ปกติเวลาเศรษฐกิจไม่ดี “ตลาดรถยนต์มือสอง” หรือ “รถยนต์ใช้แล้ว” (Used Car) จะคึกคัก เพราะผู้บริโภคมักเลือกซื้อรถมือสองที่มีราคาถูกกว่ารถป้ายแดง แต่ในปีนี้กลับเปลี่ยนไป ภาพรวม 3 เดือนแรกของปี ตลาดรถมือสองอยู่ในสถานการณ์ “เหนื่อย” ไม่น้อย ผู้ประกอบการบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าแสนสาหัส เพราะคนตัดสินใจซื้อยากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ ในขณะที่ซัพพลายรถมือสองก็ล้นตลาด
ทำไมสถานการณ์ตลาดรถมือสองถึงเป็นเช่นนั้น? แล้วอีก 9 เดือนที่เหลือ ตลาดรถมือสองจะไปในทิศทางไหน ผู้บริโภคยังสนใจซื้อรถมือสองหรือไม่ Brand Buffet ชวนมาฟังบทวิเคราะห์เรื่องนี้จาก “กรุงศรี ออโต้” “KKP Research” และ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”
พิษเศรษฐกิจ-EV ทำยอดรถมือสองโตไม่สดใส
แม้ที่ผ่านมา “ตลาดรถมือสอง” ไม่ได้ขยายตัวอู้ฟู้เหมือนรถใหม่ แต่เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทยอย่างมาก ด้วยมูลค่าหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ประกอบกับมีผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก และรายใหญ่เข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการเติบโตเรื่อยมา โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ต้องเจอกับผลกระทบโควิด แต่ผู้คนมีความต้องการใช้รถส่วนตัวมากขึ้น บวกกับรถใหม่ป้ายแดงผลิตไม่ทัน จึงส่งผลให้ตลาดรถมือสองเติบโตสวนภาวะเศรษฐกิจ และรถใหม่อย่างมาก
กระทั่งในปี 2565 และ 2566 ถึงสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น แต่ตลาดรถมือสองยังสดใส โดยมีการเติบโตประมาณ 3-5% จนมาปี 2567 สถานการณ์กลับเปลี่ยนไป โดยตลาด “หดตัว” หนัก สะท้อนได้จากการชะลอตัวของยอดสินเชื่อรถใหม่ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่ง คุณคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บอกว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรุงศรี ออโต้ มีการอนุมัติสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 80% โดยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเซกเมนต์ที่ผู้บริโภคนิยมมากสุด เพราะมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนด้านภาษี รวมถึงมีหลายแบรนด์และรุ่นให้เลือกมากขึ้น
สำหรับการหดตัวลงของตลาดรถมือสองดังกล่าว มาจากพิษเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้มีรถโดนยึดเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 5-9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพราะลูกหนี้บางส่วนส่งต่อไม่ไหว ส่งผลให้ปริมาณรถมือสองล้นตลาด รวมทั้งกำลังซื้อก็ลดลงด้วย เพราะผู้บริโภคจำนวนมากไม่อยากเป็นหนี้ก้อนโต ขณะที่แบงก์ก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมาจากรถ EV ที่เข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น เพราะแต่ละแบรนด์ต่างหันมาใช้กลยุทธ์ราคากันอย่างหนักด้วยการปรับราคารถยนต์ใหม่ลงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด จึงกดดันให้รถใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปต้องทุบราคาและอัดแคมเปญตาม เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้เช่นกัน เมื่อผนวกกับรถยนต์มือสองในตลาดมีมากขึ้น ทำให้ต้องปรับลงไปด้วย ผลที่ตามมาก็คือ ราคารถมือสองจึงปรับฐานลงมาอย่างมาก ไม่เช่นนั้นก็แข่งขันไม่ได้
เชื่อ 8 เดือนที่เหลือ รถมือสองกลับมาคึก ราคาขยับขึ้น
แม้ 3 เดือนแรกตลาดรถยนต์มือสองจะไม่สดใส แต่ทิศทางอีก 8 เดือนที่เหลือของปี กรุงศรี ออโต้ เชื่อว่าตลาดจะค่อยๆ ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับราคารถมือสองจะขยับเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปริมาณรถยนต์มือสองในลานประมูลจะมีจำนวนลดลง แต่ทั้งนี้ ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
เพราะพฤติกรรมการซื้อรถของผู้บริโภคตอนนี้ มีความ “กังวลเรื่องเงิน” มากขึ้น ทำให้ระมัดระวังในการซื้อรถและขอสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักยังมาจากภาระหนี้ครัวเรือน ทั้งยังเพิ่งฟื้นตัวจากสภาวะวิกฤต ซึ่งบางรายยังมีปัญหาหนี้สินติดพันมาตั้งแต่วิกฤติโควิดที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดรถ EV ยังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตนาคินภัทร ระบุว่า ปัจจุบัน EV มียอดขายสูงถึง 70,000 คัน คิดเป็น 9% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด หรือ 17% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และสามารถก้าวขึ้นมามีสัดส่วนยอดขาย EV ใกล้เคียงกับจีนภายในหนึ่งปีครึ่ง
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV ในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 15% และ 16% ของตลาดรถยนต์ และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV ในกลุ่มรถยนต์นั่งจะเพิ่มไปเป็น 28% และ 31%
ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่ไม่ง่ายสำหรับตลาดรถยนต์มือสองเหมือน 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจึงต้องวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและตลาดอยู่ตลอดเวลา เพราะจะช่วยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE