“ความหลากหลายของงานที่ BrandThink ทำให้เรามีมุมที่มองอะไรได้กว้างขึ้น สามารถเข้าใจประเด็นต่างๆ ได้ดีขึ้น เราลงลึกไปกับคอนเทนต์แต่ละแบบและจับจุดแข็งมารวมกันเพราะเราเชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างความแตกต่างได้”
สำหรับ BrandThink ความหลากหลายเป็นเหมือนวัตถุดิบชั้นยอดสำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์สำหรับโลกยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องของความแตกต่างของเนื้อหา แต่รวมถึงการนำทักษะต่าง ๆ มารวมกัน เพื่อเติมเต็มคอนเทนต์แต่ละแบบออกมาใหม่ สมบูรณ์และตอบโจทย์ได้มากที่สุด วันนี้เราจึงขอชวน เอกลักญ กรรณศรณ์ Managing Director ของ BrandThink มาพูดคุยเรื่องวิชั่นในโลกคอนเทนต์ปี 2024 และในอนาคต
จุดกำเนิดของ BrandThink
“อาจจะต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า BrandThink เองมีจุดกำเนิดจากการเป็นเฮาส์ที่รับผลิตงานภาพยนตร์โฆษณา ทำให้ทีมทำงานมีแพชชันเกี่ยวกับงานภาพเคลื่อนไหวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงต่อยอดมาเป็น Publisher BrandThink สื่อออนไลน์ที่ทำคอนเทนต์ในหลายรูปแบบ ก่อนจะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานสื่อสารต่าง ๆ ให้กับแบรนด์และต่อยอดสู่สตูดิโอภาพยนตร์ ด้วยความหลากหลายในแง่ของการทำงานทั้งงานเขียน งานภาพ งานวิดีโอโฆษณา อีเวนต์ รวมถึงงานด้านครีเอทีฟและการวางกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งงานระดับภาพยนตร์ อะไรที่ทำให้ BrandThink มีมุมต่อโลกคอนเทนต์ที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ
ในฐานะองค์กรที่ทำคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบ
BrandThink มีมุมมองต่อคอนเทนต์โลกคอนเทนต์ปัจจุบันยังไงบ้าง?
“จริงๆ พวกมองเราว่าคอนเทนต์คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะงานโฆษณา งานภาพยนตร์ หรือบทความออนไลน์ เพราะเราเชื่อว่าคอนเทนต์มีส่วนในการพัฒนาตัวเรา ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงมีผลต่อการทำงานการใช้ชีวิตของเราในหลาย ๆ แง่มุม”
เอกลักญเริ่มอธิบายถึงแนวคิดการมองโลกคอนเทนต์ในฉบับ BrandThink และด้วยความที่พวกเขาทำงานค่อนข้างหลากหลาย จึงทำให้เข้าใจว่าคอนเทนต์แต่ละแบบก็มีเสน่ห์ในตัวเอง เลยพัฒนาเป็นการนำเอาจุดแข็งของแต่ละอย่างมาเชื่อมโยงและพัฒนาเพื่อสร้างไอเดียใหม่ๆ
“ความหลากหลายของงานที่ BrandThink ทำให้เรามีมุมที่มองอะไรได้กว้างขึ้น สามารถเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เราลงลึกไปกับคอนเทนต์แต่ละแบบและจับจุดแข็งมารวมกันเพราะเราเชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างความแตกต่างได้ และเป็นที่มาที่เราสามารถผลิตผลงานที่ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือแม้กระทั่งงานครีเอทีฟเฟสติวัลที่ประกอบไปด้วยหลายองค์ความคิดและมุมมองที่หลากหลายขึ้นมาได้ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ‘Creative Synergy’ หรือดึงเอาความสร้างสรรค์ความคิดจากหลาย ๆ มิติมาหลอมรวมกัน”
และเชื่อว่าทุกคนน่าจะเริ่มเห็นแล้วว่า โลกในอนาคตจะเป็นแบบ VUCA (*Volatility ผันผวน, Uncertainty ไม่แน่นอน, Complexity ซับซ้อน, Ambiguity คลุมเครือ) หรือโลกที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน รวดเร็วและไม่มีอะไรแน่นอน ภาคธุรกิจก็เริ่มปรับตัวหารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ให้สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในเสี้ยววินาที ซึ่งเอกลักญนิยามกระบวนการทำงานของ BrandThink ว่า ‘Creative Synergy’ ที่จะให้ผลลัพธ์เป็นการเปลี่ยนแปลงได้จริงในรูปแบบของ ‘Creative Change’ ท่ามกลางโลกที่วุ่นวายและซับซ้อนมากมายตอนนี้
“อาจจะเป็นคำที่หลายคนไม่ค่อยคุ้น แต่ Creative Synergy มันคือแนวชุดความรู้แบบ M-Shape ที่เราบูรณาการมาจากหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งความรู้ที่เราลงมือทำ หรือจากกลุ่มพันธมิตรที่มาสร้างงานสร้างโปรเจกต์ร่วมกัน เพื่อหลอมรวมความคิดและส่งต่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในรูปแบบที่ต่างออกไป บนความเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราได้ – Creative Change
เพราะฉะนั้นวันนี้พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้เป็นแค่สื่อ ไม่ได้เป็นแค่สตูดิโอภาพยนตร์ หรือเฮาส์โฆษณา แต่พวกเขามองตัวเองว่าเป็น “Hybrid Content Creator” ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายรูปแบบและพร้อมสร้างสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา
“เราก็เข้าใจดีว่าบางคนก็อาจจะเลือกเส้นทางสายลึก เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านในด้านหนึ่ง แต่สำหรับเรา ท่ามกลางโลกของการแข่งขัน เราอาจจำเป็นจะต้องมีความถนัดมากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งการเป็น Hybrid Content Creator เรามองว่าในธุรกิจเราก็อาจจะเป็นเรื่องจำเป็นในปัจจุบัน” เอกลักญอธิบายในประเด็นดังกล่าว
ทำไมถึงเลือกที่จะเปลี่ยนจาก Create a Better Tomorrow
มาเป็น CREATIVE CHANGE คำนี้นำเสนอเจตนารมณ์ของ BrandThink ยังไง?
หากใครได้ติดตามช่องทางของพวกเขากันมาบ้าง น่าจะพอทราบว่า Tagline สำคัญที่ BrandThink ใช้สื่อสารในทุกช่องทางก็คือคำว่า Create a Better Tomorrow หรือแนวคิดความเชื่อที่ชวนทุกคนมาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าไปด้วยกัน แต่ในปีนี้พวกเขาเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของ Tagline รวมถึงการปรับ Bussiness Unit ต่าง ๆ ที่ช่วยให้คนภายนอกสามารถเข้าใจตัวตนและรูปแบบการทำงานได้ดีมากขึ้น
โดยในประเด็นแรก BrandThink มีการเปลี่ยนแปลงจาก Create a Better Tomorrow สู่ CREATIVE CHANGE ซึ่งจะสามารถแบ่งแนวคิดออกเป็น 3 แนวทาง Empowering, Diversity และ Positive Impact
“คำว่า Better Tomorrow เป็นคำที่ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมา เราพยายามมองหาอะไรที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งคำอย่าง Creative Change ที่เป็นปลายทางผลลัพธ์ของ Empowering, Diversity และ Positive Impact ซึ่งเป็น DNA ของพวกเรา ทั้งหมดเกิดมาจากทีม จากการประชุมพูดคุยอย่างเข้มข้นจนได้คำเหล่านี้ออกมา เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่ออะไร เราแค่เลือกทำสิ่งที่มันชัดขึ้นเท่านั้นเอง
“การที่เราจะ synergy ทุกอย่างเข้ากันได้ เราต้องไม่มีอคติ พร้อมเปิดรับ ถ้าไม่เปิดรับ เราจะไม่เข้าใจโลกคอนเทนต์ในมิติอื่น ๆ เลย แต่ถ้าเข้าใจ ก็จะสามารถหยิบจับองค์ความรู้ และทักษะจากคอนเทนต์ในรูปแบบต่างๆ มาใช้งานได้”
ในส่วนของของ Empowering การส่งต่อพลัง ส่งต่อความคิดของ BrandThink ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่แต่คืองานทุกชิ้นที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ สร้างแรงบันดาลใจได้ ในแง่ของความหลากหลาย (Diversity) เอกลักญมองว่าโลกยุคใหม่มันคือการเปิดรับ และยอมรับอย่างจริงใจว่าความหลากหลายคือความสวยงาม BrandThink จึงมุ่งเน้นดึงเอาความหลากหลายมาต่อยอดสู่ผลงานผ่านการหยิบจับองค์ความรู้ และทักษะจากคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ มาสร้างงานร่วมกัน รวมถึงเรื่องของ Positive Impact ที่เป็นผลลัพธ์ของคุณค่าผลงานต้องมีความหมาย ตอบโจทย์ ได้ทั้งคน สังคม และแบรนด์
“จริง ๆ เรามีมุมมองที่แอบโลภมากและเห็นแก่ตัว เราพยายามอยู่ให้ได้ในโลกธุรกิจ โลกทุนนิยม แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องการความหมายในงานที่เราทำอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น Positive Impact ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งก็นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าท้าย และเป็นเป้าหมายสูงสุดของเราในทุกงาน”
การเปลี่ยนแปลงยูนิตธุรกิจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่
BrandThink มีแกนการทำงานใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมหรือเปล่า?
การเปลี่ยนแปลงยูนิตธุรกิจนับว่าเป็นการขยับจิกซอว์ชิ้นใหญ่ที่ส่งผลต่อคนทั้งองค์กร แต่เอกลักญก็อธิบายให้เราฟังว่า แกนธุรกิจยังคงเป็นเหมือนเดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารจาก inside-out มาสู่ outside-in ให้มากขึ้น เป็นเหมือนการการอธิบายว่าถ้ามองจากมุมมองของคนนอกเข้ามา BrandThink คืออะไร และสามารถตอบผู้อื่นได้อย่างไรบ้าง
ในปีนี้ BrandThink เลือกที่จะแบ่งยูนิตต่างๆ ออกเป็น 5 ยูนิตหลัก
1. Publisher
2. Brand Partnership
3. Cinema Studio
4. Community
5. IP Experience
“Publisher” เป็นยูนิตที่เราอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุดในแง่ของการนำเสนอคอนเทนต์ที่หลากหลายสู่สังคมผ่านทั้งชิ้นงานบทความ งานวิดีโอขนาดยาว ขนาดสั้น และอื่นๆ อีกมากมาย และพวกเขาใช้ปีนี้เป็นปีสำคัญในการนำเสนอตัวตนในรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านการนำ Host เข้ามาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องราวในประเด็นต่าง ๆ
“เราเชื่อว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นสิ่งจำเป็น เป็นตัวแทนในการสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกไป เพราะฉะนั้นปีนี้เราจึงมี Host มาดำเนินรายการต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนของเราในหลาย ๆ มิติ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าถึงกลุ่มผู้รับชม ผู้อ่าน ผู้ฟังของเราได้อย่างแท้จริง”
และอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์ให้แบรนด์ เพื่อหยิบเอาจุดเด่นเรื่องความหลากหลายภายใต้คอนเซ็ปต์ Creative Synergy มาประยุกต์ใช้ด้วยกันในยูนิต “Brand Partnership”
“เราว่าปีนี้เป็นปีที่ทีมและขุมกำลังเราพร้อมมากที่สุดปีหนึ่ง ทั้งกลุ่มของทีม Creative, Strategy, Production รวมไปถึงงานด้านคอนเทนต์ที่เราแข็งแรงอยู่แล้ว บวกกับพันธมิตรต่าง ๆ ที่เรามีทำให้เราเชื่อว่าเราสามารถหยิบเอาความถนัดในแต่ละด้านมาตอบโจทย์แบรนด์ได้ในทุก ๆ มิติ”
ยูนิตใหม่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอย่าง “Cinema Studio” ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกภาพยนตร์ที่นำเสนอความเชื่อในแบบฉบับของพวกเขา และเป็นอีกหนึ่งยูนิตที่นำเอาองค์ความรู้จากหลายฝ่ายมาผสมผสาน มีเนื้อหาที่ลึกและกว้างในแบบฉบับของคอนเทนต์ มีมุมมองในเรื่องการตลาด รวมถึงมีกลยุทธ์การทำงานที่น่าสนใจเบื้องหลังแต่ละโปรเจกต์ และก้าวขึ้นมาเริ่ม Distribute ภาพยนตร์ผ่านบริษัทที่ชื่อ SMALT อีกด้วย
ในส่วนสุดท้ายอย่าง “IP Experience” นับว่าเป็นส่วนที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดส่วนหนึ่งของการพูดคุยครั้งนี้ เพราะในช่วงเดือนกันยายน 2024 ทาง BrandThink จะจัดงาน BrandThink FESTIVAL at EM District นับว่าเป็นงานอีเวนต์ที่พวกเขาก็ตั้งใจอย่างสุดกำลัง
IP Experience – จุดเริ่มต้นของ BrandThink FESTIVAL
เพื่อตอกย้ำความเป็น Hybrid Content Creator ที่เชี่ยวชาญการทำคอนเทนต์ทุกรูปแบบ BrandThink จึงจับมือกับพาร์ทเนอร์จากทุก ๆ วงการสร้างสรรค์ จนเกิดเป็น Creative Cultural Festival ครั้งแรกของเมืองไทยอย่าง BrandThink FESTIVAL ซึ่งจะเปิดประสบการณ์ใหม่ในทุก ๆ มิติให้กับคุณ ตั้งแต่เรื่องของอาหาร ธุรกิจ สุขภาพจิต ดนตรี ภายใต้ธีม “Discover Like! ค้นหาไลค์ที่ใช่เรา” นำโดยยูนิต IP Experience ยูนิตใหม่ล่าสุดที่พร้อมแปรองค์ความรู้จาก Online Channel ของ BrandThink ได้แก่ MOODY, SAUCE, HUMAN BIZ และ CANDY มาพัฒนาและออกแบบประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เข้าถึงได้ให้กับทุกคนผ่านรูปแบบที่หลากหลาย
“BrandThink Fest จึงเป็นงานที่เราดึงสิ่งที่เราทำอยู่ ดึงเอาความสนใจ ดึงเอาความถนัด ดึงเอาพาร์ทเนอร์ของเรา รวมถึงการดึงเอามุมมองที่หลากหลายของเรามาอยู่ที่นี่ งานนี้คุณจะได้เจอประสบการณ์ในทุก ๆ มิติ ตั้งแต่เรื่องของอาหาร ธุรกิจ สุขภาพจิต ดนตรี อินฟลูเอนเซอร์ และครีเอเตอร์ รวมถึงการชวนพาร์ทเนอร์ที่เราสนิทอย่าง เทพลีลา, Fungjai, Ground Control, ad addict, Pear is Hungry, Doc Club, YUPP!! และอีกหลายๆ เจ้า เข้ามาร่วมกัน มา synergy กัน เพื่อจะได้สร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น”
ความหลากหลายที่พวกเขาเห็นคืออะไร สิ่งเหล่านั้นถูกไปต่อยอดเป็นอะไรได้บ้าง และตัวตนของพวกเขาแท้จริงจะเป็นแบบไหน เชื่อว่างานใหญ่ปลายปีน่าจะเป็นคำตอบที่ดีของคำถามเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน