ธุรกิจร้านอาหารมูลค่ากว่า 4.8 แสนล้านบาทของไทย กลับมาส่งสัญญาณบวกอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป แม้จะมีอุปสรรคด้านทุนต้น เศรษฐกิจอยู่บ้างแต่ว่าจากความนิยม บวกกับพฤติกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ทำให้มีผู้ประกอบการมากมายต่างเข้ามาชิงเค้กในสนามแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งร้านที่กลายมาเป็นดาวรุ่ง และกลุ่มแบรนด์ที่ล้มหายตายจากไป
ข้อมูลจาก Lineman Wongnai ระบุว่า การแข่งขันในธุรกิจที่สูงขึ้น ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมามีธุรกิจร้านอาหารเกิดขึ้นมากกว่า 100,000 ร้านค้า หรือเฉพาะในครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา (2566) จำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นถึง 13.6% หรือมีจำนวนทั้งหมด 680,190 ร้านค้า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ 598,693 ร้าน โดยร้านอาหาร 50% ปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก ขณะที่ 65% ปิดตัวลงใน 3 ปี นั่นสะท้อนให้เห็นการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรง
จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) หนึ่งในเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ในเครือเซ็นทรัลฯ ได้ปรับแผนงานและกลยุทธ์รูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรวมถึง Landscape ของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ออกเมนูใหม่ ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
ผลจากการปรับตัวดังกล่าว “คุณณัฐ วงศ์พานิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) บอกว่าถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 ที่ผ่านมา จากสถานการณ์อ่อนไหว และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ ซีอาร์จี เติบโต 13% ปิดรายได้ทะลุ 14,500 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่มากกว่า 140 สาขา จาก21 แบรนด์ ทำให้ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 1,600 สาขาทั่วประเทศ
เปิดไฮไลต์ Top Brand ที่ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา
โดยกลุ่มแบรนด์ที่เป็นไฮไลต์และประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ได้แก่
- แบรนด์ นักล่าหมูกระทะ (Nak-La Mookata) ซึ่งเป็นร้านหมูกระทะในห้องแอร์ ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เอื้อมถึงได้ง่าย โดยได้เปิดสาขาแรกที่ MBK Center และได้ขยายสาขาไปที่ The ForRest Phaholyothin รวมถึงสาขาอื่น ๆ จนมีทั้งหมด 6 สาขา
- ร้านอาหารเกาหลีต้นตำรับ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ภายใต้แบรนด์ คีอานิ (KIANI) สาขาเซ็นทรัล พระราม 9 ตอบรับกระแสความนิยมอาหารเกาหลีฟีเวอร์ตลอดกาล
- นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จจากแบรนด์เรือธงอย่าง KFC ที่ปล่อยแคมเปญมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เคเอฟซี เมนูหนังไก่แซ่บ ต่อด้วย Highlight Store เปิดร้านโฉมใหม่ KFC Digital Flagship @ Central World
- อานตี้ แอนส์ สร้างกระแสด้วยเมนูพรีเมี่ยมอย่าง Holy Cheese White Truffle
- การ collaboration ครั้งแรกในประเทศไทยระหว่าง คัตสึยะ x วันพีซ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปีที่ผ่านจะมีการปิดร้านในกลุ่มร้านอร่อยดี และ Grab Kitchen ที่ร่วมทุนกับแกร็บ ไปกว่า 30-40 สาขา เนื่องจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด ซึ่งทำให้ยอดกลับมานั่งทานในร้าน 80% และสั่งดิลิเวอรีลดเหลือเพียง 20% ทำให้ร้านที่เน้นดิลิเวอรีไปไม่รอด แต่จากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ก็ทำให้บริษัทสามารถกลับมาทำรายได้และผลงานได้ตามเป้า
ความสำเร็จในปีที่ผ่านมาของ CRG เกิดจากการทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น เกิดเป็นแผนระยะยาว 5 ปี (2567-2571) กับงบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท ในการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอาหารในเครือให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์ โดยวางเป้าหมายรายได้ 30,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า เริ่มต้นในปี 2567 นี้จะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท (ไม่รวมงบประมาณที่ใช้ในการ JV แบรนด์ใหม่) เพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่ใช้ 700-800 ล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีก 100-120 แห่ง โดยจะโฟกัสไปที่ Top Brand ยอดนิยม ได้แก่ KFC, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, คัตสึยะ, ส้มตำนัว, สลัดแฟคทอรี่ และ ชินคันเซ็น ซูชิ ขณะที่แบรนด์ในเครืออื่น ๆ จะเน้นการเพิ่มยอดขายของสาขาเดิม และมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการออกสินค้ารสชาติใหม่ โปรโมชันสุดคุ้มโดนใจ รวมไปถึงวางแผนกลยุทธ์กระตุ้นการขายในบางช่วงเวลา
“การใช้งบประมาณที่สูงขึ้นขึ้นในปีนี้ เนื่องจากแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นแม้จะต้องเผชิญกับสภาวะต้นทุน บุคลากรและคู่แข่ง แต่ว่ายังมีโอกาสทางการเติบโต โดยประเมินว่าภาพรวมอุตสาหกรรมจะเติบโต 5-7% มูลค่ารวม 480,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น”
เติมพอร์ตน้องใหม่ “ชาบู-ปิ้งย่าง (ยากินิกุ)” เสริมแกร่งธุรกิจร้านอาหาร
นอกจากแผนงานการขยายสาขาแบรนด์ขนาดใหญ่แล้ว อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ซีอาร์จีเร่งเครื่องมามากกว่า 5 ปีที่ผ่านมาคือกลุ่มธุรกิจร่วมทุน (JV) ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยปัจจุบัน CRG มีสัดส่วนรายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจ JV ที่ประกอบไปด้วย 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ ที่บริษัทเข้า JV ด้วย ได้แก่ Brown Café, สลัด แฟคทอรี่, ส้มตำนัว, ชินคันเซ็น ซูชิ และคีอานิ ทั้งสิ้น 15%
ยกตัวอย่างความสำเร็จบางส่วนของแบรนด์ที่ร่วมทุน (JV) ในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปีกับกับซีอาร์จี ประกอบไปด้วย
- สลัดแฟคทอรี่ มีสาขาเพิ่มขึ้น 33 สาขา เติบโตมากกว่า 200% จากยอดขายเดิม 200 ล้านบาท ก้าวกระโดดเป็น 600 ล้านบาท
- ชินคันเซ็น ซูชิ มีสาขาเพิ่มขึ้น 19 สาขา ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
- ส้มตำนัว มีสาขาเพิ่มขึ้น 2 สาขา ยอดขายเติบโต 400% และมีการเปิดร้านรูปแบบใหม่เป็น standalone ที่สาขาราชพฤกษ์ อีกด้วย
- นักล่าหมูกระทะ ซึ่งมีแผนจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มเร็ว ๆ
ดังนั้นแนวทางของการสร้างการเติบโตระยะยาวอีก ซึ่งแน่นอนในปีนี้ CRG มีแผนที่จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่อีก 2-3 แบรนด์ โดยมีความเป็นไปได้ทั้งการหาแบรนด์ใหม่เพื่อเข้ามาร่วมทุน โดยมองไปที่กลุ่มตลาด “ชาบู-ปิ้งย่าง(ยากินิกุ)” ซึ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ที่ซีอาร์จียังไม่มีการ JV ภายใต้ CRG Ecosystem ให้พันธมิตรร่วมกันเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน เนื่องจากมองว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงและกำลังเติบโตได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยในปี 2567 นี้ ยังตั้งเป้าขยายสาขาของธุรกิจในกลุ่ม JV มากกว่า 25 สาขา
โดย 3 ปัจจัยหลักที่ CRG จะให้ความสำคัญในการร่วมทุน ประกอบด้วย
- แบรนด์-เจ้าของธุรกิจต้องมีไฟในการทำงาน เพราะซีอาร์จีไม่ได้ต้องการเข้าไปแล้วให้เจ้าของเดิมขายหุ้นทิ้งทั้งหมดหรือจากไป แต่ต้องการให้ผู้ก่อตั้งรายเดิมเข้าไปสร้างการเติบโตร่วมกันโดยที่เจ้าของผู้ก่อตั้งแบรนด์ยังสามารถบริหารธุรกิจต่อได้
- แบรนด์จะต้องมีอัตราการเติบโตเป็น 3-4 เท่า เพื่อให้ง่ายต่อการขยายสาขา และการเพิ่มโอกาสทางการตลาดในอนาคต
- แบรนด์ต้องมีศักยภาพในการเติบโต โดยธุรกิจหรือแบรนด์นั้นๆ จะต้องเป็นธุรกิจที่มีเทรนด์การเติบโตที่ดี
“เพราะเราไม่เก่งทุกอย่าง การหาคนเก่งๆมาร่วมกัน มาผสมกันในการทำงานถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเรามีแพลตฟอร์มของตัวเอง และเราถนัดบริหาร การมีคนเก่งมาร่วมทุนถือเป็นสิ่งที่ดี โดยซีอาร์จีวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 14% หรือมียอดขาย 16,600 ล้านบาท” คุณณัฐ วงศ์พานิช กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE