หนึ่งในความจริงที่หลายคนตระหนักดีคือ ธุรกิจไทยกำลังมองหาโอกาสใหม่เพื่อการเติบโต แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน หลายคนก็ทราบดีว่า การหาโอกาสจากตลาดภายในประเทศ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เนื่องจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเม็ดเงินด้านการลงทุนที่ลดลง ตลอดจนการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งอาจทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากปัจจัยดังกล่าว ความท้าทายของการเติบโตรอบนี้จึงอาจไม่ใช่การโฟกัสที่ตลาดภายในประเทศ หากแต่เป็นการก้าวออกไปหาตลาดใหม่ ๆ ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ อินไซต์ใหม่ ๆ ภายนอกด้ามขวาน ซึ่งความน่าสนใจคือ ไทยเราอยู่ใน “ภูมิภาค” ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แถมประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงก็อยู่ใกล้ประเทศไทยอย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยเราพบว่า ทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมานั้น ต่างมีจุดน่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนประชากร ที่หากรวมกันแล้วจะพบว่ามีมากกว่า 600 ล้านคน และในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ค่าเฉลี่ยเรื่องอายุประชากรก็อยู่ที่ 30 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นวัยแรงงาน และมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยสูงมากทีเดียว
หรือในกรณีของประเทศฟิลิปปินส์ ที่โดดเด่นในเรื่องทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และมีบริษัทข้ามชาติไปลงทุนด้านคอลเซนเตอร์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับประเทศเวียดนามที่มาแรงในตอนนี้ โดยคาดว่า GDP ของเวียดนามจะโตสูงถึงราว 6% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
เปิดจุดแข็ง 3 ประเทศเพื่อนบ้าน
จากภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็น 3 ประเทศที่น่าสนใจสำหรับคนทำธุรกิจจากไทยที่ต้องการหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งความน่าสนใจแบบเจาะลึกของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ข้อมูลจาก Regional Economic Outlook 2024 โดยวิจัยกรุงศรี ได้ระบุไว้ดังนี้
ประเทศเวียดนาม
สำหรับประเทศเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการขยายตัวของกลุ่มคนวัยทำงานในระดับ Middle Class ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการทั้งอุปโภคและบริโภคค่อนข้างสูง ในมุมของการทำธุรกิจยังมีนโยบายส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและมีการทำข้อตกลงทางการค้าอย่างกว้างขวาง และยังพร้อมด้านจำนวนแรงงานที่มีเยอะแต่ค่าจ้างไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก จึงพบว่ามีบริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้าไปอยู่ในเวียดนามเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เวียดนามยังมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) หรือ FTA กับประเทศต่าง ๆ กว่า 50 ประเทศ ทำให้สะดวกต่อการส่งออกสินค้า โดย 3 อุตสากรรมที่เวียดนามมีความโดดเด่นในการส่งออก (ข้อมูลปี 2022) ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน และเครื่องจักรและอุปกรณ์
ทั้งนี้ ในปี 2024 คาดการณ์ GDP ของเวียดนามจะเติบโต 5.8% โดยมาจากการฟื้นตัวของการบริโภค ภายในประเทศ และแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2023 ทั้งการลด VAT จาก 10% เหลือ 8% (นโยบายจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้) และการเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐต่าง ๆ
อีกทั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 6% ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อยๆปรับลดลง จึงน่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเวียดนามให้เติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 ได้ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของคนเวียดนามรุ่นใหม่ที่ถือว่าสื่อสารได้ดี ทำให้เวียดนามเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว
เห็นได้ว่าประเทศเวียดนามมีการเตรียมความพร้อมและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ นี่อาจนับว่าเป็นทั้งโอกาสและความความท้าทายของนักลงทุนที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมาก ความท้าทายสำคัญคือการผลิตสินค้าที่เป็นที่ตอบโจทย์ความต้องการ และโดดเด่นกว่าสินค้าอื่นๆจากคู่แข่งในประเทศ
ประเทศอินโดนีเซีย
หนึ่งในความน่าสนใจของประเทศอินโดนีเซียคือการมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในด้านประชากรที่มีจำนวนหลักร้อยล้านคน และส่วนใหญ่ เป็นประชากรวัยทำงาน ซึ่งมีกำลังจับจ่ายใช้สอยสูง
ประเทศอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็มีนโยบายหลายด้านที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น นโยบายลดการพึ่งพิงการส่งออกสินแร่ เพื่อดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภาคการผลิต โดยเฉพาะแร่นิกเกิล (nickel) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ EV ซึ่งจะเห็นได้ว่า นโยบายนี้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรที่มี และต่อยอดให้อินโดนีเซียก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลักระดับโลกใน supply-chain ของอุตสาหกรรม EV ได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังคงมีความท้าทายในด้านต่าง ๆ เช่น ระบบราชการที่ยังมีความซับซ้อน มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยและมาตรการกีดกันทางการค้าบางประเภท เพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงานที่ยังขาดทักษะสำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (high value-added sector) และถึงแม้ว่าอินโดนีเซียมีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้ว แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความหลากหลายก็ยังคงต้องได้รับการพัฒนาต่อ
ประเทศฟิลิปปินส์
สำหรับประเทศฟิลิปปินสื ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน โดยอยู่ที่ 5.6% ในปี 2023 นอกจากนี้ เป็นประเทศที่ IMF คาดว่าจะมีการเติบโตสูงที่สุดอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากเวียดนาม และตลาดในประเทศมีขนาดใหญ่ ทั้งยังมีปัจจัยบวกหลายประการที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง อัตราการว่างงานต่ำ และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงแนวโน้มของคนฟิลิปปินส์ที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศและส่งเงินกลับมา เหล่านี้ล้วนช่วยให้การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
จุดแข็งอีกประการหนึ่งของฟิลิปปินส์คือ เป็นประเทศที่มีทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษสูงมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์) ฟิลิปปินส์จึงกลายเป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ ของการลงทุนในภาคการบริการ เช่น ธุรกิจคอลเซนเตอร์ Business process outsourcing (BPO) IT outsourcing รวมถึงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ด้วย
ทั้งนี้ ปี 2024 ยังเป็นปีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ผ่านโครงการ Build-Better-More โดยมีแผนใช้จ่ายกว่า 6.6% ของ GDP ในโครงการนี้
ทั้งนี้ ความท้าทายหนึ่งของฟิลิปปินส์อาจมีเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) กับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างจีน ในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนได้ หากความตึงเครียดดังกล่าวมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ภัยธรรมชาติอย่างเอลนีโญ เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอุปโภคที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบในภาคการเกษตรจากต่างประเทศเข้ามา
ภาคธุรกิจไทยถึงเวลาบุกอาเซียน
จากจุดแข็งของประเทศเพื่อนบ้าน ความท้าทาย และการเติบโตที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าหลายธุรกิจน่าจะมองเห็นโอกาสของตนเองในประเทศเหล่านั้นกันบ้างไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ดี การจะเข้าไปบุกตลาดของ 3 ประเทศที่มีลักษณะเฉพาะตัวตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น พาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญคือความจำเป็นอันดับต้น ๆ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญของกรุงศรีที่รู้รอบด้าน ทำอย่างจริงจัง และช่วยเป็นที่ปรึกษาให้คุณเริ่มและเติบโตไปในอาเซียนอย่างยั่งยืน พร้อมพาธุรกิจไทยไปสู่อาเซียน GO ASEAN with krungsri
กรุงศรีรู้ : บริการด้านข้อมูลกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ อุปสรรคในการทำธุรกิจ ฯลฯ เพื่อให้การเข้าไปบุกตลาดต่างประเทศทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
กรุงศรีทำ : ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจที่แตกต่าง
กรุงศรีช่วย : สุดท้ายคือทีมผู้เชี่ยวชาญจาก “ASEAN LINK” ที่มีความเข้าใจตลาด ตลอดจนมีข้อมูล – มุมมองการวิเคราะห์ และโซลูชันต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ โดยสามารถให้คำปรึกษา ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ การส่งออก และการหาความร่วมมือหรือหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาด ผ่านความเชี่ยวชาญของเครือข่ายของกรุงศรีและ MUFG ที่ครอบคลุมทั้งภูมิภาคนั่นเอง
เชื่อว่าธุรกิจไทยจำนวนมากมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ การออกไปเติบโตในประเทศอาเซียนไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยควรจะคว้าไว้
เพิ่มเติม เกี่ยวกับ GO ASEAN with krungsri : https://bitly.cx/ZBG