มีขึ้นย่อมมีลงเป็นเรื่องธรรมของการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารหลังการระบาดของโดวิดผ่านพ้นไป Landscape ของการแข่งขันก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่เว้นแต่ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจอาหารอย่าง CRG หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ที่ต้องจัดทัพใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
ล่าสุดกับข่าวคราวการปิดตัวลงของ “อร่อยดี” หนึ่งในแฟรนไชส์ร้านอาหารในเครือ CRG ที่ออกมาประกาศปิดตัวของแบรนด์อย่างถาวร โดยจะเปิดให้บริการในวันนี้ (30 เม.ย.67) เป็นวันสุดท้าย หลังสร้างกำไรไม่เข้าเป้ามากนัก…ทำให้หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารที่ส่งสัญญาณบวกมากขึ้น ทำไม? ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้
ร้าน “อร่อยดี” คือแบรนด์ร้านอาหารไทยจานด่วน ในเครือ CRG ที่เปิดตัวมาครั้งแรกในปี 2562 หรือราว 6 ปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อส่งมอบอาหารไทย “รสชาติคุ้น อิ่มครบ จบทุกมื้อ” ให้บริการในรูปแบบรับประทานในร้าน สั่งกลับบ้าน (Takeaway) หรือส่งอาหาร (Delivery) ในช่วงแรกของเปิดตัวร้านอร่อยดีมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 20 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ครั้งนั้นร้าน “อร่อยดี” ถูกวางให้เป็นแบรนด์แฟรนไชส์สตรีทฟู้ดเรือธง ที่ทางค่ายหมายมั่นปั้นมือในการขยายเข้าไปทำตลาดในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารสตรีทฟู้ดแนวไทยๆ หรือที่เรียกกว่า “กลยุทธ์สตรีทฟู้ด” ที่สร้างการเข้าถึงแบบง่ายๆ เมนูง่ายๆที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน จากที่ผ่านมาที่ส่วนใหญ่ CRG มักจะมีแต่ร้านอาหารภายในศูนย์การค้ามากกว่า โดยจะเน้นไปที่การลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ 70% และบริการเองเพียง 30% สนนราคาเริ่นต้นแฟรนไชส์เพียง1.3 ล้านบาทนับเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อยจากยักษ์ใหญ่ที่มีทุนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจที่สูงขึ้น ข้อมูลจาก Lineman Wongnai ระบุว่าในปีที่ผ่านมามีธุรกิจร้านอาหารเกิดขึ้นมากกว่า 100,000 ร้านค้า หรือเฉพาะในครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา (2566) จำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นถึง 13.6% หรือมีจำนวนทั้งหมด 680,190 ร้านค้า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ 598,693 ร้าน โดยพบว่า ร้านอาหาร 50% ปิดตัวลงตั้งแต่ปีแรก ขณะที่ 65% ปิดตัวลงใน 3 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารที่รุนแรง
เมื่อบวกกับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันที่รุนแรงมากกว่า ทำให้ “อร่อยดี” มาถึงทางตัน และเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2567 นี้….นับป็นหนึ่งการปิดฉากของแบรนด์ร้านอาหารจากเชนยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งแบรนด์
6 ปี จากแฟรนไชส์ดาวรุ่ง สู่วันที่ “อร่อยดี” ถอนทัพจากตลาดถาวร
จุดเริ่มต้นการปิดตัวลงของแบรนด์เกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2567 หลังทางเพจ Aroi Dee Restaurant ได้ออกมาประกาศปิดบริการ Line Official Account ระบุว่า เรียนคุณลูกค้าทุกท่าน แจ้งปิดให้บริการ Line Official Account (@aroideerestaurant) ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปโดยคุณลูกค้าสามารถติดต่อเราได้ที่ Facebook: Aroi Dee Restaurant ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้
จวบจนล่าสุดในวันที่ 30 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา Aroi Dee Restaurant ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพิ่มเติม ระบุว่า “ขอขอบคุณลูกค้าที่น่ารักของร้านอร่อยดีทุกท่าน ทางร้านอร่อยดีจะปิดให้บริการทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณที่ทุกท่านไว้วางใจและใช้บริการอร่อยดีเสมอมา”
การปิดตัวดังกล่าว เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการปรับการบริหารจัดการพอร์ตร้านอาหารในเครือของ CRG ทั้งหมด กล่าวคือ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของทางเครือฯ นับจากนี้จะโฟกัสแบรนด์ที่ทำกำไรมากกว่า ขณะที่แบรนด์ที่ทำกำไรน้อยกว่าก็ต้องปิดตัวลง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้อยู่แล้วไม่ใช่การปิดตัวลงกระทันหันแต่อย่างใด
บริหารจัดการพอร์ตร้านอาหารใหม่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ลูกค้า
ดังเช่นที่ คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เคยแจ้งในเมื่อครั้งประกาศแผนงานใหญ่ประจำปี 2567 ว่า ปีนี้ต้องยอมรับว่าจะมีการปิดสาขาของบางแบรนด์ลงบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีร้าน “อร่อยดี” และ “Grab Kitchen” ซึ่งเป็นร้านที่ร่วมทุนกับทาง Grab โดยทั้งสองจะปิดตัวลงราว 30-40 สาขา
ส่วนเหตุผลของการปิดตัวลงนั้น นอกจากเหตุผลเรื่องของผลกำไร-ยอดขายแล้ว ยังเป็นเรื่องของเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป คนออกมาใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และหันมานั่งรับประทานภายในร้านมากกว่า 80% ส่วนอัตราการสั่งผ่านดิลิเวอรีนั้นลดเหลือเพียง 20% ทำให้ร้านที่เปิดมาเพื่อบริการดีลิเวอรี่ในช่วงโควิดนั้นไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมการรับประทานอีกต่อไป
เช่นเดียวกับเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ CRG ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเทรนด์ของผู้บริโภค และเมื่อส่องลงไปที่ร้าน Aroi Dee พบว่าก่อนปิดตัวลง ทางร้านมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 10 สาขา (ตัวเลข ณ วันที่ 5 มีนาคม 2567) เป็นการลดลงจากในปี 2565 ที่มี19 แห่ง
เมื่อโฟกัสตามแผนระยะยาว 5 ปี (2567-2571) ของ CRG มีการใช้งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท ในการสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจอาหารในเครือให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีก 100-120 แห่ง และจะโฟกัสไปที่ Top Brand ยอดนิยม ได้แก่ KFC, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, คัตสึยะ, ส้มตำนัว, สลัดแฟคทอรี่ และ ชินคันเซ็น ซูชิ
ขณะที่แบรนด์ในเครืออื่น ๆ จะเน้นการเพิ่มยอดขายของสาขาเดิม และมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการออกสินค้ารสชาติใหม่ โปรโมชันสุดคุ้มโดนใจ รวมไปถึงวางแผนกลยุทธ์กระตุ้นการขายในบางช่วงเวลา
โดยปีที่ผ่านมา CRG มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,621 สาขา เพิ่มขึ้น 41 สาขา หรือเพิ่มขึ้น 3% มีรายได้รวม 12,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จาก 21 แบรนด์ โดยมีแบรนด์เรือธง ได่แก่ แบรนด์ นักล่าหมูกระทะ (Nak-La Mookata) มิสเตอร์ โดนัท เคเอฟซี (KFC) อานตี้ แอนส์ และ โอโตยะเป็นต้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่ม