Spotify ย้ำยังให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยหลังจากเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 2017 จนถึงวันนี้ ทางแพลตฟอร์มระบุว่า มีตัวเลขศิลปินไทยเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมเผยกระแส T-Pop ดังไกลในตลาดสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย และทางแพลตฟอร์มมีการจ่ายเงินส่วนแบ่งให้กับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกแล้วถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนกรณีการ Cover เพลงดังของไทย จากฝั่งฟิลิปปินส์นั้น ทางแพลตฟอร์มเผยว่าได้มีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน รวมถึงมีการนำเพลงของศิลปินคนดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์มแล้ว
อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังเติบโต สิ่งนี้ได้รับคำยืนยันจากคุณ Gustav Back กรรมการผู้จัดการ Spotify ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านข้อมูลการเติบโตของแพลตฟอร์มว่า ปัจจุบัน Spotify มีผู้ใช้งานมากกว่า 602 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้งานแบบจ่ายเงิน 236 ล้านราย ในส่วนของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม พบว่ามีเพลง 100 ล้านเพลง พ็อดแคสต์ 5 ล้านชิ้น และให้บริการแล้วใน 180 ตลาด โดย Spotify มีการจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเพลงไปแล้วกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.2 แสนล้านบาท
ในส่วนของประเทศไทยนั้น คุณ Gustav กล่าวว่า กระแส T-Pop ได้รับความนิยมสูงมากขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ขณะที่จำนวนศิลปินไทยบนแพลตฟอร์มเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า พร้อมชี้ว่า การเข้าถึงแพลตฟอร์ม Spotify ทำให้ศิลปินไทยก้าวออกสู่ตลาดโลกได้เร็วขึ้น
เบื้องหลังการทำงานของ Spotify
การคัดเลือกเพลงขึ้นมาแสดงบนเพลย์ลิสต์เป็นอีกหนึ่งเบื้องหลังการทำงานที่คุณ Gustav นำมาเปิดเผย โดยเขาระบุว่ามีทั้งการเลือกเพลงโดยอัลกอริธึม และการเลือกโดยทีม Editorial ที่เป็นพนักงานมนุษย์และเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมดนตรี แต่ไม่สามารถเปิดเผยจำนวน หรือการมีอยู่ของทีมงานดังกล่าวได้
ในส่วนของศิลปิน คุณ Gustav เผยว่า ที่ผ่านมา ทางแพลตฟอร์มมีการสนับสนุนศิลปินผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Dashboard สำหรับแสดงผลอินไซต์ต่าง ๆ ให้ศิลปินได้ทราบว่า แฟนคลับของตนเองนั้นเป็นผู้บริโภคกลุ่มใด และมีฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นเพิ่มเติมอย่าง Countdown Pages สำหรับให้ศิลปินใช้เวลาต้องการเปิดตัวเพลงใหม่ ฯลฯ ให้ใช้งานกันด้วย
นอกจากนี้ ทางแพลตฟอร์มเผยว่า ได้มีความพยายามสนับสนุนความเท่าเทียมในกลุ่มศิลปินผู้หญิง และกลุ่ม LGBQIA+ ด้วยการนำเสนอเพลงจากศิลปินกลุ่มนี้เพิ่มเติมบนแพลตฟอร์ม
โฆษณาบน Spotify
ในส่วนของโฆษณา นอกจากจะเป็นแบรนด์ต่าง ๆ มาซื้อโฆษณาบน Spotify แล้ว คุณ Gustav เผยด้วยว่า ทางค่ายเพลงสามารถซื้อโฆษณาจากทางแพลตฟอร์มเพื่อโปรโมตผลงานของศิลปินในค่ายตนเองได้เช่นกัน ซึ่งรายได้จากค่าโฆษณาเหล่านี้จะถูกนำไปจ่ายให้กับศิลปิน และค่ายเพลงต่อไป
ย้ำความสำคัญตลาดไทยผ่าน Spotify House
เพื่อบอกว่าตลาดไทยยังคงมีความสำคัญ เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ทาง Spotify ได้อิเวนต์ “Spotify House” ที่ Bangkok Kunsthalle โดยภายในงานมีการรวมตัวศิลปินที่ได้รับความนิยมจากเพลย์ลิสต์บน Spotify เช่น Tilly Birds, PiXXiE, Paper Planes, Lipta ฯลฯ มาร่วมสร้างสีสัน
อย่างไรก็ดี Spotify House ไม่ได้จัดที่ไทยเป็นประเทศแรก เพราะทางบริษัทเคยจัดในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมาแล้วก่อนหน้านี้
ศิลปิน vs ปัญหาลิขสิทธิ์
คุณ Gustav ยังได้กล่าวถึงกรณีของการ Cover เพลง และละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มว่า ทางแพลตฟอร์มให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และยังร่วมทำงานกับหลายภาคส่วน ซึ่งกรณีของศิลปินไทย – ฟิลิปปินส์นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ส่วนเพลงที่มีปัญหา พบว่าได้นำออกจากแพลตฟอร์มแล้ว