นครพนม จังหวัดขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงของภาคอีสานตอนบน เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถูกนิยามว่าเป็นเมืองรอง (แต่ก็เป็นเมืองรองนำร่องที่รัฐบาลพยายามผลักดันของภาคอีสานร่วมกับจังหวัดศรีสะเกษ) ซึ่งข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า เมืองรองแห่งนี้มีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจการค้าชายแดนที่มีทั้งคนลาวและคนไทยข้ามฝั่งกันไปมาจนเกิดการเติบโตด้านการจับจ่ายใช้สอย หรือต้นทุนทางธรรมชาติที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขง และแนวภูเขา ทำให้มีอากาศหนาวเย็นจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี ตลอดจนต้นทุนด้านวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเมืองแห่งความศรัทธาในวัดและความเชื่อเรื่องพญานาค
กลยุทธ์การตลาดเมืองรองเพื่อเจาะใจคนนครพนม และเพื่อตอบโจทย์คนในพื้นที่ของทรู คอร์ปอเรชั่น จึงมีการปรับใช้กับเมืองนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยคุณทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการจัดการระดับภูมิภาค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเคล็ดลับในการมัดใจตลาดเมืองรองว่า ทรูคอร์ปเน้นการวิเคราะห์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ รายได้ของพวกเขามาจากไหน ในแต่ละวันมีกิจวัตรอย่างไร และพ่วงด้วยการนำกระแสความเชื่อ หรือมูเตลูมาประสานกับการทำการตลาดในภาคอีสานและนครพนมนั่นเอง
ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงลึกของจังหวัดนครพนมที่ทางผู้บริหารทรูคอร์ปเปิดเผยก็คือ เป็นจังหวัดเติบโตล้อไปกับเทรนด์ฮอตแห่งยุค นั่นคือ มูเตลู ซึ่งคุณทิพยรัตน์กล่าวถึงเทรนด์นี้ว่า สังคมไทยยุคหลังโควิด โชคเป็นสิ่งที่คนมองหา เพราะคนมีความไม่มั่นใจสูง เราก็มีการปรับกลยุทธ์เบอร์เลขมงคล จากเมื่อก่อนจะมีราคาสูงมาก ตอนนี้ก็ไม่มีแบบนั้นแล้ว เป็นราคาที่ลูกค้าในพื้นที่สามารถจ่ายได้
“ประการที่สองคือเราต้องมั่นใจว่า ลูกค้าของเราจะอยู่ได้ บางจังหวัดมีร้านคาเฟ่น่ารัก ๆ เต็มไปหมดเลย เราก็ต้องทำให้มั่นใจว่า เขาจะอยู่ได้โดยคิดค่าบริการที่เหมาะสม ข้อต่อไปคือเทรนด์ด้านการท่องเที่ยว เราต้องมั่นใจว่าเสาสัญญาณของเราจะรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าได้ เช่น ที่นครพนมมีถ้ำนาคี เราก็ต้องมั่นใจว่า ถ้าลูกค้าขึ้นไปถึงบนยอดเขาแล้ว จะสามารถไลฟ์ ส่งภาพ แชท ฯลฯ กับครอบครัวหรือเพื่อนได้ในเวลาที่ต้องการ และข้อสุดท้ายคือราคาเครื่องที่มาวางขายในจังหวัดต้องไม่สูงมาก ต้องเลือกตัวเครื่องให้สอดคล้องกับรายได้ของคนในจังหวัดด้วย”
“ตอนนี้เราพบว่า คนที่มาเที่ยวนครพนม ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ เราก็อาจแนะนำรูทท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย ทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับในการทำตลาด ที่ต้องพยายามปรับให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุก ๆ ด้านที่เราเจอ”
“เคล็ดลับมัดใจเมืองรอง – ดูความต้องการของลูกค้า ธุรกิจที่ทำให้เขามีรายได้คือธุรกิจอะไร และคนที่มาเยี่ยมจังหวัดเขาคือคนกลุ่มไหน” คุณทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการจัดการระดับภูมิภาค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เปิด Used Case ใช้ IoT สร้างฟาร์มไก่อัจฉริยะ
แน่นอนว่า การใช้งานเครือข่ายโทรคมนาคมของผู้คนในจังหวัดนครพนมยังอยู่ในระบบ 4G มากกว่า 5G ที่มีราคาตัวเครื่องค่อนข้างสูง แต่การดึงความสามารถของ 5G เช่นการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT จำนวนมากได้พร้อม ๆ กันก็เป็นสิ่งที่ทรูคอร์ปนำมาสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ในภาคอีสานได้เช่นกัน โดยสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนบ้านนาคำผ่านโครงการฟาร์มไก่อัจฉริยะ
สำหรับจุดกำเนิดของการสร้างฟาร์มไก่อัจฉริยะมาจากความจริงข้อหนึ่งที่ว่า อากาศของภาคอีสานนั้นร้อนมาก และทำให้ไก่จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนตายมากกว่าภาคอื่น ๆ ที่มีการทำโครงการ (โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนที่โรงเรียนบ้านนาคำ (โพนสวรรค์) อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม เป็นฟาร์มไก่ 150 ตัว ผลิตไข่ได้ประมาณ 130 ฟองต่อวัน)
เจ้าภาพของงานนี้อย่างทรูดิจิทัล ในเครือทรูคอร์ปฯ จึงได้มีการนำอุปกรณ์ IoT อย่างเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิอากาศ และอุณหภูมิน้ำเข้าไปติดตั้งในฟาร์มไก่ โดยหากพบว่าอากาศร้อนเกินที่ระบบกำหนดไว้ จะสามารถเปิดพัดลมได้อัตโนมัติ หรือถ้าหากน้ำสำหรับไก่มีอุณหภูมิร้อนเกินไป (อุณหภูมิของไก่คือ 29 องศาเซลเซียส ถ้าไก่กินน้ำร้อนเกินกว่า 34 องศาเซลเซียส ไก่จะตาย) ระบบก็จะแจ้งเตือนไปยังโรงเรียนเพื่อให้ทางโรงเรียนเข้ามาเปลี่ยนน้ำให้ไก่ได้ ซึ่งการมีระบบนี้ ทำให้การเลี้ยงไก่และบริหารจัดการฟาร์มเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ในพื้นที่ฟาร์ม
ปัจจุบัน ทางทรูดิจิทัลได้ติดตั้งระบบ IoT เพื่อสร้างฟาร์มไก่อัจฉริยะให้กับโรงเรียนในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว 9 แห่ง จากทั้งหมด 900 กว่าแห่งทั่วประเทศ และพบว่า อัตราการตายของไก่จากอากาศร้อน – การกินน้ำร้อนลดลง ซึ่งเมื่ออัตราการตายของไก่ลดลง เด็ก ๆ ก็จะมีโอกาสได้บริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ท่องเที่ยวภาคอีสานขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวภาคอีสานขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญในภาคอีสาน ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางข้ามจังหวัดเพิ่มขึ้น เห็นได้จากอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น 66.1% (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายนปี 2023 เทียบกับปีก่อนหน้า)
ขณะที่ข้อมูลจากอีสานอินไซต์คาดว่าปี 2024 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 ล้านคน จากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย กระตุ้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะมาตรการยกเว้นวีซ่า และคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอีสานในปี 2024 จะโตขึ้น 2.8% เลยทีเดียว ด้านคุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคอีสานนับเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีค่า GDP เทียบเท่า 10% ของ GDP ประเทศ รองจากภาคกลาง และภาคตะวันออก (อ้างอิงจากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)
“สำหรับจังหวัดครพนม แม้จะเป็นเมืองรองแต่ก็เป็นเมืองที่มีศักยภาพ ทั้งต้นทุนด้านเศรษฐกิจมีการค้าชายแดน ต้นทุนธรรมชาติ ตั้งอยู่ริมน้ำโขงและแนวภูเขา และมีต้นทุนวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นเมืองสัญลักษณ์ความศรัทธาในวัดและความเชื่อพญานาค ด้วยจุดเด่นเหล่านี้ เราต้องช่วยพวกเขาเติบโตเพิ่มขึ้นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าทรู คอร์ปอเรชั่น จะช่วยทรานฟอร์มเศรษฐกิจในจังหวัดนครพนมให้เติบโตสู่การเป็นเมืองหลักได้อย่างรวดเร็วได้อย่างแน่นอน”