การเปิดเผยตัวเลขรายได้ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 252 ล้านล้านบาท ที่กลุ่มครีเอเตอร์ทั่วโลกร่วมกันสร้างขึ้นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของศาสตราจารย์เดวิด เครก (Prof.David Craig) ในงาน “Global Creator Culture Summit” ที่จัดขึ้นโดย AIS เมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา เพราะตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า Creator Commerce เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลต่อวงการโซเชียลมีเดีย และกำลังสร้างการเติบโตในมิติใหม่ ๆ อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง
มากไปกว่านั้นคือคำนิยามของครีเอเตอร์ที่ศาสตราจารย์เดวิด เครกเผยว่า พวกเขาคือศูนย์กลางของรายได้บนแพลตฟอร์ม อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเป็นแบรนด์ – สร้างชุมชนออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งศักยภาพเหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมแวดล้อมอื่น ๆ ได้อีกมาก เช่น การพัฒนาบริการ และฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวม หรือแม้แต่ภาคอสังหาที่มองหา Space สำหรับ Creator
เสน่ห์ของครีเอเตอร์ เบื้องหลังรายได้ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขรายได้ที่น่าประทับใจของบรรดาครีเอเตอร์หนีไม่พ้นความมีเสน่ห์และตัวตนของพวกเขา ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่หลายคนอยากทราบไม่แพ้กันว่า พวกเขามีวิธีการอย่างไรในการสร้างให้ช่อง หรือการไลฟ์ของตนเอง มี “เสน่ห์” ดึงดูดผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียให้ตัดสินใจกดซื้อของ หรือกดติดตาม
วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับของ 3 ครีเอเตอร์ดังอย่าง คุณอติชาญ เชิงชวโน หรืออู๋ Spin9 ยูทูบเบอร์ที่ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก คุณวุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน จากช่องอาตี๋รีวิว ครีเอเตอร์ผู้สร้างยอดขายพันล้านบาทในหนึ่งปี และคุณธรรมชาติ โยธาจุล ครีเอเตอร์ LGBTQ ผู้มาพร้อมสโลแกน อย่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ในฐานะ 3 ครีเอเตอร์ผู้รันวงการโซเชียล มาฝากกัน
3C เบื้องหลังสำคัญของ “อู๋ Spin9”
คุณอติชาญ เชิงชวโน หรืออู๋ Spin9 เผยเคล็ดลับในการสร้างช่อง Spin9 จนเติบโตและมีโอกาสทำงานร่วมกับแบรนด์ดังระดับโลกมากมายด้วย 3C ซึ่งประกอบด้วย
– Capability หรือความสามารถที่แสดงให้แบรนด์ได้เห็นว่าเรามีศักยภาพในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น หากต้องการเป็นครีเอเตอร์ด้านเทคโนโลยี ก็ควรมีทักษะในการเล่าเรื่องเทคโนโลยีให้เข้าใจง่าย หรือน่าสนใจ เป็นต้น
– Creditibity หรือความน่าเชื่อถือ ครีเอเตอร์ที่ต้องการทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกจึงต้องมีภาพลักษณ์ของความน่าเชื่อถือ เช่น การศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ของแบรนด์ และให้ข้อมูลที่จริงใจ แม่นยำ
– Creativity หรือการนำเสนออย่างมีความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าจะเป็นการว่าจ้างโดยแบรนด์ที่ครีเอเตอร์อาจต้องทำตามโจทย์ของผู้ว่าจ้าง แต่ครีเอเตอร์ก็ต้องสามารถเสนอแนวทางของตัวเอง หรือแนะนำเทคนิคใหม่ ๆ ให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน
สต๊อก-สคริปต์-ทีมงาน เคล็ดลับจากอาตี๋รีวิว ผู้สร้างยอดขายพันล้านบาทในหนึ่งปี
ช่องอาตี๋รีวิว ที่ถูกถ่ายทอดโดยคุณวุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน ครีเอเตอร์ผู้สร้างยอดขายพันล้านบาทในหนึ่งปี และยังครองตำแหน่ง TikTok Shop Creator of the year ก็เป็นอีกหนึ่งครีเอเตอร์ไทยที่น่าจับตา โดยจุดเด่นของช่องก็คือการไลฟ์ที่มีเสน่ห์น่าติดตาม เล่าเรื่องแบบปิดการขายได้ เพราะมองจากมุมลูกค้า และคุณวุฒิพงษ์ได้กล่าวถึงเทคนิคที่เขาใช้ในการเตรียมตัวก่อนการไลฟ์จนเป็นที่มาของยอดขายดังกล่าวเอาไว้ 3 ข้อ ดังนี้
– การมีระบบบริหารจัดการสต็อกสินค้าที่ดี โดยคุณวุฒิพงษ์ชี้ว่า ระบบบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ครีเอเตอร์มีโอกาสสร้างยอดขายที่สูงขึ้นได้
– การบริการจัดการทีมงาน หรือการจัดทำ Function ของทีมงานให้พร้อมต่อการไลฟ์
– การเตรียมสคริปต์ – ศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์มาอย่างดีก่อนการไลฟ์
“ธรรมชาติx10” ครีเอเตอร์ LGBTQ ที่ขอเติบโตเหนือธรรมชาติ
ผู้รันวงการโซเชียลที่น่าจับตาอีกหนึ่งคนหนีไม่พ้นคุณธรรมชาติ โยธาจุล เจ้าของช่อง Thammachad กับการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ที่เธอบอกว่า ขอเล่นใหญ่ด้วยการคูณตัวเองในเวอร์ชันปกติเข้าไป 10 เท่า ซึ่งปัจจุบัน ช่องของคุณธรรมชาติมีผู้ติดตามรวมกันกว่า 5.8 ล้านคน ยอดถูกใจกว่า 324.5 ล้าน
เธอเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า มาจากการเสพจนชอบ เมื่อชอบแล้วก็จะอยากทำให้เป็น เมื่อทำเป็นก็จะอยากทำให้ดี และเมื่อทำได้ดี ก็จะทำให้เกิดการแพร่หลายในวงกว้าง (แมส) ได้
ทั้งนี้ สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำคอนเทนต์ คุณธรรมชาติให้คำแนะนำว่า อาจเริ่มจากคอนเทนต์ที่น่าสนใจ หรือสิ่งที่ทำตามได้ง่าย หรือสิ่งที่คนปกติไม่คิดจะทำกัน หรือหากต้องการสร้างตัวตนให้น่าสนใจ การใส่พลังคูณสิบลงไปในตัวตนเดิมของเราก็อาจเป็นการก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซนด้วยเช่นกัน
4 ความต่าง TikTok ดัน Creator Commerce
ในมุมของแพลตฟอร์ม คุณกวิน ภาณุสิทธิกร Head of Seller Management ของ TikTok ประเทศไทย มองว่า การสร้างยอดขายบน TikTok อาจมีความแตกต่างเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลอื่น ๆ เหตุเพราะปัจจัย 4 ข้อที่ TikTok มี ไม่ว่าจะเป็น การ Decentralize หรือการนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลาย แทนที่จะเน้นนำเสนอคอนเทนต์จากช่องที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก
ประการต่อมาคือการที่ผู้ใช้งาน TikTok เข้ามาในแพลตฟอร์มเพื่อมองหาความบันเทิง – ความรู้ซึ่งเป็น Mindset ที่ทำให้เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า จากปัจจัยนี้ทำให้ TikTok กลายเป็นพื้นที่สำหรับ Shoppertainment หรือการซื้อสินค้าที่มาจากความบันเทิงไปด้วย และข้อสุดท้ายคือการ Localization หรือการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ แทนการใช้นโยบายแบบ Global-one-size-fit-all ซึ่งความหลากหลากจากกระแส Creator commerce บนแพลตฟอร์ม TikTok ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองและมีศักยภาพในการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน