แม้จะเป็นสวนสนุกแต่ก็อาจมีเรื่องไม่สนุกเกิดขึ้นได้ โดยครั้งนี้เกิดขึ้นกับสวนสนุกชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง Fuji-Q Highland ที่มีเครื่องเล่น “ตัวแรง” ระดับโลกมากมาย เพราะทางสวนสนุกได้ตัดสินใจปิดเครื่องเล่น “Do-Dodonpa” รถไฟเหาะตีลังกาที่เร็วเป็นอันดับสามของโลกเป็นการถาวรแล้ว หลังมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า ความเร็วดังกล่าวอาจมีผลทำให้กระดูกคอ และสันหลังของมนุษย์บาดเจ็บได้นั่นเอง
ความเร็วของ “Do-Dodonpa” เมื่อตอนเปิดตัวครั้งแรกในปี 2001 อยู่ที่ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำให้มันขึ้นแท่นรถไฟเหาะตีลังกาที่เร็วที่สุดในโลกในยุคนั้น แต่สิ่งที่ทำให้ Do-Dodonpa พิเศษกว่ารถไฟเหาะตีลังหาในยุคเดียวกัน (และจนถึงวันนี้) ก็คือ มันมาพร้อมระบบอัดอากาศในการส่งตัวเครื่องเล่นออกสู่ราง ทำให้สามารถเร่งความเร็วของตัวรถไฟเหาะไปที่ 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที และทำให้มันเป็นหนึ่งในเครื่องเล่นสุดฮอตของ Fuji-Q Highland ไม่ต่างจาก Fujiyama เอจาไนก้า หรือ ทาคาบิฉะ
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนธันวาคมปี 2020 – สิงหาคมปี 2021 มีรายงานว่า นักท่องเที่ยวที่ไป Fuji-Q Highland ไม่น้อยกว่า 5 คนได้รับบาดเจ็บ “กระดูกหัก” จากการนั่งรถไฟเหาะดังกล่าว และเป็นการหักที่เกิดจากการกดทับที่คอ-กระดูกสันหลัง โดยอายุของผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ระหว่าง 21 – 59 ปี (รายงานนี้ต้องการชี้ว่า ความหนาแน่นของมวลกระดูกอาจไม่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บดังกล่าว)
สิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือค่า G-Force จากการเร่งความเร็วของ Do-Dodonpa ที่ 3.75G ซึ่งหนักเกินไป (หรืออีกนิดก็จะเทียบเท่ากับนักบินที่ต้องอดทนรับแรงในระดับ 4G) และหากร่างกายของผู้เล่นไม่ได้พร้อมสำหรับแรง G ดังกล่าวก็จะนำไปสู่การบาดเจ็บที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง
ทั้งนี้ ทางสวนสนุกได้เริ่มตรวจสอบปัญหาดังกล่าวในช่วง Covid-19 ระบาด และมีการหยุดให้บริการ Do-Dodonpa ร่วมด้วย ซึ่งหลังจากรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เป็นเวลาสองปีครึ่ง ทางฝ่ายบริหารของ Fuji-Q Highland ก็ยอมรับว่าไม่มีทางทำให้ Do-Dodonpa ปลอดภัยกว่านี้ได้ และตัดสินใจปิดการให้บริการเครื่องเล่นดังกล่าวเป็นการถาวร รวมถึงได้ออกมาขอโทษผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องเล่น Do-Dodonpa อย่างเป็นทางการ
ส่วนเครื่องเล่น Do-Dodonpa จะยังคงตั้งอยู่ใน Fuji-Q Highland อีกสักระยะ เพื่อให้คนที่คิดถึงได้เข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก และจะมีการรื้อออกในอนาคต และมีรายงานว่า การปิดตัวเครื่องเล่นครั้งนี้ มีค่าใช้จ่ายที่บริษัทต้องแบกรับในการรื้อถอนและกำจัด 612 ล้านเยนเลยทีเดียว (ประมาณ 147 ล้านบาท)