เรียกว่าเป็นการตั้งชื่อที่น่าสนใจกับ Living Network หรือเน็ตเวิร์กมีชีวิต ที่เอไอเอสเปิดตัวออกมาล่าสุดในงาน Thailand Mobile Expo 2024 พร้อมเสนอแพกเกจให้ลูกค้าเลือกบูสต์ความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G ได้ตามพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งเบื้องหลังของชื่อ Living Network นี้ ก็คือการประยุกต์ความสามารถของเครือข่าย 5G อย่าง Network Slicing ที่ช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถควบคุมและจัดสรรทรัพยากรให้กับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง
เอไอเอสใช้ Network Slicing อย่างไร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถของ Network Slicing เคยถูกกล่าวถึงในเวทีที่เกี่ยวกับ 5G อยู่บ่อยครั้ง แต่ในงาน Thailand Mobile Expo 2024 มันคือการเปิดตัวแพกเกจใหม่ของเอไอเอสสำหรับเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต 5G ผ่านโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ในราคา 49 บาทต่อ 3 ชั่วโมง (ใช้ได้ 5GB) โดยมีให้เลือก 3 โหมด นั่นคือ
- Boost Mode เปิดใช้งานได้แล้วทั่วประเทศ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะเริ่มให้บริการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2024
- Game Mode เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะเริ่มให้บริการได้ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2024
- Live Mode รองรับการไลฟ์ได้แล้ว 5 แอป ได้แก่ Shopee, Lazada, TikTok, Facebook และ Instagram ส่วน YouTube อยู่ระหว่างเจรจา โดยในระยะแรกเปิดให้บริการเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถใช้งานได้ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2024 เช่นกัน)
ทั้งนี้ ความสามารถของทั้ง 3 โหมดก็จะแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Boost Mode จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการทำงานโดยใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่มีการใช้งานเครือข่ายหนาแน่น แต่ถ้าเป็น Game Mode จะเป็นการรักษาความเสถียรของการส่งข้อมูลจากมือถือไปยังเซิร์ฟเวอร์เกมให้ต่อเนื่อง หรือถ้าเป็น Live Mode ก็จะรักษาคุณภาพการไลฟ์ให้อยู่ในระดับ Full HD ตลอดการไลฟ์ เป็นต้น
1 Cell Site ใช้ 5G Mode ได้แค่ 15 คน
สำหรับการสมัครใช้บริการ คุณศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า สามารถกดสมัครใช้งานได้จากแอปพลิเคชัน myAIS พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า การเปิดให้บริการ Speed Boost ทั้ง 3 โหมดนี้ จะเปิดให้ใช้งานได้แค่เซลล์ไซต์ละ 15 คนพร้อมกันเท่านั้น โดยถ้าลูกค้าคนที่ 16 ต้องการกดเข้ามาใช้งาน จะไม่สามารถทำได้ (ปุ่มจะเป็นสีเทา เพื่อให้ไม่สามารถกดได้)
ดึง Data จาก Network เพื่อลดงาน Call Center
นอกจากการใช้เทคนิค Network Slicing เพื่อให้ลูกค้าสามารถสมัครแพกเกจอินเทอร์เน็ตได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นแล้ว อีกด้านของการเป็น Living Network ก็คือการนำข้อมูลจากระบบเครือข่ายว่าพื้นที่ใดให้บริการได้ดี – ไม่ดีขึ้นมาแสดงผลบนแอปพลิเคชัน myAIS ร่วมด้วย โดยเป็นการแสดงผลในลักษณะ Interactive Map ซึ่งคุณศรัณย์มองว่า การเปิดข้อมูลดังล่าวช่วยให้ลูกค้าเข้าใจภาพรวมของเครือข่ายได้มากขึ้น และยังลดการโทรหาคอลล์เซนเตอร์ได้ด้วย
จาก Network Slicing สู่ Living Network
จะเห็นได้ว่า เครือข่าย 5G ที่เมื่อครั้งเปิดตัวถูกมองว่าเหมาะสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้น กำลังมีบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็ไลฟ์ขายของได้ ยุคที่ใคร ๆ ก็ต้องทำงานกับไฟล์ขนาดใหญ่อย่างที่เมื่อ 5 ปีที่แล้วไม่มีไฟล์ขนาดเท่านี้ หรือแม้กระทั่งการเล่นเกม เราก็ยังมีกลุ่มคนที่จริงจังกับการเล่นเกม และต้องการอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไม่แน่ว่า ไอเดียการสร้าง Living Network ของเอไอเอสอาจเป็นทางหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปรู้สึกใกล้ชิดกับเครือข่าย 5G มากขึ้นด้วยก็เป็นได้