มายด์แชร์ (Mindshare) เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร ในเครือกรุ๊ปเอ็ม วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อและเทรนด์สื่อสารการตลาดที่น่าสนใจในปี 2024 สรุป 4 ประเด็นหลักดังนี้
1. เทรนด์ที่น่าจับตามองในปี 2024
1. การเติบโตของ Social Media Search จากเดิมการเสิร์ชอยู่ที่ Google เป็นหลัก มาในยุคที่ “โซเชียลมีเดีย” มีหลากหลายแพลตฟอร์ม พฤติกรรมผู้บริโภคจึงใช้งาน “เสิร์ช” ผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook TikTok LINE
เช่นดียวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์วันนี้ ผู้บริโภคไม่ได้เสิร์ช Google อย่างเดียวอีกต่อไป แต่เสิร์ช บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง Lazada Shopee หรือการดูคอนเทนต์ก็เสิร์ชบน YouTube TikTok Instagram
ข้อมูล Google รายงานว่าประมาณ 40% ของกลุ่ม Gen Z ใช้ TikTok และ Instagram ในการค้นหา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักการตลาดในการใช้ keyword ในโพสต์บนโซเชียลมีเดีย และสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สามารถเสิร์ชได้ทุกช่องทาง ดังนั้นการใช้กลยุทธ์ “เสิร์ช” ในปีนี้จะมีมากขึ้น
2. การทำการตลาดแบบ Privacy Marketing เพราะทุกวันนี้ผู้คนพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวกันมากขึ้น ทุกองค์กรให้ความสำคัญกับ PDPA ด้านสื่อสารการตลาด แบรนด์ต่างๆ จะต้องทำให้ลูกค้าสามารถควบคุมข้อมูลของตนได้มากขึ้น
3. แบรนด์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการใช้ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนาการสื่อสารและการทำตลาดให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยองค์กรต่างๆ ต้องรับรู้และทำตามกฎเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค
4. การทำการตลาดแบบยั่งยืน การเพิ่มขึ้นของสื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาตัวชี้วัดความยั่งยืนใหม่ ๆ โดยต้องสื่อสารวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนให้ผู้บริโภครู้ว่าเป็นแบรนด์ที่ดีต่อโลกและสังคมอย่างไร โดยเฉพาะ Gen Z ที่ให้ความสำคัญและเลือกแบรนด์ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการดูแลโลกและสังคมให้ดีขึ้น
แบรนด์ต้องมีความจริงใจและมีแนวทางปฏบัติชัดเจนว่าจะทำเรื่อง Sustainability ซึ่งจะเป็นแนวโน้มสำคัญในปี 2024 เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการสื่อที่ยั่งยืนเติบโตขึ้น “สื่อ” เองจะต้องค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของตัวเองด้วย
2. เจาะอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคใช้ AI
ปี 2024 เป็นปีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเป็นยุคของ AI ที่จะเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม นักการตลาดและแบรนด์ จะต้องเรียนรู้และใช้งาน AI เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้บริโภค
ขณะที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับ AI มากขึ้น สรุปอินไซต์พฤติกรรมผู้บริโภคและการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน
– ผู้บริโภครู้สึกเหนื่อยกับการมีตัวเลือก “โซเชียลมีเดีย” จำนวนมากบนโลกดิจิทัล และต้องการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการจัดการของ AI
- 51% บอกว่าต้องการให้การใช้ชีวิตประจำวัน (รูทีน) เป็นสิ่งที่สามารถบริการจัดการได้แบบอัตโนมัติ เพื่อให้มีเวลาเหลืออยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น
- 46% เห็นด้วยว่า AI และเทคโนโลยี สามารถช่วยให้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้สะดวก เร็วขึ้น และง่ายขึ้น
– ผู้บริโภคก็ต้องการมีประสบการณ์ที่คาดเดาไม่ได้และไม่คาดคิดเช่นกัน ไม่ได้อยากได้คำแนะนำจาก AI ตลอดเวลา เพราะยังอยากมีประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าที่ห้างหรือร้านค้า (Physical Store)
- 57% บอกว่าการไป Physical Store หรือช็อปต่างๆ ก็มีประสบการณ์เฉพาะบุคคลได้เช่นกัน โดยพนักงานขายสามารถนำเสนอสินค้าได้แบบเฉพาะคนได้ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีในช็อปสื่อสารเฉพาะบุคคล เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมายให้ลูกค้า
- 41% พร้อมที่จะแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลให้กับแบรนด์ เพราะต้องการประสบการณ์ที่ดีแบบเฉพาะบุคคลในการซื้อสินค้าและบริการ
– แม้จะได้รับบริการจากแพลตฟอร์มหลากหลาย แต่ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์พิเศษเฉพาะบุคคล
- 52% ผู้บริโภคต้องการประสบการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ง่ายและสะดวก จากแพลตฟอร์มเดียวมากขึ้น
- 50% การซื้อสินค้าจากแบรนด์เฉพาะ หรือ ร้านค้าปลีกเฉพาะ ให้ประสบการณ์ที่ดีกว่ากว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่
- 63% มีบริการสตรีมมิ่งให้เลือกมากเกินไป ต้องการให้มีบริการรวมแพลตฟอร์มจากรายเดียว ไม่ต้องสมัครสมาชิกจากทุกราย
– ผู้บริโภคยังอยากมีอำนาจมากกว่า AI
- 54% เชื่อว่าสมาร์ทเทคโนโลยีจะเข้ามาควบคุมการใช้ชีวิตของผู้คน
- 50% ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยในการใช้ชีวิต
– แม้อยู่ในยุคดิจิทัลแล้ว แต่ผู้บริโภคยังอยากมีประสบการณ์เฉพาะตัวที่พิเศษ
- 72% ต้องการออกไปมีประสบการณ์จับต้องสินค้าที่สโตร์ก่อนซื้อจริง โดยเฉพาะสินค้าราคาแพง
- 69% ผู้คนต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์มากกว่าระบบอัตโนมัติ
3. บทสรุปการสร้างประสบการณ์ด้วย AI ให้กับผู้บริโภค
คุณพิทักษ์ อินทรทูต กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า บทสรุปของมายด์แชร์ต่อแบรนด์ต่าง ๆ ในการสร้างประสบการณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้กับผู้บริโภคมี 4 ประเด็นดังนี้
1. หากแบรนด์พึ่งพาการตอบกลับแบบอัตโนมัติมากเกินไป และไม่เปิดโอกาสให้มีการโต้ตอบของมนุษย์ ลูกค้าอาจรู้สึกขาดการเชื่อมต่อจากแบรนด์
2. แบรนด์จำเป็นต้องค้นหาสมดุลที่เหมาะสมโดยการบูรณาการระหว่างประสิทธิภาพและความเป็นส่วนตัวเข้ากับการตอบโต้จากพนักงานขายด้วย เพื่อเชื่อมโยงทางอารมณ์ของผู้บริโภคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
3. เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการตัดสินใจเกี่ยวกับประสบการณ์อัตโนมัติของตนโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีอำนาจในการตัดสินใจอยู่
4. เป้าหมายคือการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ สร้างความไว้วางใจ และปรับให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า สร้างประสบการณ์รอบด้านที่นอกเหนือไปจากการโต้ตอบแบบอัตโนมัติ
4. ทิศทางสื่อปี 2024 โฆษณาดิจิทัลยังแรง
มายด์แชร์คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาปี 2024 มีมูลค่า 115,581 ล้านบาท เติบโต 2% สอดคล้องกับตัวเลขจีดีพีปีนี้ที่เติบโตราว 3%
– สื่อทีวี มูลค่า 57,250 ล้านบาท ลดลง 5.4% จากพฤติกรรมคนดูจากจอทีวี (ออฟไลน์) ลดลง เจ้าของสื่อทีวีเอง ปรับตัวนำเวลาออกอากาศของสถานี มาทำรายการโฮม ช้อปปิ้ง สร้างรายได้อีกทาง
– สื่อที่น่าจับตามองในปีนี้คือสื่อออนไลน์ (ดิจิทัล) คาดมูลค่า 32,880 ล้านบาท เติบโต 13.4% ยังเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักได้ต่อเนื่อง เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ตอบโจทย์ปิดการขายได้ทันที รวมทั้งการเติบโตของ KOL และ Influencer ที่ใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทุกแพลตฟอร์ม ช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ จากการดูรีวิวของผู้ใช้จริง รวมทั้งการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซยังเป็นทิศทางขาขึ้น
– สื่อนอกบ้าน (OOH) ได้รับความสนใจใช้โฆษณามากขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณา มูลค่า 10,333 ล้านบาท เติบโต 12.5% สื่อเคลื่อนที่ (Transit) มูลค่า 8,450 ล้านบาท เติบโต 12.5% จากปัจจัยผู้บริโภคออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น นอกจากนี้สื่อนอกบ้านที่มีหลายฟอร์แมท ตอบโจทย์การใช้สื่อได้ตามทำเล (สถานที่) และช่วงเวลา
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE