HomeReal Estate & Condoศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำขอ ‘นิติบุคคล’ แอชตัน อโศก ให้พิจารณาคดีใหม่ 

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำขอ ‘นิติบุคคล’ แอชตัน อโศก ให้พิจารณาคดีใหม่ 

แชร์ :

คดีคอนโดแอชตัน อโศก ที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” ใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการของ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” ประเทศญี่ปุ่น เป็นคอนโดหรูสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประเด็นของคดีเนื่องจาก “ที่ดินทางเข้า-ออก” อาคารแอชตัน อโศก เป็นที่ดินของ รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้

นิติบุคคลอาคารชุด “แอชตัน อโศก” ยื่นขอพิจารณาคดีใหม่

จากคำพิพากษาดังกล่าว ทางนิติบุคคลอาคารชุด “แอชตัน อโศก” (ในฐานะผู้ร้อง) จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ด้วยเหตุผลดังนี้

–  การที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ “เพิกถอน” ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก ตามมาตรา 39 ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ตรี ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ทุกฉบับ โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการจดทะเบียนอาคารชุด แอชตัน อโศก หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด ทำให้ผู้ร้อง(นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมไม่สามารถเข้าไปดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางและทรัพย์สินส่วนบุคคลได้

–  ในกรณีที่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้โครงการอาคารชุด แอชตัน อโศก มีทางเข้า-ออก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ว่า กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3)  โดยผู้อำนวยการสำนักงานโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จะต้องมีคำสั่งให้ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมระงับการใช้อาคารชุด แอชตัน อโศก เนื่องจากการก่อสร้างและเปิดใช้อาคารดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร

ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จึงเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบจากผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้  นอกจากนี้ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมเชื่อโดยสุจริตว่า การก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการอนุญาตให้ผู้ร้องสอด (อนันดา) ใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นทางเข้า-ออกโครงการ แอชตัน อโศก สู่ถนนอโศก ไม่ได้เป็นเหตุทำให้การใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนต้องเสียไป และไม่ได้กระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท

– การเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ตรี  ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) หรือรื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมในอาคารชุด แอชตัน อโศก อย่างร้ายแรง และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว จะขยายวงกว้างออกไปมากกว่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับ

– กรณีนี้จึงมีเหตุที่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 และ 3  พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

–  ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ไม่รับ” คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ที่จะมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1  พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  ผู้ร้อง (นิติบุคคล) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุด “ไม่รับคำขอ” พิจารณาคดีใหม่

– เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ 351/2567  วินิจฉัยว่า  “การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษา “เพิกถอน” ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างและใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา) ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ย่อมมีผลให้ทางกฎหมายเพียงพอว่า

– ผู้ร้องสอด (อนันดา) ก่อสร้างและดัดแปลงอาคารชุด แอชตัน อโศก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องไปพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ต่อไป  แต่ไม่มีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนอาคารชุด หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด และการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก แต่อย่างใด

– หากมีข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522  กับอาคารแอชตัน อโศก ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมจะใช้สิทธิทางศาลต่อไป

– กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองในคดี มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมอาคารชุด แอชตัน อโศก

– ดังนั้นผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคดีนี้ ที่จะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

– เมื่อเป็นเช่นกัน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ศาลปกครองจะพิจารณาคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 ถึง 4  ตามอุทธรณ์ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

–  ดังนั้น คำอุทธรณ์ของผู้ร้อง (นิติบุคคล) ฟังไม่ขึ้น  ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ไม่รับคำขอของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไว้พิจารณา 

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

อ่านเพิ่มเติม

 


แชร์ :

You may also like