แม้หลายปีมานี้ธุรกิจจะตระหนักและหันมาดำเนินธุรกิจบน “ความยั่งยืน” (Sustainability) กันมากขึ้น แต่ถึงวันนี้การผลักดันเรื่องความยั่งยืนให้เกิดอิมแพคยังไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร สะท้อนได้จากทุกวันนี้อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังมีต่อเนื่อง ทั้งยังทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น? แล้วในยุคที่โลกเต็มไปด้วยความท้าทาย และไม่แน่นอนเช่นนี้ คำถามคือ ธุรกิจจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้องค์กรสามารถสร้างผลกำไร และให้คุณค่ากับสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน Brand Buffet พามาหาคำตอบเรื่องนี้กันชัดๆ จาก คุณปิยะชาติ อิศรภักดี CEO บริษัท แบรนดิ แอนด์ คอมพานีส์ จำกัด
ธุรกิจยังมอง “กำไร” เป็นตัวนำ
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากพูดถึงความยั่งยืน ยังเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และไม่คิดว่าจะสามารถทำได้จริง ทำให้ธุรกิจไม่ได้สนใจมากนัก แต่ปัจจุบันทุกธุรกิจมีความเข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้น เพราะเห็นชัดแล้วว่าทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับทุกคนบนโลกใบนี้ หากสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่รอดและเติบโตไม่ได้ จึงทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืนมากขึ้น แต่คุณปิยะชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันการผลักดันเรื่องความยั่งยืนยังก้าวไปได้ไม่มาก และอาจไม่ทันตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลไกของตลาด ทำให้คนทำธุรกิจยังมองเรื่องของ “กำไร” เป็นตัวนำ
“ระบบการเงินที่ผ่านมาโฟกัสเรื่องของการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) แต่ให้ความสำคัญกับการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) น้อยมาก เงินจึงไม่ถูกกระจาย และไม่ได้เพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจ จึงเป็นการยืมอนาคตมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการที่เกินตัว จนกลายเป็นปัญหาการเงินเรื้อรัง และถ้าแก้ไม่ถูกจุด ปัญหานี้ไม่มีทางหมดไป และจะเป็นตัวดึงการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในเชิงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
คุณปิยะชาติ สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับยอมรับว่า ความยั่งยืนจะเกิดไม่ได้ หากไม่มี “เงิน” หรือ “เศรษฐกิจ” ที่ดี เพราะคนต้องใช้เงินเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนประเทศจะลงทุนสิ่งใด ก็ต้องมั่นใจว่าสามารถหาเงินได้พอเมื่อเทียบกับรายจ่าย ขณะที่บริษัทก็ต้องเติบโตและมีกำไรเช่นกัน เพราะบริษัทมีการจ้างงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าบริษัทไม่แข็งแรง ครอบครัวของคนเหล่านั้นก็เดือดร้อน และจะส่งผลให้ บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหา
Future-ready คำตอบของความยั่งยืนที่แท้จริง
ยิ่งในปัจจุบันโลกธุรกิจต้องเจอกับความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อน มลพิษ รวมไปถึงความไม่แน่นอนของทรัพยากรโลก การเข้ามาของเทคโนโลยี และภูมิศาสตร์ทางการเมือง ดังนั้น การจะสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงได้ จำเป็นต้องมี “Future-ready” หรือ “ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”
คุณปิยะชาติ บอกว่า ความท้าทายใหม่ๆ ที่องค์กรต้องเจอมากขึ้น จะทำให้โลกการเงินในยุคต่อไปเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ไม่ได้มองเงินเป็นเรื่องความมั่งคั่ง แต่เป็น “เครื่องมือ” ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนเงินไปช่วยจัดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ หรือการเคลื่อนเงินไปช่วยคนในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงทำอย่างไรที่จะเคลื่อนเงินไปช่วยป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เขาบอกว่า การจะขับเคลื่อนเรื่อง Future-ready ได้ หัวใจสำคัญคือ ต้องเข้าใจปัญหา และเห็นภาพให้ครบ ทั้งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม จะมองแค่มุมใดมุมหนึ่งไม่ได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่สุด หรือแก้ปัญหาแบบทุบตัวตุ่น คือทุบตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งก็มีปัญหา สุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้
เมื่อเห็นภาพครบแล้ว ขั้นต่อมาให้เริ่ม ปรับจุดยืนของแบรนด์ (Re-positioning) โดยเปลี่ยนจากการทำตามเทรนด์ (Capture Trend) มาเป็นการ Capture Value โดยนำเอกลักษณ์หรือจุดแข็งของตนเองหรือท้องถิ่นมาสร้างคุณค่าให้สังคมและโลกได้เห็น ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรง แถมยังทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการปรับโมเดลของตลาด (Re-modeling) โดยเปลี่ยนจากการสร้างผลกำไร (Profitability Incentive) เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact Incentive) พร้อมกับ ปรับระบบของเศรษฐกิจ (Re-engineering) โดยเปลี่ยนจากการเติบโตโดยพึ่งพาทรัพยากร (Natural Resource-dependent Growth) เป็นการเติบโตโดยพึ่งพาทุนมนุษย์ (Human Capital-dependent Growth)
“ถ้าเรามีคนที่มีคุณภาพในประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหาทั้งหมดจะถูกแก้ เราต้องหันกลับมาดูว่าทุนมนุษย์ของเรามีอะไรบ้าง เราเก่งอะไร หรือทำอะไรได้ดี และสร้างเศรษฐกิจจากตรงนั้น แล้วเราจะเป็นประเทศที่ภูมิใจในตัวเองและเป็นประเทศที่มีแต่จุดแข็งและจุดขายเต็มไปหมด”
ปั้น SDG Café สะท้อนความยั่งยืน
เพื่อให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน และ Future-ready ชัดขึ้น แบรนดิ จึงเปิดตัว SDG Café by BRANDi ซึ่งเป็นคาเฟ่ต้นแบบแห่งแรกของโลกที่จะทำให้การพัฒนายั่งยืนเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผ่านเมนูเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจ และนักการตลาดได้เห็นภาพการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถนำไปต่อยอดกับธุรกิจให้เห็นผลเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น
ในเบื้องต้นแบรนดิจับมือกับบาริสต้า ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน Thailand National Barista Championship พัฒนาเครื่องดื่มออกมา 3 เมนูแรกที่มีความเชื่อมโยงกับ SDG 17 ข้อ ประกอบด้วย Prosperitea, Cocoanity และ Envircoffee โดยในอนาคตมีแผนจะพัฒนาเมนูใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง