ธุรกิจเวชศาสตร์ความงาม (Aesthetic & Surgery) ของไทยในปี 2564 มีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นศัลยกรรม 67% และหัตถการ 33% ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องราว 10% ในช่วงปี 2565-2573
จากเทรนด์ดูแลผิวและความงามของผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ต่างชาติ ด้วยค่าบริการในไทยที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเมื่อเทียบกับค่าบริการเฉลี่ยของโลก รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของภาครัฐ ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านหัตถการและศัลยกรรมความงามอันดับต้น ๆ ของเอเชียแปซิฟิก รองจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน
SCB EIC เปิดมุมมองความสวยยุคใหม่ สวยทันใจ สำรวจผู้บริโภคชาวไทยด้านเวชศาสตร์ความงาม พบว่าส่วนใหญ่ใส่ใจด้านความสวยความงาม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ผู้หญิง และ LGBTQIA+ ที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความสวยความงามมากขึ้นและใช้จ่ายในด้านเวชศาสตร์ความงามสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
4 ปัจจัยสำคัญดันตลาดเวชศาสตร์ความงามในไทยเติบโต
1. ค่านิยมความสวยงามในยุคโซเชียลมีเดีย คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์
– ข้อมูลของ Meta พบว่ามากกว่า 600 ล้านคนทั่วโลกใช้ฟิลเตอร์บน Facebook และ Instagram
– ผลสำรวจของ University of London ในปี 2021 พบว่า 90% ของผู้หญิงทั่วโลกจะแต่งรูปและใส่ฟิลเตอร์ก่อนโพสต์ลงโซเชียล มีเดีย
2. ค่าบริการในไทยเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะบริการด้านเวชศาสตร์ความงามที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้บริการ
– เสริมหน้าอก ค่าบริการในไทยเฉลี่ย 82,500 บาทต่อครั้ง (ค่าบริการเฉลี่ยของโลก 152,361 บาทต่อครั้ง)
– ฉีดโบท็อก ค่าบริการในไทยเฉลี่ย 250 บาทต่อยูนิต (ค่าบริการเฉลี่ยของโลก 560 บาทต่อยูนิต)
3. เทรนด์ดูแลความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย
จากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของไทย โดยในปี 2026 จะมีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป สัดส่วน 24% ของจำนวนประชากร
4. การส่งเสริมจากภาครัฐสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย
โดยบริการด้านเวชศาสตร์ความงามถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
– นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั่วโลกนิยมใช้บริการเวชศาสตร์ความงามสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบริการทันตกรรม
– ในปี 2021 ชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการเวชศาสตร์ความงามในไทยเพิ่มขึ้นราว 20% โดยส่วนใหญ่เดินทางมาจากยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย
ธุรกิจหัตถการเสริมความงาม
– หัตถการเสริมความงาม เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายฐานผู้ใช้บริการได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ชายและ Gen Z
– ผู้ใช้บริการหัตถการเสริมความงามมีสัดส่วน 44%
กลุ่มการฉีด : โบท็อกซ์ 30%, IV Drip 15%, ฟิลเลอร์ 13%, สเต็มเซลล์ 4%
กลุ่มรักษาและบำรุงผิว : ทรีตเมนต์ผิวหน้า 55%, เลเซอร์ผิว 39%, เลเซอร์กำจัดขน 33%, ฉีดผิว กดสิว 33%
กลุ่มลดไขมันและปรับรูปร่าง/รูปหน้า : คลื่นความถี่ (Hifu,Ulthera) 22%, เทคโนโลยีกระชับสัดส่วน 15% ร้อยไหม 5%
– ผู้ที่ไม่เคยใช้บริการหัตถการเสริมความงาม แต่สนใจ 24%
– ผู้ใช้บริการหัตถการมากกว่า 1 ประเภท มีสัดส่วน 63%
– ผู้ใช้บริการหัตถการความงาม 69% ใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง
– เลือกใช้บริการจากสถานบริการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างคลินิกหัตถการความงาม และโรงพยาบาลเฉพาะทาง ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยทั้งจากสถานบริการและอุปกรณ์/เครื่องมือที่ใช้ให้บริการ
ธุรกิจศัลยกรรมความงาม
– การทำศัลยกรรมเสริมความงามมีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 21% แต่มีแนวโน้มผู้บริโภคให้ความสนใจเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่ไม่เคยทำศัลยกรรมความงาม บอกว่าสนใจ 21%
– ส่วนใหญ่ทำศัลยกรรมมากกว่า 1 ประเภท มีสัดส่วน 65% การศัลยกรรม “จมูกและตา” เป็นที่นิยมสูงสุดทั้งจากผู้ที่ผ่านการทำศัลยกรรมเสริมความงามมาแล้วและผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมในอนาคต
– ประเภทการทำศัลยกรรม
- จมูก 46% (LGBTQIA+ 53% ,หญิง 48%, ชาย 36% / Gen Z สูงสุด 72%)
- ตา 43% (หญิง 49%, ชาย 26% LGBTQIA+ 24% / Baby Boomer สูงสุด 84%)
- ใบหน้า (คาง,กราม) 26%
- ดูดไขมัน 24%
- หน้าอก 13%
- ร่างกาย (หน้าท้อง,ก้น) 9%
ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการศัลยกรรมเสริมความงามจากโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางและคลินิกศัลยกรรมตกแต่งความงามเป็นหลัก เนื่องจากมาตรฐานความปลอดภัยเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ขณะที่การทำศัลยกรรมในต่างประเทศก็ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
แม้หัตถการและศัลยกรรมเสริมความงามจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับการทำหัตถการและศัลยกรรมความงามเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แต่การเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ และยังคงรักษาฐานผู้ใช้บริการรายเดิมให้กลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญของธุรกิจหัตถการและศัลยกรรมเสริมความงาม
1. การกำหนดราคาที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจหัตถการเสริมความงามในการเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการเดิมกลับมาใช้บริการซ้ำ และการเจาะกลุ่มผู้ใช้บริการใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมใช้บริการหัตถการเสริมความงามมากกว่า 1 ประเภท และยังมีผู้บริโภคไม่น้อยที่สนใจใช้บริการหัตถการเสริมความงาม อีกทั้ง การพัฒนาแพ็กเกจการบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลควบคู่ไปด้วยจะสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
2. การสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการ ทั้งชื่อเสียงของสถานบริการ ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์ และความปลอดภัยของอุปกรณ์/เครื่องมือที่ให้บริการจะสามารถดึงดูดผู้ที่สนใจทำศัลยกรรมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล ซึ่งนอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานบริการศัลยกรรมเสริมความงามของผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันจากบริการศัลยกรรมในต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นผ่านธุรกิจให้คำปรึกษาและบริการศัลยกรรม (เอเจนซี่) อีกด้วย นอกจากนี้ การแชร์ประสบการณ์และผลลัพธ์ที่ดีจากผู้ใช้บริการจริงจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำศัลยกรรมเสริมความงามได้โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่ได้รับอิทธิพลจากการรีวิว/โฆษณา
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE