“ทรู คอร์ปเปอเรชัน” ประกาศทิศทางธุรกิจปี 2024 ดึง AI ขับเคลื่อนองค์กร พร้อมสร้าง Digital Citizen 2,400 คน เตรียมเปิดตัว Mari AI โฉมใหม่ไตรมาส 2 คาดทำกำไรได้ในปีนี้
ทรู คอร์ปเปอเรชันเผยภาพรวมองค์กรหลังควบรวม “ทรู-ดีแทค” ครบ 1 ปี โดยคุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร และคุณชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาว่า
- มีการพัฒนา Network Modernization แล้ว 2,400 เสาทั่วประเทศ และในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เสา
- นำ AI มาพัฒนา Business Network Intelligence Center (BNIC) เพื่อออกแบบบริการที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
- ยกระดับผู้ช่วยอัจฉริยะ “มะลิ” (Mari AI) โฉมใหม่ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ของปีนี้
- ยอดรวมผู้ใช้งาน 51.9 ล้านเลขหมาย ณ สิ้นปี 2023
- ให้บริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมประชากร 90%
- ฐานผู้ใช้บริการ 5G อยู่ที่ 10.5 ล้านราย
“ทรูมีการทรานสฟอร์มองค์กรอย่างต่อเนื่องสู่การเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม-เทคโนโลยีเต็มรูปแบบ รวมถึงการปรับโครงสร้างการดำเนินการสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ในปี 2024 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจ มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ยกระดับประสบการณ์ลูกค้าระดับเวิลด์คลาส 2) ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเติมเต็มวิถีชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น 3) พลิกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำกำไรในปี 2567 นี้ และเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงเสริมสร้างการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ” คุณมนัสส์กล่าว
ในส่วนของธุรกิจการทรานสฟอร์มองค์กร ผู้บริหารทรู คอร์ปอเรชั่นเผยว่า ในปีนี้จะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร โรงงาน ธุรกิจค้าปลีก และที่พักอาศัย พร้อมตั้งเป้ารายได้จากบริการดิจิทัลโซลูชันเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริการผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง (Everything-as-a-Service) แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Data Platform) เป็นต้น
สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 คุณชารัด เมห์โรทรา ผู้บริหารทรู คอร์ปอเรชั่นเผยว่า จะมีการนำ Mari AI (ภาษาไทยชื่อ มะลิ) มาช่วยทีมงานบริการลูกค้า ทั้งในด้านเทคนิค และงานบริการ อย่างไรก็ดี รายละเอียดของ Mari นั้นจะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการในไตรมาส 2 ของปีนี้
ขณะที่ปัญหาด้านคุณภาพสัญญาณที่เคยเป็นประเด็นก่อนหน้านี้ คุณประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า การควบรวมจะช่วยให้การให้บริการดีขึ้นได้ เพราะเสาสัญญาณสามารถใช้ได้โดยลูกค้าของทั้งสองค่าย นอกจากนั้น ในปีนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังมีการลงทุนด้านโครงข่าย 30,000 ล้านบาท ซึ่งคุณประเทศยืนยันว่า ภายในสิ้นปี ประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายของลูกค้าทรูและดีแทคจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
สนใจ Virtual Banking?
คุณมนัสส์ ยังได้กล่าวถึงการทำ Virtual Banking ด้วยว่า อยู่ในกระบวนการของการพิจารณา แต่โดยหลักจะเน้นไปที่การ Partnership มากกว่า และทรู ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำหรือไม่ แต่ถ้าตัดสินใจทำ ก็จะเป็นในลักษณะ Partnership
ขอความชัดเจนคลื่นความถี่
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนกันยายน จากกรณีของคลื่นจากค่าย NT จะหมดอายุนั้น คุณมนัสส์ กล่าวว่า “คุณชารัดมีการทำ Spectrum Portfolio เอาไว้แล้ว ว่าเราเดินได้กี่แบบ เรามีวิธีคิดของเราครบถ้วนว่า ถ้าเงื่อนไขเป็นแบบนี้เราจะเดินได้อย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งคือประเทศไทยตอนนี้มีค่าคลื่นความถี่แพงเกินไป เราไม่ควรจ่ายค่าไลเซนส์แพงกว่าสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ถ้าต่ำกว่านี้สักนิดเพื่อประคองผู้ประกอบการให้ไปถึง 6G ก็น่าจะดีต่อการทำธุรกิจ”
ด้านคุณประเทศ ตันกุรานันท์ กล่าวเสริมว่า “เราอยากได้ความชัดเจนจาก กสทช. ว่ามีโรดแมปเกี่ยวกับคลื่นความถี่อย่างไรบ้าง จะเอาคลื่นไหนมาใช้บ้าง และจะออกมาในปีไหน กฎเกณฑ์ในการใช้เป็นอย่างไร เราเคยอยู่ในโมเมนต์ที่ว่า อีก 7 วันคลื่นจะโดนปิด ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราไม่อยากอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นอีกแล้ว หรือมีคลื่นให้แค่นี้ ไปสู้กันในห้องนั้นเอาเอง แล้วก็ออกมาเป็น 7 หมื่นล้านบาท ถ้าจะให้ดี ขอความชัดเจนให้เราหน่อยว่า ตอนนี้ กสทช. มีคลื่นแบนด์ไหนจะเอามาใช้กับประเทศไทย และจะเอามาในปีไหน เราจะได้วางแผนได้”