“มูลนิธิกระจกเงา” หนึ่งในองค์กรการกุศลที่พึ่งของคนยาก ที่ใครหลายคนต่างรู้ดีว่าหากต้องการความช่วยเหลือจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น ภัยพิบัติ ไฟป่า ติดตามคนหาย ฯลฯ ชื่อของมูลนิธิกระจกเงามักจะปรากฏเป็นชื่อแรกในใจใครหลายคนเสมอ
เส้นทางกว่า 34 ปี “มูลนิธิกระจกเงา” เกิดโครงการดีๆเพื่อแก้ปัญหาสังคมมาแล้วกว่า 19 โครงการเช่น โครงการป่วยให้ยืม ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โครงการผู้ป่วยข้างถนน จ้างวานข้า (จ้างงานคนไร้บ้านโดยมูลนิธิกระจกเงา) โครงการอาสามาเยี่ยม คลินิกกฎหมาย ศูนย์การเรียนไร่ส้ม (มูลนิธิกระจกเงาสาขาฝาง) ศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นต้น
โอกาสนี้ BRAND BUFFET เว็บไซต์ข่าวสารการตลาดและธุรกิจออนไลน์ชั้นนำ จัดงานเสวนา ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability โดยมี “มูลนิธิกระจกเงา” โดย “คุณสมบัติ บุญงามอนงค์” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ร่วมกระเทาะวิธีคิดในการสร้างคน และนวัตกรรมขององค์กรที่ทำงานด้านสังคม ด้วย ESG เพื่อสร้างสังคมอย่างเท่าเทียม และเบื้องหลังความสำเร็จในหัวข้อ : การลุกขึ้นยืนของผู้อ่อนล้า ด้วยบริโภคนิยมก้าวหน้า
จากจุดเริ่มต้น “นักขายความคิด” สู่จุดยืนเพื่อสังคม จุดเริ่มต้น “มูลนิธิกระจกเงา”
คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ เริ่มต้นเผยถึงที่มาของ “มูลนิธิกระจกเงา” ว่าเกิดจากกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรม ซึ่งเป็นอาสาสมัครละครเพื่อการพัฒนาเยาวชน (พ.ศ. 2531) ของกลุ่มสื่อชาวบ้านหรือที่หลายคนรู้จักในนาม กลุ่มมะขามป้อม โดยรวมกลุ่มกันในช่วงที่สังคมไทยเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง และได้ก่อตั้ง กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา เพื่อร่วมกันทำงานกิจกรรมค่าย สื่อ สะท้อนเรื่องราวปัญหาทางสังคม ต่อมาในช่วงปลายปี 2534 จึงเปลี่ยนเป็น “มูลนิธิกระจกเงา”
“จุดเปลี่ยนของการเกิดมูลนิธิกระจกเงาเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริเวณบ้านพักในซ.สุขุมวิท 71 จากเซลล์แมนใส่สูทมาขายสินค้าหน้าบ้าน แนะนำสินค้า – หนังสือนิทานมีเสียง และว่างรับฟัง ขณะนั้นตนมีอายุ 27-28 ปีและยังไม่มีลูก จึงไม่เห็นความสำคัญของการซื้อหนังสือเล่มนั้น ทว่าหลังเกิดการพูดคุยถึงเส้นทางการทำงาน ระหว่างเซลล์แมนเกิดขึ้น จึงได้คำตอบว่า “ตนเองคือนักขาย” เช่นเดียวกับเซลล์แมนคนนั้น หากแต่คือ “นักขายความคิด” ที่โน้มน้าวให้คนอื่นเชื่อ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งองค์กร “มูลนิธิกระจกเงา” โดยมีเป้าหมายเพื่อขาย
เมื่อแนวคิดในการก่อตั้งองค์กรเกิดขึ้น แน่นอนสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องมีคือการออกแบบโลโก้เริ่มต้นจากการตีความของคำว่า “กระจกเงา” ที่สะท้อนสิ่งต่างๆ หากส่องออกไป จากจุดยืนในแต่ละตำแหน่ง คือหากเรายืนหน้ากระจกปกติ เราจะเห็นแต่ตัวเราเอง หากเรายืนเฉียงอีกสักนิด เราจะเห็นเงาคนอื่นสะท้อน และเห็นคนอื่น เห็นปัญหาของคนอื่นมากขึ้น
กลายเป็นแนวคิดที่มา ทำไม? ต้องคิดเยอะ คิดซับซ้อนเรื่องโลโก้……เกิดเป็นแนวคิดการล้อเลียนกับการเล่นกับโลโก้ คืออีกหนึ่งแนวคิดในการออกแบบ มีการเปลี่ยนแปลงโลโก้ตามธีม และซีซั่นต่างๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ตามโครงการ เทศกาล ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งช่วงเปิดเทอม วันคริสมาสต์ จวบจนปัจจุบันมูลนิธิระจกเงามีโครงการ 19 โครงการ แต่ละโลโก้ล้วนสะท้อน DNA ของแต่ละโครงการที่ต้องการสื่อไปยังโดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่ามูลนิธิกระจกเงา
เปิดโปรเจกต์ดีๆ กับหลากสถานการณ์ ผสานแนวทาง ESG สร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคม
อย่างไรก็ดีแม้ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักมูลนิธิกระจกเงาดีในนามองค์กร NGOs ตามหาคนหาย แต่ว่าแท้จริงแล้วตลอดช่วงเวลากว่า 33 ปี มูลนิธิกระจกเงามีโครงการดีๆต่างๆ เกิดขึ้นมาแล้วมากมายกว่า 19 โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบได้ทุกโอกาสและเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น โครงการป่วยให้ยืม ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โครงการผู้ป่วยข้างถนน จ้างวานข้า (จ้างงานคนไร้บ้านโดยมูลนิธิกระจกเงา) โครงการอาสามาเยี่ยม คลินิกกฎหมาย ศูนย์การเรียนไร่ส้ม (มูลนิธิกระจกเงาสาขาฝาง) ศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นต้น
“ช่วงวันวาเลนไทน์ แม้จะเป็นเทศกาลแห่งความรัก แต่ก็เป็นโอกาสของคนที่จะทำความดี ไม่ว่าจะโมเมนต์ไหน เช่น ที่มีดาราอกหัก ขายแหวนเพชร นำเงินไปบริจาค 6 มูลนิธิ และหนึ่งในนั้นคือมูลนิธิกระจกเงา” คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ กล่าวถึงแนวคิดที่ขององค์กรที่ทุกโอกาสสามารถทำดีได้
จุดเริ่มต้นของการ “ขายความฝัน” โครงการแรกเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมาในชื่อ “ครูบ้านนอก” หรือ “ครูอาสา” ไปอาศัยอยู่บนดอย 4 คืน 5 วัน ประกาศรับหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ ทำให้ค้นพบว่าคนหนุ่มสาว จำนวนมากมีความฝันเล็กๆซ่อนอยูในอุดมคติลึกๆ แต่หากให้เป็นจริงๆคงไม่มีใครเป็น แต่ช่วงเวลาสั้นๆคนทำได้ เกิดเป็นการทำงานชุมชนผ่านเด็กเกิดขึ้น และยังช่วยลดความหวดระแวงของคนแปลกหน้าที่เข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านทุรกันดาร ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างบุคลากรที่ต้องการเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้นๆ หรือกลุ่มคนที่ต้องการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมในระยะสั้นในการเข้าไปพัฒนาชุมชน คนในพื้นที่มากขึ้น
ขณะที่ “โครงการเด็กดอยสัญชาติไทย” คือหนึ่งโครงการดีๆที่สื่อสารผ่านเด็ก ที่เป็นการเล่าเรื่องผ่านเด็ก ให้แปลกไปจากภาพจำเดิม ที่ชาวเขาค้ายาเสพติด และมีมุมมองว่าชาวเขาไม่ใช่คนไทย ตัดไม้ทำลายป่า จนลบล้างภาพเหล่านี้ และคนมองว่าไม่ใช่ความผิดของเด็ก หากแต่เด็กคือคนที่ตกเป็นเหยื่อ จนทำให้เกิดโครงการดีๆเพื่อช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้ขึ้น ต่อกันที่อีกหนึ่งตัวอย่างโครงการดีๆของทางมูลนิธินั่นคือ “โครงการคนหายหน้าเหมือน” ที่เป็นที่รู้จักกันดีหลายคนรู้จักมูลนิธิกระจกเงา ในนามศูนย์ข้อมูลคนหาย แต่ขีดความสามารถยังไม่ขนาดนั้น การรู้จักเกิดจากงานที่ซีเรียส และเนื้อหาที่เข้มขน ไปจนถึงพาร์ทเนอร์ หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยกระจกเงามีหน้าที่ทำให้สำเร็จ จนคนอื่นๆอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้
เช่นเดียวกับน้ำสิงห์ ที่ซื้อไอเดียในการช่วยตามหาคนหาย จนเกิดเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ “คืนดวงใจแม่” ในการใช้พื้นที่ข้างขวดน้ำ 20 ล้านขวด ในการช่วยติดตามหาเด็กหายไปนานและยังหาไม่พบ และจำเป็นต้องมีพื้นที่สื่อสารข้อมูลแม้ว่าจะเคยออกสื่อมาบ้างแล้วแต่คนอาจลืมและจดจำไม่ได้สร้างโอกาสดีที่เด็ก 5 คนให้ได้รับการติดตามหาอีกครั้ง
ตลอดจนการจับมือกับนิ่นิ่มเอ็กซ์เพรสรับส่งของบริจาคให้ “มูลนิธิกระจกเงา” ฟรี! ในการส่งได้ทั้งอาหารแห้ง เสื้อผ้า หรือของใช้จำเป็นกว่า 70,000 กล่อง ผ่านจุดบริการ DC และ Shop NiM Express ทั่วประเทศ แน่นอนการมีพาร์ทเนอร์มาร่วมทำให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ยังมีโครงการ “จ้างวานข้า” คืออีกหนึ่งแนวคิดในการลดปัญหาคนไร้บ้านของมูลนิธิ ด้วยการให้งาน หรือจ้างงานคนไร้บ้านให้มีงานทำ เปลี่ยนถ่ายความรู้สึกที่คนมองว่า สกปรก ยากจน จึงเกิดการแก้ปัญหาโดยการจ้างงานเพื่อสร้างคุณค่า ให้มีรายได้ มีสังคม สร้างคุณค่าจากโครงการจ้างวานข้า ทำให้หลายคนพัฒนาจนมีอาชีพของตัวเอง เช่น เจ๊อ้อยคนไร้บ้านจากสนามหลวง ที่มีอาชีพจนฟอร์มวงของตัวเองกับเพื่อนอีกว่า 10 คน
เช่นเดียวกับโครงการ “ชรารีไซเคิล” ซึ่งเป็นโครงการที่มีผู้สูงอายุอยู่เยอะที่สุด ในการทำงานรีไซเคิลกับแยกชิ้นบรรจุภัณฑ์ทุกอย่างที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ระยะเวลาทำงา 6 ชั่วโมง 500 บาท การันตีงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ตลอดจนโครงการชุดนักเรียนมือสองที่นำมาช่วยเหลือผู้สูงอายุขั้นต่ำ 60 ปีให้มีงานทำ นอกจากนี้ยังมีนักเรียนนักศึกษาอาสาสมัคร 60,000 คนต่อปี ในการช่วยเหลือโครงการต่างๆ และล่าสุดกับโครงการ #โหลดลดฝุ่น หรือโครงการดับไฟในภาคเหนือ มีรถ EV me อยากจะบริจาค ทุกครั้งที่โหลดแอปลงทะเบียนจะมี 100 บาทไปบริจาคช่วยดับไฟป่า – วิธีการร่วมมือเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะงานเหล่านี้หนักและโหด การร่วมมือร่วมใจกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เปิด 3 แนวคิดสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมแก้ปัญหาสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
โครงการทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและมีความสุข สร้างนวัตกรรมทางสังคม บ่มเพาะนักกิจกรรมที่มุ่งมั่น ตลอดจนสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม ร่วมแก้ปัญหาสังคมไปสู่สิ่งทีดีกว่า ผ่าน 3 ประการหลักให้ได้สมดุล
- ความจริง การรู้จักปัจจุบันว่าปัญหาคืออะไร
- ความดี รู้สึกดีเมื่อมีคนอยากแก้ปัญหาเปรียบเสมือนอาหารที่ดี
- ความงาม คือรูปแบบวิธีการที่พอดีไม่ขมจนเกินไป หรือกรรมวิธีการปรุงอาหาร การจัดวาง อร่อย สวยงามจนน่ารับประทาน เช่นเดียวกับโครงการต่างๆที่ดึงดูดความสนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถอดแนวคิดการทำงาน การเล่นในพื้นที่ของตัวเอง และต้องคิดนำหน้าครึ่งถึงหนึ่งก้าวเสมอเพื่อรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในแต่ละโปรเจกต์ มองว่า ปัญหาของการทำงานในปัจจุบันคือ คนมักจะติดรูปแบบ ซึ่งรูปแบบเป็นเพียงวิธีการ แต่การยึดติดรูปแบบมากเกินไปมักจะเจอกับกรอบที่ทำให้การทำงานมีข้อจำกัด ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ผ่านวิธีการ เพื่อนำเสนอปยังกลุ่มเป้าหมายตามขั้นตอนที่ถูกวางหรือเขียนไว้ แต่การทำตามกระบวนการความสำเร็จมักจะพาไปถึงจัดหนึ่งแล้วต้องสะดุดเพราะติดกรอบที่ถูกวางไว้ และนี่คือข้อจำกัดโดยส่วนใหญ่ของการทำงานในยุคปัจจุบันพอไปถึงจุดๆหนึ่งแล้วต้องสะดุดไปในที่สุด
“พอการทำงานถึงจุดที่สะดุดไม่สามารถไปต่อได้แล้ว เราก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการรีดีไซน์ การทบทวน หรือการทำให้มีพื้นที่อิสระกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดำเนินการบนความรอบคอบและคิดนำหน้าไปหนึ่งก้าวเสมอ”
เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มองหาความก้าวหน้าของโปรดักต์ ตลอดจนโครงการดีๆที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคต้องการความใหม่ ดังนั้นการไปขังตัวเองอยู่กับรูปแบบคือการจำกัดขีดความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งการเปิดพื้นที่อิสระบ้าง ไม่กักขังตัวเองผ่านกรอบ หรือการปล่อยสู่ความหลวมในระดับหนึ่งย่อมจะเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานเสมอ อย่างไรก็ตามการเปิดพื้นที่อิสระย่อมมีความเสี่ยงในการทำงาน ต้องมีการคิดทบทวนว่าสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มหรือไม่ เช่นส่วนที่เสียไปคุ้มหรือไม่กับส่วนที่ได้มา แน่นอนการได้เล่นบ้าง ได้ทดลองบ้าง คือสิ่งที่ดีที่จะได้รับกลับมา
“ต้องยอมรับว่ามูลนิธิไม่มีความรู้เรื่องกลยุทธ์ หากแต่จะโฟกัสเรื่องของความสนุก บนพื้นฐานของการกระทำที่เชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง เราก็เดินหน้าอย่างเต็มกำลังเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย”
ทั้งหมดคือรหัสมาร์เก็ตติ้ง ที่แม้จะไม่ใช่ทางตรงแต่คือทางอ้อม ที่ทุกคนสามารถถอดรหัสออกมาพัฒนาได้ตามแบบฉบับของตน โดยไม่ต้องยึดโยงกับกรอบหรือกระบวนการจนเกินไป หากแต่เปิดพื้นที่อิสระในการทำงานหรือแนวคิดใหม่ๆเพิ่มเข้ามา ผ่านสิ่งดีๆที่เป็นแกนสำคัญมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE