โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ ครม.มีมติเห็นชอบหลักการ ไปเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2567 ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินราว 50 ล้านคน เป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท (หรือ 840,000 บาทต่อปี) และมีเงินฝากในสถาบันการเงินไม่เกิน 500,000 บาท
“ดิจิทัลวอลเล็ต” จะจ่ายผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าได้ทุกประเภท (ยกเว้นอบายมุข บริการ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าออนไลน์) จากร้านค้าปลีกขนาดเล็กภายในอำเภอ รวมถึง “ร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก” ซึ่งการใช้จ่ายจะเริ่มในไตรมาส 4 ปี 2567
SCB EIC จึงได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งผลการสำรวจที่น่าสนใจมีผลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกสรุปได้ดังนี้
1. เม็ดเงินส่วนใหญ่จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะหมุนเข้าระบบภายใน 6 เดือน โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาทครบภายใน 6 เดือน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) หรือ กลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการ
2. กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าจะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลง หากได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย โดยบางส่วนจะนำเงินส่วนตัวที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการให้ญาติใช้จ่าย/นำไปลงทุนธุรกิจต่อ
หากรวมเงินที่เข้าสู่ระบบข้างต้น จะพบว่าราว 30% ของผู้มีสิทธิทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 4-7 หมื่นบาท)-ปานกลาง (1.5-4 หมื่นบาท)-น้อย (< 1.5 หมื่นบาท) มีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย
นอกจากนี้ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง และนำเงินที่ลดลงดังกล่าวไปเก็บออม/ชำระคืนเงินกู้ (คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของผู้มีสิทธิที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัว) ซึ่งช่วยลดภาระหนี้ของผู้มีสิทธิหรือทำให้ผู้มีสิทธิมีเงินออมเพื่อใช้จ่ายในยามจำเป็นมากขึ้น
3. สินค้าอุปโภคบริโภคและของสด หรือ Grocery ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด
ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหารเป็นสินค้ารองลงมาที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงการ ส่วนผู้มีสิทธิกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อแต่ง/ซ่อมบ้านเพิ่มเติมด้วย
กลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และมือถือ คาดว่าได้รับอานิสงส์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตบ้าง จากกลุ่มผู้มีสิทธิราว 10-17% ที่เลือกใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนติดท็อป 3 โดยกลุ่มผู้มีสิทธิเหล่านั้นเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว หรือเป็นกลุ่มที่ไม่ลดการใช้จ่าย/เพิ่มการใช้จ่ายเงินส่วนตัว ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิ กลุ่ม Gen Y และ Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท
4. ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อ จะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น ซีเจ 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด รองลงมาเป็นร้านอาหารและร้านขายยา
ร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตร คาดว่าจะได้อานิสงส์อยู่บ้าง โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายในร้านค้าเหล่านี้เป็นอันดับที่ 5 โดยผู้มีสิทธิที่รายได้สูงหรืออยู่ในกรุงเทพฯ/หัวเมืองใหญ่จะนำไปใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์ยานยนต์ ขณะที่ผู้มีสิทธิอยู่ต่างจังหวัด/รายได้น้อยจะเลือกใช้จ่ายในร้านอุปกรณ์การเกษตร
ในส่วนของร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น แม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายของผู้มีสิทธิในโครงการ แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิฯ มาใช้จ่ายต่อไปยังร้านค้าอื่น ๆ เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต็อกสินค้าในร้านค้า เป็นต้น
5. การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในร้านค้าตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินโครงการ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่ามีสิทธิในโครงการ มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการ เป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายเงินของโครงการ
โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน/อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งราว 70% ของกลุ่มเหล่านั้น มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยปัญหาหลักของการใช้จ่าย มาจากการไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม