สำหรับประเทศที่ต้องการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในตัวกระตุ้นสำคัญก็คือเทคโนโลยี 5G เพราะไม่เพียงความเร็วในการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้น แต่เทคโนโลยี 5G ยังรองรับการทำงานของระบบอัตโนมัติ โดยช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมือนที่เราได้เห็นตัวอย่างจากในหลายประเทศที่มีการนำระบบแขนกล หรือหุ่นยนต์ไร้คนขับมาปรับใช้ในการทำงานร่วมกับมนุษย์
หันมามองที่ประเทศไทย การประยุกต์เครือข่าย 5G ในภาคอุตสาหกรรมกำลังทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีล่าสุดอาจเป็นโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศของค่ายไมเดีย (Midea) แบรนด์ดังจากแดนมังกร ที่เปิด Smart Factory ในจังหวัดชลบุรี พร้อมโชว์โซลูชันการผลิตเครื่องปรับอากาศบนเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มรูปแบบ ในพื้นที่ขนาด 2 แสนตารางเมตร
Smart Factory ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Midea Group ให้คำนิยามโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศในจังหวัดชลบุรีของไทยว่า เป็น Smart Factory แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยโซลูชันต่าง ๆ ที่นำมาติดตั้งในโรงงานขนาด 2 แสนตารางเมตรนี้มีตั้งแต่หุ่นยนต์แขนกลที่เข้ามาช่วยประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ หุ่นยนต์อัตโนมัติที่สามารถทำงานตามสั่งโดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนรถ AGV ที่ขับเคลื่อนไปยังจุดต่าง ๆ ได้เอง
นอกจากเครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ภายในโรงงานยังมีการนำอุปกรณ์ IoT เข้ามาติดตั้งตามจุดต่าง ๆ และใช้ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านั้นด้วย ซึ่ง Midea ระบุว่า ช่วยให้การทำงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หนึ่งในหลักฐานที่ Midea เปิดเผยก็คือ การปรับใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ AI และอุปกรณ์ IoT ช่วยลดความผิดพลาดในการผลิตเครื่องปรับอากาศลง จาก 4,000 เครื่องต่อปี เหลือ 1,000 เครื่องต่อปี รวมถึงอัตราการแก้ไขชิ้นงานที่ลดลงถึง 75%
หรือกรณีการใช้แขนกลในการผลิต ก็อยู่บนเครือข่าย 5G เช่นกัน โดยทางโรงงานระบุว่า สามารถสตาร์ทการทำงานของแขนกลได้จากระยะไกล ซึ่งช่วยให้พนักงานไม่ต้องเสี่ยงทำงานใกล้กับเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง หรืองานในพื้นที่อันตรายด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสามารถปรับความเร็วในการทำงานของแขนกลได้ตามต้องการด้วย
อีกหนึ่งผู้ช่วยที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงงานแห่งนี้ก็คือรถ AGV หรือรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ โดยหากเป็นรถ AGV แบบดั้งเดิม เราอาจคุ้นเคยกับการเห็นมันวิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้บนพื้น (มีการทำเส้นบนพื้นแล้วให้รถวิ่งตามเส้นที่ต้องการ) แต่เมื่ออยู่บนเทคโนโลยี 5G ระบบสามารถสั่งให้รถวิ่งไปตามจุดที่ต้องการได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยการตีเส้นบนพื้นอีกต่อไป จึงทำให้การใช้รถ AGV ในโรงงานอัจฉริยะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้นด้วย
นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ เมื่อ 5G เป็นเทคโนโลยีไร้สาย จึงไม่มีการติดตั้ง “สายเคเบิล” รกรุงรังอีกต่อไป ทำให้ความปลอดภัยของพนักงานเพิ่มขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง
คุณวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีเครือข่ายโทรคมนาคม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังของการใช้งานเครือข่าย 5G ในโรงงานดังกล่าวระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ข้อดีของการทำงานบนเครือข่าย 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมคือการรองรับอุปกรณ์ IoT ได้เป็นจำนวนมาก (ในโรงงานดังกล่าวมีการใช้งาน IoT หลายร้อยตัว รวมถึงแขนกลก็นับเป็นอุปกรณ์ IoT เช่นกัน) โดยอุปกรณ์ IoT เหล่านี้จะมีการผลิตข้อมูลขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นการทำงานบนเครือข่าย 4G จะไม่สามารถรองรับได้ดีพอ และอาจทำให้ระบบสะดุดได้ รวมถึงไม่สามารถสั่งการรถ AGV หรือหุ่นยนต์ได้อย่างแม่นยำเท่ากับการทำงานบน 5G ด้วย
เช่นเดียวกับคุณอัศนีย์ วิภาตเวทย์ หัวหน้างานฝ่ายผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีสื่อสารลูกค้าองค์กร เอไอเอส และเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ในโรงงานดังกล่าวที่เผยว่า ปัจจุบัน ยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่สนใจนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งาน เช่น การทำเหมืองแร่ เฮลท์แคร์ โลจิสติกส์ หรือหากเป็นผู้ประกอบการไทยที่สนใจใช้งานแต่ยังไม่มีโซลูชันของตัวเอง ทางเอไอเอสก็สามารถร่วมพัฒนาโซลูชันให้กับแต่ละอุตสาหกรรมได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การนำ 5G มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทยเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีโรงงานอัจฉริยะของ Midea เป็นตัวอย่างแรก ๆ ให้เราได้ศึกษา และเชื่อว่าในอนาคตจะมีกรณีศึกษาของอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรมปรากฏตัวออกมาให้เราต้องร้องว้าวกันอีกอย่างแน่นอน