เอ่ยชื่อการ์มิน (Garmin) หลายคนในแวดวงนักออกกำลังกายอาจรู้สึกคุ้นเคยในฐานะแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) ชื่อดัง แต่ในความเป็นจริง หากเอ่ยถามคนของการ์มินเอง จะพบว่าพวกเขานิยามตนเองเป็น GPS Company หรือบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ GPS (ย่อมาจาก Global Positioning System) ต่างหาก ซึ่งคำตอบดังกล่าวทำให้ยิ่งน่าสนใจว่า การเป็น GPS Company จะต้องพัฒนาตนเองไปในทิศทางใดจึงจะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากที่สุดในยุคที่เทคโนโลยีอย่าง Generative AI กำลังคืบคลานเข้ามาในทุกธุรกิจ
คำตอบสำหรับเรื่องนี้จาก Garmin อาจไม่ใช่เรื่องของกระแสเงินสด เพราะ Garmin ทำผลงานในไตรมาสแรกของปี 2024 ไว้ค่อนข้างดี กับรายได้ที่เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1,380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 49,680 ล้านบาท นอกจากนี้ Garmin ยังเผยด้วยว่า รายได้จากประเทศไทยก็มีการเติบโตกว่า 25% ด้วยเช่นกัน โดยที่มาของรายได้ดังกล่าวมาจาก 5 ธุรกิจของ Garmin ที่ประกอบด้วย
- Fitness: รายได้ 342 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 40% โดยมาจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์สวมใส่สำหรับการออกกำลังกาย และมีกำไรขั้นต้น 57% และกำไรจากการดำเนินงาน 20% ส่วนรายได้จากการดำเนินงาน 68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- Outdoor: รายได้ 366 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11% โดยเฉพาะจากผลิตภัณฑ์สวมใส่ กำไรขั้นต้น 66% และกำไรจากการดำเนินงาน 29% รายได้จากการดำเนินงาน 107 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- Aviation: รายได้ 216 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2% จากผลิตภัณฑ์ OEM โดยมีกำไรขั้นต้น 75% และกำไรจากการดำเนินงาน 24% ส่วนรายได้จากการดำเนินงาน 52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- Marine: รายได้ 326 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17% จากการซื้อกิจการ JL Audio® และมีกำไรขั้นต้น 55% และกำไรจากการดำเนินงาน 27% รายได้จากการดำเนินงาน 88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- Auto OEM: รายได้ 128 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 58% จากการส่งมอบ domain controllers ให้กับ BMW กำไรขั้นต้น 18% แต่มีการขาดทุนจากการดำเนินงาน 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากผลการดำเนินงาน จะพบว่าเติบโตสูงสุดในส่วนของ Fitness ขณะที่ธุรกิจ Outdoor ทำรายได้สูงสุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า Garmin มีความแข็งแกร่งของธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน และทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานมากถึง 435 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ควบคุมเองทุกกระบวนการ กลยุทธ์หลัก Garmin
คุณมิสซี่ ยาง ผู้อำนวยการประจำ การ์มิน ประเทศไทย เผยว่า กลยุทธ์การขยายธุรกิจของ Garmin เป็นกลยุทธ์แนวดิ่ง (Vertical Integration) ซึ่งหมายถึงการที่ Garmin เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาด้านวิศวกรรม การผลิต การตลาด ตลอดจนการให้บริการ โดยกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพทั้งสายการผลิต รวมถึงสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้
ส่วนกลวิธีในการบุกตลาดเพิ่ม ผู้บริหาร Garmin บอกว่ามีทั้งการขยายเวลารับประกันสินค้าเป็น 2 ปี สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 1 มกราคม 2024 เป็นต้นไป และการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการได้รับใบอนุญาตการใช้งานเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในเรื่องการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยแอปพลิเคชัน (ECG App) แล้วด้วย
รีเฟรชแบรนด์ผ่านแมสเสจใหม่ Beat Yesterday
สำหรับการเติบโตของ Garmin ในปีนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก คุณหรรษา อาภานุกูล ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การ์มิน ประเทศไทย ที่กล่าวว่าจะให้ความสำคัญกับสินค้าใน 3 กลุ่มได้แก่ Outdoor กีฬาเฉพาะด้าน (Specialty) และ Wellness โดยใน 3 กลุ่มนี้ สินค้า Outdoor ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยด้วยส่วนแบ่ง 48% รองลงมาคือ กีฬาเฉพาะด้าน 32% และ Wellness 20% ซึ่งทำให้ผู้บริหาร Garmin มองว่า กลุ่ม Wellness คือกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
แต่สิ่งที่ Garmin จะทำเพิ่มเติมอีกข้อก็คือการรีเฟรชแบรนด์ ด้วยเมสเสจใหม่ นั่นคือ Be More, Beat Yesterday พร้อมแบ่งตลาดออกเป็น 3 กลุ่มเพื่อทำการสื่อสารให้ตรงกับแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยทั้ง 3 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มมือใหม่ กลุ่มรักสุขภาพ และกลุ่มนักกีฬา
เติบโตอย่างไรในยุคที่ Gen AI ครองเมือง
สำหรับความท้าทายที่หลายธุรกิจต้องเผชิญในยุคที่ Generative AI ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า Garmin ก็อยู่ท่ามกลางคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน ที่สำคัญ Garmin ยังไม่มีแบรนด์สมาร์ทโฟนเป็นของตนเองสำหรับเชื่อมต่อกับ Gen AI เหล่านั้นโดยตรง ในจุดนี้ คุณเจสซี่ ยาง ผู้บริหาร Garmin ให้มุมมองว่า บริษัทเน้นทำงานร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทุกค่าย เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด อีกทั้งการเป็น GPS Company ก็ทำให้บริษัทเน้นไปที่การผลิตอุปกรณ์ GPS ที่เชื่อถือได้ เพื่อตอบโจทย์แต่ละอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคแต่ละกลุ่มให้ดีที่สุดด้วย เห็นได้จากค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น 10% โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรด้านวิศวกรรม (อ้างอิงจากผลประกอบการไตรมาส 1/2024)
ปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ที่รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานทั่วโลกกว่า 80 แห่ง พร้อมพนักงานกว่า 16,000 ราย ส่วนในเอเชียพบว่า มีสำนักงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 21 แห่ง พร้อมพนักงานกว่า 7,600 ราย และสินค้าที่มีราคาแพงที่สุดของ Garmin ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ก็คือนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำ รุ่น Descent Mk3i โดยตั้งราคาไว้ถึง 57,990 บาทเลยทีเดียว