ในช่วงหลายปีมานี้ ESG ถือเป็นแนวคิดที่องค์กรยุคใหม่นำมาขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น แต่การจะลงมือทำเพื่อให้สังคม และสิ่งแวดล้อมเติบโตไปพร้อมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาและทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคนในองค์กรต้องเข้าใจ และทำสิ่งเหล่านี้ด้วยใจ จึงจะสร้างอิมแพคที่ยั่งยืนในระยะยาว แต่ถึงจะเป็นเรื่องยาก ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ในงานเสวนาจักรวาลแห่งความยั่งยืน ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability จึงได้นำ 3 ธุรกิจชั้นนำอย่าง AIS ศุภาลัย และ Starbucks ที่ทำเรื่อง ESG อย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม มาร่วมแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “Real-World of Sustainability” เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้แบรนด์และธุรกิจนำไปปรับใช้ต่อไป
AIS ชี้ ความสำเร็จด้าน ESG ต้องเริ่มจาก “คน” ครัวเรือนก็ทำได้
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS บอกว่า ESG มีความสำคัญอย่างมากในการทำธุรกิจของ AIS เพราะ AIS อยู่ในธุรกิจโทรคมนาคม โดยเป็นผู้ให้บริการโมบายล์ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ (Fixed Broadband) ทำให้มีเสาสัญญาณจำนวนมาก และเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้หมดอายุจะกลายเป็นขยะ จึงเป็นเหตุผลให้บริษัทต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างสังคม และโลกให้ดีขึ้น จึงนำแนวคิด ESG มาผนวกเข้าไปในทุกกระบวนการธุรกิจ โดยโฟกัสใน 3 แกนหลัก ครอบคลุม 7 เรื่อง ประกอบด้วย แกนที่ 1 Digital Economy การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในประเทศด้วย Digital แกนที่ 2 Digital Inclusion สร้างการเข้าถึงดิจิทัลของผู้คนทั่วประเทศ และ แกนที่ 3 Climate Change การนำเทคโนโลยีเข้ามาลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
ถึงแม้ AIS จะนำ ESG มาปรับใช้ในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่การจะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่มีแผนงานที่ดีเท่านั้น ทว่า “คน” ในองค์กรต้องเข้าใจและพร้อมขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกัน ซึ่งการจะ Engage คนกว่า 30,000 คนให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกันนั้น คุณสายชล บอกว่า สิ่งแรกต้องเริ่มจากการวาง Purpose ก่อน จากนั้นกำหนดออกมาเป็น Commitment และสื่อสารให้คนในองค์กรรับรู้ในเป้าหมาย
แต่ด้วยคนที่มีจำนวนมากและหลากหลาย จึงออกแบบการสื่อสารในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยแบบแรกคือ SD Committee เป็นการสื่อสารกับบอร์ดและผู้ถือหุ้นเพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและจริงจังในการสร้างความยั่งยืน ขณะที่การสื่อสารกับพนักงาน AIS จะสื่อสารผ่าน People Champion ซึ่งแต่ละแผนกส่งมา พร้อมกับเป็น Sandbox ให้พนักงานได้ร่วมกันคิดและทดลองทำกิจกรรมที่สนใจ โดยบริษัทจะมีเครื่องมือและแพลตฟอร์มให้ ส่งผลให้พนักงานเกิดการรับรู้ และสนุกกับกิจกรรม
สำหรับการทำเรื่องความยั่งยืน คุณสายชล มองว่า ไม่ใช่แค่องค์กรใหญ่เท่านั้นจะทำเรื่องนี้ได้ องค์กรขนาดเล็กหรือครัวเรือนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพราะ ESG เป็นสิ่งที่อยู่ในทุกช่วงชีวิตของทุกคน โดยยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ซึ่งเป็นการณรงค์การทิ้งขยะ E-Waste ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างถูกวิธี เพื่อลดผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม
โดยเริ่มจากการจับมือเอสซีจี เปเปอร์จัดทำถังขยะกระดาษเพื่อให้ผู้บริโภคนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งกับ AIS ต่อมาได้ขยายจุด Drop Point ปัจจุบันมีเกือบ 3,000 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น เช่น ไปรษณีย์ไทย และล่าสุดยังพัฒนาแอปพลิเคชัน E-Waste Plus เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านมาฝากกับไปรษณีย์ จากนั้นไปรษณีย์ก็จะส่งเข้า DC เพื่อเข้าโรงกำจัดขยะต่อไป
ศุภาลัย แนะ 3 องค์ประกอบ สร้างอิมแพคยั่งยืนระยะยาว
ศุภาลัย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หันมาทำ ESG อย่างจริงจัง โดย คุณกิตติพงษ์ ศิริลักษณ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ศุภาลัยอยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าสูง ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ผลิตวัสดุ ไปจนถึงผู้ดูแลอาคาร สถาบันการเงิน และผู้บริโภค การดำเนินธุรกิจตามกรอบ ESG จึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะช่วยสังคมและโลกแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท รวมถึงทำให้คนใน Ecosystem เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย
ที่ผ่านมาศุภาลัยจึงนำแนวคิด ESG มาเป็นหลักในการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเน้นไปที่การลดปริมาณขยะ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างบ้าน และคอนโด การคิดค้นนวัตกรรมก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการบริหารจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้างให้เหลือน้อยที่สุด (Waste Management)
แต่การนำ ESG มาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพนั้น คุณกิตติพงษ์ บอกว่า ธุรกิจต้องมี “เป้าหมาย” ชัดเจน และ “การสื่อสาร” ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญและเข้าใจเป้าหมายตรงกันก่อน โดยกระบวนการสื่อสารต้องมีหลายช่องทาง ไม่ใช่เขียนไว้ในคู่มือหรือติดบอร์ดให้พนักงานอ่าน เช่น ฝึกอบรมหรือเล่าเรื่องราวให้พนักงานฟัง รวมถึงต้องผนวกเข้าไปในกระบวนการทำงาน ที่สำคัญ ผู้นำองค์กรต้องลงมือทำเป็นแบบอย่าง และวัดผลเป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
“ทุกองค์กร ทุกครอบครัวสามารถนำ ESG ไปปรับใช้ได้ เพราะการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ 1.การลงมือทำ พูดอย่างเดียวไม่ได้ 2.มีคนเอาไปใช้จริง นั่นคือ ลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นประโยชน์และนำไปใช้จริง และ 3.องค์กร ต้องมีรายได้หรือได้ประโยชน์ด้วย หากทำ 3 สิ่งนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรใหญ่ องค์กรขนาดเล็กก็ทำ ESG ให้เกิดได้”
Starbucks เริ่มต้นทำเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
อีกหนึ่งแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจตามกรอบ ESG คือ Starbucks โดย คุณจุฑาทิพย์ เก่งมานะ ผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน Starbucks Thailand บอกว่า Starbucks เริ่มต้น ESG มาตั้งแต่วันแรกที่ดำเนินธุรกิจ โดยมีคำมั่นสัญญาชัดเจนต่อพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) ลูกค้า ชาวไร่ผู้ปลูกกาแฟ และโลก ผ่านกาแฟทุกๆ แก้ว โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการใช้น้ำ และขยะฝั่งกลบลง 50% ภายในปี 2030
ส่วนในประเทศไทย Starbucks เน้นขับเคลื่อนใน 3 มิตินั่นคือ Coffee, People และ Planet โดยเรื่องของ Coffee บริษัทจะรับซื้อเมล็ดกาแฟคุณภาพจากชาวไร่อย่างเป็นธรรม ส่วน People จะเน้นดูแลชาวไร่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยทำงานกับชุมชน และสร้างร้านสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน ปัจจุบันมี 2 แห่ง คือ สตาร์บัคส์ หลังสวน โดยจะแบ่งรายได้ 10 บาทจากการจำหน่ายกาแฟทุกแก้วให้ชุมชนชาวไร่ภาคเหนือที่รับซื้อกาแฟ และสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา รีเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม ซึ่งจะนำผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น แก้วเบญจรงค์ ผ้ามัดย้อม และกระเป๋ากระจูดมาจำหน่ายในร้านเพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ Planet บริษัทมีแนวทางในการสร้างร้านกาแฟสีเขียว ด้วยการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด
นอกจากการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว คุณจุฑาทิพย์ บอกว่า อีกส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร สังคม และสิ่งแวดล้อม คือ การสื่อสารให้ทุกคนทุกฝ่ายงานในองค์กรได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งในส่วนของพนักงานออฟฟิศ บริษัทมีแคมเปญ Partner for Sustainability เพื่อรณรงค์ให้พนักงานที่สนใจการทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมนำแก้วส่วนตัวมาใช้ในออฟฟิศและลดการแยกขยะ
ขณะที่พนักงานในร้านกาแฟจะได้รับการอบรมก่อนเข้ามาทำงาน ซึ่งระหว่างเรียนจะสอดแทรกแคมเปญต่างๆ เข้าไปเพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้เรื่องราวรักษ์โลกผ่านการทำงานประจำวัน เช่น การนำแก้วส่วนตัวมาใช้เพื่อลดการใช้พลาสติก ลูกค้าจะได้รับส่วนลด 10 บาท หรือการใช้แก้วสำหรับดื่มในร้าน ที่สามารถนำมาล้างเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งยังจัดกิจกรรมแข่งขันขายเมล็ดกาแฟ โดยร้านที่มียอดขายสูงสุดจะได้เข้าไปใช้ชีวิตกับชาวไร่ 2 วัน พร้อมกับสร้างแท๊งน้ำ ศูนย์อนามัย และโรงเรียนให้กับชาวไร่ด้วย
“บางทีเราอยู่ในเมือง อาจจะไม่รู้ว่าแหล่งน้ำมีความสำคัญอย่างไร เพราะเราแค่เปิดก๊อก น้ำก็ไหลแล้ว แต่ชาวไร่ต้องไปหาแหล่งน้ำเพื่อมาดำเนินชีวิตประจำวัน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้น้องๆ เห็นวิถีชีวิตและเข้าใจมากขึ้น”
คุณจุฑาทิพย์ มองว่า การนำ ESG มาใช้ในธุรกิจ เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรสามารถทำได้ และยิ่งทำมากยิ่งดี เพราะจะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาดีขึ้น ดังนั้น Starbucks จะเดินหน้าสร้างกิจกรรมเล็กๆ ด้วยการชวนลูกค้าทำเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทุกวัน เช่น ใช้แก้วรียูส หรือนำแก้วส่วนตัวมาใช้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทั่วประเทศ แต่ว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้