HomeAutomobileReversharger เล็งขยายจุดชาร์จ EV ต่างจังหวัดเพิ่ม เน้นตอบโจทย์คนเดินทางกลัวแบตหมด

Reversharger เล็งขยายจุดชาร์จ EV ต่างจังหวัดเพิ่ม เน้นตอบโจทย์คนเดินทางกลัวแบตหมด

พบจุดชาร์จได้ทุก 160 กม. ใน 68 จังหวัด

แชร์ :

Reversharger เปิดแผนขยายจุดชาร์จต่างจังหวัดรับการเติบโตของรถ EV โดยคาดว่าจะมีหัวชาร์จสาธารณะเพิ่มเป็น 2,012 จุดภายในเดือนเมษายนนี้ 2024 (แบ่งออกเป็นหัวชาร์จในพื้นที่กรุงเทพฯ 40% และต่างจังหวัด 60%) นอกจากนั้นยังมีการตั้งเป้ายอดผู้ใช้แอปไว้ 200,000 แอคเคาน์ภายในสิ้นปี และจะเพิ่มการติดตั้ง EV Charger ในกลุ่มครัวเรือนให้ได้ 100,000 รายด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณพีระภัทร ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ให้บริการสถานีชาร์จภายใต้แบรนด์ Reversharger (อดีตเคยใช้ชื่อ SHARGE ก่อนที่จะรีแบรนด์เป็น Reversharger เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา) เผยว่า เป้าหมายของบริษัทในปีนี้มาจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าแบตเตอรี่สะสมที่ 89,000 คัน (ตัวเลข ณ สิ้นปี 2566) และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นมากกว่า 200,000 คันในปีนี้

เจาะ 3 ตลาด “บ้าน-จุดชาร์จสาธารณะ-แอป”

ผู้บริหาร Reversharger เผยด้วยว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถ EV ที่กล่าวมานั้น ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องชาร์จในบ้านเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา บริษัทได้มีการจับมือกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง แสนสิริ, Property Perfect, ศุภาลัย, Noble และ SC Asset ในการติดตั้งจุดชาร์จภายในโครงการเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

ส่วนการลงทุนเพิ่มจุดชาร์จสาธารณะ คุณพีระภัทรมองว่า ประเทศไทยควรต้องมีจุดชาร์จสาธารณะ 15,000 แห่งเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถ EV แต่ในปัจจุบันพบว่ามีเพียง 9,693 แห่ง (ตัวเลขรวมของทุกค่าย) โดยในจำนวนนี้เป็นจุดชาร์จของทาง Reversharger จำนวน 1,110 แห่ง (แบ่งออกเป็นจุดชาร์จในพื้นที่กรุงเทพฯ 60% และต่างจังหวัด 40%)

ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของบริษัทในปี 2024 ก็คือการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายจุดชาร์จในพื้นที่ต่างจังหวัดเพิ่มเติม เพื่อให้สัดส่วนของจุดชาร์จสาธารณะในต่างจังหวัดของ Reversharger เพิ่มเป็น 60% เพื่อรองรับการเดินทางของผู้ใช้รถนั่นเอง

สำหรับพื้นที่ที่บริษัทมองว่าเหมาะสมสำหรับการติดตั้งจุดชาร์จสาธารณะ มีตั้งแต่สถานีบริการของบางจาก โชว์รูม BYD (โดยจะครอบคลุมเส้นทางที่ออกไปสู่ระดับภูมิภาค ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก รวม 68 จังหวัด 582 สถานี) หรือเท่ากับจะมีจุดชาร์จทุกระยะ 160 กิโลเมตร และมีสถานีชาร์จความเร็วสูง (DC Charger) ให้บริการร่วมด้วย (ชาร์จด้วยกำลังไฟ 360kW 10 นาที สามารถเดินทางได้สูงสุด 100 กิโลเมตร)

ในด้านของมาตรฐานอุปกรณ์ชาร์จ คุณพีระภัทรเผยว่าบริษัทได้นำเข้าอุปกรณ์จากประเทศจีนทั้งหมด และอุปกรณ์ดังกล่าวรองรับการใช้งานกับรถ EV ทุกรุ่นที่ให้บริการในประเทศไทยเวลานี้ เหตุที่ต้องนำเข้าจากจีนเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ขายในตลาดไทยเป็นรถยนต์สัญชาติจีน และบริษัทยังไม่มีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ชาร์จรถ EV ในประเทศไทยแต่อย่างใด

ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างแอปพลิเคชัน Reversharger เป็นการพัฒนาโดยคนไทย ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มเป็น 200,000 คนในปีนี้ พร้อมระบุว่าได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ เช่น Trip Planning ลงไปเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นสถานีชาร์จรถไฟฟ้าที่อยู่ในเส้นทาง รวมถึงการจับมือกับพันธมิตร เช่น Shell Go+, The 1, KTC, Krungsri Auto เพื่อนำคะแนนมาแลกเป็นค่าบริการชาร์จรถ EV เพิ่มความคุ้มค่าให้กับผู้ใช้งานได้อีกทางหนึ่ง


แชร์ :

You may also like