบควบคุมการจราจร (VMS) ที่สามารถแสดงผลการจราจรภายในเขตนิคมฯ หากมีอุบัติเหตุ หรือการจราจรติดขัดจะสามารถส่งเจ้าหน้าที่ไปแก้ไขได้ทันท่วงที
  • ศูนย์ควบคุมระบบน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย โดยสามารถแสดงค่าความบริสุทธิ์ของน้ำจากระบบผลิตน้ำให้ส่วนกลางได้รับทราบได้แบบเรียลไทม์ ตลอดจนปริมาณน้ำสำรองภายในนิคมฯ
  • กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ของ WHA

WHAUP ธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ป้อนนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับกลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและไฟฟ้า ได้มีการตั้งบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เพื่อเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA รวมถึงมีการร่วมลงทุนด้านไฟฟ้าในหลายรูปแบบ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์รวม 847 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตน้ำรวม 168 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นอกจากนี้ ทาง WHAUP ยังหันมาพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมด้วย เช่น

1. Floating Solar หรือโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำของบ่อเก็บน้ำดิบ ภายในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (AAT) กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้กว่า 5,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

2. Solar Carpark โครงการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่จอดรถขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยมีพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร มีขนาดไฟฟ้ารวม 7.7 เมกะวัตต์ และพร้อมเปิดดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567

3. Solar Rooftop ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้าขนาด 24.24 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 18,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

Wet Land บำบัดน้ำเสียของนิคมฯ ด้วยพืช

Wet Land ภายในนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ดนั้น ทางทีมงาน WHA เผยว่า มีประมาณ 7,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และทางนิคมได้มีการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีวภาพมาปรับใช้ ด้วยการสร้างบึงประดิษฐ์ (Wet Land) ที่ออกแบบระบบเป็นแบบน้ำไหลใต้ผิวชั้นกรองในแนวนอน (Subsurface flow wetland)

สำหรับหลักการทำงานของบึงประดิษฐ์คือสารแขวนลอยขนาดใหญ่ที่ปนเปื้อนมากับน้ำเสียจะถูกกรองโดยชั้นกรองหินของบึงประดิษฐ์ และสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับน้ำเสียจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่เกาะติดอยู่รากพืชและชั้นกรอง ซึ่งระบบนี้จะได้รับออกซิเจนจากระบบรากพืช และการแทรกซึมของอากาศผ่านผิวน้ำหรือชั้นกรองลงมา ซึ่งนอกจากจะสามารถกำจัดสารอินทรีย์และสารแขวนลอยในน้ำเสียได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำเสียได้อีกด้วย ส่วนพืชที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในบ่อดังกล่าว พบว่ามีหลายชนิด เช่น ธูปฤาษี พุทธรักษา เป็นต้น

RO Plant นำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

เส้นทางการปรับปรุงประสิทธิภาพน้ำจาก Wet Land ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะได้มีการประยุกต์ใช้กระบวนการ “Reverse Osmosis (RO)” ในโรงงานผลิตน้ำระบบอาร์โอ ที่สามารถผลิตน้ำ​ได้ 2 ประเภท คือ Permeate คือน้ำที่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการผลิตได้ และ Concentrate คือน้ำที่มีความเข้มข้นของสารละลายในน้ำสูง ซึ่งไม่สามารถใช้ในกระบวนการผลิตได้ แต่นำมาใช้แทนน้ำดิบหรือใช้ประโยชน์ในการชำระล้างพื้นภายในโรงงาน รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น โดยผู้บริหารของ WHA เผยว่า ระบบบริหารจัดการน้ำเสียเหล่านี้ช่วยให้ทางนิคมอุตสาหกรรมลดการพึ่งพาน้ำจากภายนอกลงได้ และทำให้การบริหารจัดการน้ำภายในนิคมอุตสาหกรรมเกิดความยั่งยืนมากขึ้นด้วย

คุณไกรลักขณ์ อัศวฉัตรโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คุณไกรลักขณ์ ยังได้เผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 ว่า คาดการณ์รายได้ของ WHA จะทำ All Time High และในปี 2567 ก็คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องใน 4 ธุรกิจหลัก โดยเฉพาะการขยายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามที่บริษัทได้ยื่นเอกสารต่อรัฐบาลเวียดนามไปแล้ว และคาดว่าจะสามารถพัฒนาโครงการเพิ่มเติมได้แล้วเสร็จภายใน 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีโครงการภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 18 โครงการ โดยทาง WHA จะแถลงแผนการดำเนินงานในปี 2567 ในวันที่ 31 มกราคมนี้


แชร์ :

You may also like